Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ข้อมูลแรกที่รับคือปากต่อปาก ปชช.จี้รัฐปรับปรุงมาตรการรับเหตุ

ข้อมูลแรกที่รับคือปากต่อปาก ปชช.จี้รัฐปรับปรุงมาตรการรับเหตุ

31 มี.ค. 68
13:39 น.
แชร์

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ล่าสุด สำนักวิจัยซูเปอร์โพล โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้นำเสนอผลสำรวจเรื่องความคิดเห็นต่อเหตุแผ่นดินไหว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวด้วยตนเอง จำนวน 1,091 ราย ระหว่างวันที่ 29 – 30 มี.ค. 2568 พบว่า

 

ประชาชนตกใจเป็นอันดับแรกเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

 

เมื่อสอบถามประชาชนถึงความรู้สึกแรก เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.4 ตกใจมาก เกิดอะไรขึ้น คิดว่าตนเองไม่สบาย รู้ว่าแผ่นดินไหว คิดว่าผีหลอก เกิดเหตุร้าย ในขณะที่ร้อยละ 24.6 ตกใจแต่ไม่มาก ควบคุมสติได้ หาทางเอาตัวรอด แจ้งเตือนผู้อื่น

 

แหล่งข้อมูลแรกมาจากปากต่อปากและโซเชียลมากกว่าภาครัฐ

 

ขณะที่เมื่อถามถึงแหล่งข่าวแรก ๆ ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารแผ่นดินไหว ตอบได้มากกว่า 1 แหล่ง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 93.7 ระบุ คนในที่เกิดเหตุ คนรู้จัก ปากต่อปาก ในขณะที่ ร้อยละ 88.7 ระบุ โซเชียลมีเดีย Facebook,  X/Twitter, Line, IG ร้อยละ 65.8 ระบุ เพื่อนร่วมงาน หน่วยงาน องค์กรของตนเอง ร้อยละ 53.9 ระบุ จาก ห้างร้าน หน่วยงานในที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว และร้อยละ 14.6 ระบุ จากหน่วยงานของรัฐ จากการแถลงข่าวสด สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามลำดับ

 

ประชาชนเรียกร้องให้รัฐปรับปรุงมาตรการรับมือเหตุฉุกเฉิน

 

เมื่อถามถึง ความต้องการให้หน่วยงานรัฐปรับปรุงพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.1 ต้องการให้ เฝ้าระวัง ติดตามพื้นที่เสี่ยง สื่อสาร ไลฟ์สดจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีไลฟ์สดทันที ตอบสนองรับมือเหตุฉุกเฉิน แก้วิกฤต และฟื้นฟูเยียวยา ร้อยละ 84.9 ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจง ตรวจสอบ ความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนในทุกประเด็น และร้อยละ 77.6 ระบุ มีการให้ความรู้และฝึกซ้อมประชาชน รับมือเหตุฉุกเฉิน ในทุกมิติ ทุกสถานการณ์ ไม่ทำเฉพาะช่วงเป็นกระแสเท่านั้น

 

ผลโพลครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับปรุงการสื่อสารและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาแนวทางแจ้งเตือนที่รวดเร็ว แม่นยำ และเข้าถึงประชาชนได้ทุกช่องทาง เพื่อลดความตื่นตระหนกและป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

Advertisement

แชร์
ข้อมูลแรกที่รับคือปากต่อปาก ปชช.จี้รัฐปรับปรุงมาตรการรับเหตุ