สำรวจ 16 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย จุดกำเนิดแผ่นดินไหว สแกนคิวอาร์โค้ดเช็กได้ บ้านเรามีรอยเลื่อนพาดผ่านหรือไม่
จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 ที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการเคลื่อนตัวของ “รอยเลื่อนสะกาย” ส่งแรงสะเทือนมาถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย ประชาชนจำนวนมากเริ่มตื่นตัวในเรื่องของความปลอดภัย และการเตรียมตัวหากเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งในประเทศไทยมี 16 รอยเลื่อนที่มีพลัง เป็นจุดกำเนิดแผ่นดินไหวที่ทุกคนควรทราบ
รอยเลื่อน คือ รอยแตกในหินที่เกิดการเคลื่อนตัว ซึ่งมักจะเคลื่อนตัวจากการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลกด้วยพลังงานที่สะสมไว้ภายในโลก รอยเลื่อนที่มีพลังนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดแผ่นดินไหว การศึกษาเรียนรู้และเข้าใจถึงกระบวนการเกิดการเคลื่อนตัว หรือแนวมุดตัวระหว่างแผ่นเปลือกโลกสามารถเป็นแนวทางในการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ผลของการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกซึ่งมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา หากบริเวณรอยเลื่อนนั้นยังเคลื่อนตัว ก็มีแนวโน้มจะเกิดการระเบิดของแรงเครียดสะสม เราเรียกรอยเลื่อนนั้นว่า "รอยเลื่อนมีพลัง"
รอยเลื่อน (Fault) มักเกิดบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก และสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยแรงที่มากระทำจนแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ได้มี 3 แรงหลักๆ ได้แก่
1.รอยเลื่อนปกติ (normal fault) เป็นแรงดึง โดยดันให้แผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่ออกจากกัน
2.รอยเลื่อนย้อน (reverse fault) เป็นแรงอัด โดยดันให้แผ่นเปลือกโลกสอนแผ่นเคลื่อนที่เข้าหากัน
3.รอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) เป็นแรงเฉือน โดยดึงให้แผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่ผ่านกัน
กรมทรัพยากรธรณี เผยผลสำรวจพบรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย พบมีกลุ่มรอยเลื่อนจำนวน 16 กลุ่ม พาดผ่านพื้นที่ 23 จังหวัด 124 อำเภอ 421 ตำบล 1,520 หมู่บ้าน ได้แก่
1.กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน
กลุ่มรอยรอยเลื่อนแม่จัน เป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีลักษณะแนวการวางตัวในทิศเกือบทิศตะวันตก-ตะวันออก มีมุมเอียงเทค่อนข้างไปทางทิศเหนือ และมีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร ซึ่งพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ยาวต่อเนื่องไปจนถึง สปป.ลาว ได้แก่
📍จังหวัดเชียงใหม่ : อำเภอฝางและอำเภอแม่อาย
📍จังหวัดเชียงราย : อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอดอยหลวง และอำเภอเชียงราย
ในปัจจุบัน พบว่า ลักษณะหรือพฤติกรรมการเลื่อนตัวของรอยเลื่อแม่จัน มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบ เหลื่อมซ้ายเป็นหลัก ตามหลักฐานของธรณีสัณฐานที่ปรากฏ คือ ธารเหลื่อม ที่ปรากฏระยะเหลื่อมของลำห้วยสาขาย่อยของแม่น้ำจัน ระยะทางมากกว่า 600 เมตร และยังพบลักษณะของการเลื่อนตัวออกจากกันของสันเขาที่เรียกว่า สันเขาเหลื่อม (offset ridge) ธารหัวขาด ผารอยเลื่อน สันกั้น และผาสามเหลี่ยม
จากการประเมินลักษณะการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จัน ทำให้ทราบว่า มีการเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา สรุปดังนี้
✅ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0-4.0 จำนวน 10 ครั้ง
✅ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0-4.5 จำนวน 3 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีศูนย์เกิดนอกประเทศ แต่ส่งผลกระทบในจังหวัดภาคเหนือตอนบน และรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่มีสาเหตุมาจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จันในส่วนของพื้นที่ สปป.ลาว ทำให้อาคารหลายหลังในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหาย
2.กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง
กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง เป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีแนวการวางตัวอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และมีความยาวประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งรอยเลื่อนนี้ตัดผ่านเชิงเขาของหินภูเขาไฟชนิดหินไรโอไรต์ หินแอนดิไซต์ และหินทัฟฟ์ รวมทั้งตะกอนตะพักลำน้ำ โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ยาวต่อเนื่องไปจนถึง สปป.ลาว ได้แก่
📍อำเภอเทิง
📍อำเภอขุนตาล
📍อำเภอเชียงของ
📍อำเภอเวียงแก่น
ลักษณะธรณีสัณฐานของรอยเลื่อนกลุ่มนี้ที่บ่งบอกถึงความมีพลังประกอบด้วย ธารเหลื่อม ตะพักขั้นบันได และผาสามเหลี่ยม โดยส่วนย่อยของรอยเลื่อนนี้ที่ยาวเข้าไปใน สปป.ลาว ได้แสดงรูปแบบการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้ายตามหลักฐานการหักงอของลำแม่น้ำโขงหรือธารเหลื่อม ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณใกล้บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งรอยเลื่อนส่วนนี้มีการเลื่อนตัวมาแล้วหลายครั้ง
จากการตรวจสอบข้อมูลในอดีตจากร่องสำรวจพบว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ในพื้นที่บ้านปางค่า ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลปี พ.ศ. 2552) และยังมีข้อมูลศูนย์เกิดแผ่นดินไหวจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในกลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0-4.1 จำนวน 5 ครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาด 4.1 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ประชาชนในหลายอำเภอรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของพื้นดิน
3.กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
มีแนวการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ที่มีขนาดความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร และมีลักษณะไม่ต่อเนื่องเป็นเส้นเดียวกัน แต่มีการแบ่งเป็นส่วนๆ หลายท่อนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่
📍อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
📍อำเภอขุนยวม
📍อำเภอแม่ลาน้อย
📍อำเภอแม่สะเรียง
รอยเลื่อนกลุ่มนี้ จะพาดผ่านหินตะกอนเป็นส่วนใหญ่ประกอบด้วย หินดินดาน หินทราย และตะกอนชนิดกรวด ทราย จากการการศึกษาพบว่ากลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนมีการเลื่อนตัวในแนวดิ่งปกติ อีกทั้งมีลักษณะธรณีสัณฐานที่ปรากฏเด่นชัดมากในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงที่เป็นลักษณะทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์ แสดงถึงพื้นที่นี้มีการยกตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ทางน้ำกัดเซาะลึกลงด้านล่างมากกว่าการกัดเซาะด้านข้าง (ข้อมูลปี พ.ศ. 2549) ทั้งนี้ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หนึ่งในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นวันที่ 1 มีนาคม 2532 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 มีศูนย์เกิดในตอนเหนือของรอยเลื่อนในพื้นที่ของสหภาพเมียนมา ซึ่งประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย
4.กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา
เป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีหลายส่วนรอยเลื่อนแยกเป็นเขต มีลักษณะคล้ายอักษรตัวเอส ซึ่งแต่ละเขตรอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัวที่แตกต่างกัน โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ที่มีขนาดความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ดังนี้
📍การเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา เริ่มจากการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ในพื้นที่อำเภอพร้าว ผ่านลงมาในเขตอำเภอสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีการเลื่อนตัวปกติ บิดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่อำเภอสันกำแพง และเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนตามแนวระนาบเหลื่อมขวา
📍จากนั้นวกกลับมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ขนานตามลำน้ำแม่ทา ในพื้นที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
จากการตรวจสอบข้อมูลในอดีตจากร่องสำรวจพบว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในพื้นที่ทาปลาดุก ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว (ข้อมูลปี พ.ศ. 2551) และยังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 มีศูนย์เกิดที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 5.1 แรงสั่นสะเทือนทำให้บ้านเรือนในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่มีผนังร้าว อีกทั้งย้อนกลับไปก่อนวันที่ 21 ธันวาคม 2538 พบว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 มีศูนย์เกิดที่อำเภอพร้าวประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนทั่วจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.1 มีศูนย์เกิดที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานความเสียหาย
5.กลุ่มรอยเลื่อนเถิน
มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ตัดผ่านเชิงเขาบริเวณรอยต่อระหว่างแอ่งแพร่ และแอ่งลำปาง ที่มีความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆในพื้นที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง ได้แก่
📍อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
📍อำเภอลอง จังหวัดแพร่
📍อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
📍อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
📍อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง
📍อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
รอยเลื่อนกลุ่มนี้ แสดงลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้างและธรณีสัณฐานที่มีการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดหน้าผาชันหลายแห่ง โดยมากจะอยู่บริเวณขอบแอ่งตะกอนด้านล่างใกล้ที่ราบลุ่ม และจากการตรวจสอบข้อมูลในอดีตจากร่องสำรวจพบว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.6 ในพื้นที่บ้านปางงุ้น ตำบลแม่สรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว (ข้อมูลปี พ.ศ. 2551) ซึ่งหากนับย้อนกลับไป 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ของกลุ่มรอยเลื่อนเถิน ขนาด 3.0-5.0 จำนวนมากกว่า 20 ครั้ง ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อยมาก
6.กลุ่มรอยเลื่อนปัว
มีทิศทางการวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีมุมเอียงเทไปทิศตะวันตก จัดเป็นรอยเลื่อนปกติ ที่มีการวางตัวเป็นแนวยาวรายรอบด้านทิศตะวันออกของแอ่งปัวเป็นส่วนใหญ่ และมีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆในพื้นที่จังหวัดน่าน ยาวต่อเนื่องไปจนถึง สปป.ลาว ได้แก่
📍อำเภอทุ่งช้าง
📍อำเภอเชียงกลาง
📍อำเภอปัว
📍อำเภอสันติสุข
จากการตรวจสอบข้อมูลในอดีตจากร่องสำรวจพบว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ในพื้นที่บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว (ข้อมูลปี พ.ศ. 2554) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลศูนย์เกิดแผ่นดินไหวพบว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2478 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ในบริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นอิทธิพลของการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนปัว
7.กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์
มีแนวการวางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีมุมเอียงเทไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แก่
📍อำเภอท่าฟาก
📍อำเภอน้ำปาด
📍อำเภอทองแสนขัน
📍อำเภอพิชัย
รอยเลื่อนกลุ่มนี้ มีลักษณะการเลื่อนตัวในแนวดิ่งแบบรอยเลื่อนย้อนและเลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย อีกทั้งพบว่ากลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์อยู่ในพื้นที่แคบ เป็นแนวยาว ซึ่งมีความกว้างไม่เกิน 4 กิโลเมตร ที่พาดผ่านเข้าไปในในแอ่งตะกอนที่ถูกปิดทับด้วยชั้นหนาของตะกอนน้ำพา ที่เป็นแปลงนาข้าวในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 ได้เกิดแผ่นดินไหว 3.2 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก มีศูนย์เกิดบริเวณอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายอำเภอ รวมทั้งอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
8.กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา
เป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวเกือบทิศเหนือ-ใต้ ค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ที่พาดผ่านอำเภอต่างๆในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดลำปาง ได้แก่
📍อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
📍อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
📍อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
รอยเลื่อนกลุ่มนี้ มีร่องรอยการกัดเซาะลงแนวดิ่งลึกมากจนถึงชั้นหินดินดาน ซี่งแสดงให้เห็นว่ารอยเลื่อนยังคงมีพลังไม่หยุดนิ่งจนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.2 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 มีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้โรงพยาบาล วัด และโรงเรียนในพื้นที่อำเภอพานได้รับความเสียหายหนัก นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2539 ยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย อีกหลายครั้งเช่นกัน
9.กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว
กลุ่มรอยรอยเลื่อนแม่ลาว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
✔️ ส่วนรอยเลื่อนแม่ลาว
✔️ ส่วนรอยเลื่อนแม่กรณ์
ซึ่งมีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ที่มีความยาว 80 กิโลเมตร
รอยเลื่อนกลุ่มนี้จะพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้แก่
📍อำเภอแม่สรวย
📍อำเภอแม่ลาว
📍อำเภอเมืองเชียงราย
ล่าสุดพบว่า ผลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนของรอยเลื่อนแม่ลาว ทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบกว่า 50 ปี กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่เขตตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน วัด โรงเรียน รวมถึงโรงพยาบาล เกิดความเสียหายอย่างหนัก อีกทั้งรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของตึกสูงในกรุงเทพมหานคร โดยการตรวจวัดแผ่นดินไหวมากกว่า 100 ครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ.2558-2559 ยังได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กตรวจวัดศูนย์อีกหลายครั้งในพื้นที่อำเภอแม่ลาว และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
10.กลุ่มรอยเลื่อนเมย
เริ่มต้นปรากฏในเขตพื้นที่ของสหภาพเมียนมายาวต่อเนื่องเข้าเขตประเทศไทย ซึ่งมีการวางตัวแนวเดียวกันแต่ไม่ต่อเนื่องกับรอยเลื่อนปานหลวงและรอยเลื่อนสะกายในเขตสหภาพเมียนมา ที่มีความยาวประมาณ 260 กิโลเมตร ตัดผ่านชั้นหินแปรชนิดหินไนส์ หินปูน หินทรายสลับหินดินดาน และหินแกรนิต และมีการวางตัวตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันวันออกเฉียงใต้ โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆในพื้นที่จังหวัดตาก และจังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่
📍อำเภอท่าสองยาง บริเวณแม่น้ำเมย จังหวัดตาก
📍อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
📍อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
📍อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
📍อำเภอเมือง จังหวัดตาก
📍อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก
📍อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร
📍อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
จากการตรวจสอบข้อมูลการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนเมย พบว่า เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 ขนาด 5.6 มีศูนย์เกิดที่บ้านท่าสองยาง ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
11.กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
เป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่านด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย มีการวางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นพาดผ่านจากในพื้นที่ของสหภาพเมียนต่อเนื่องเข้ามาเขตประเทศไทย โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีความยาวประมาณ 220 กิโลเมตร ได้แก่
📍อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
📍อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอหนองปรือ และอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
📍อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
📍อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
จากการตรวจวัดด้วยเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวพบว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ได้เกิดแผ่นดินไหวมีศูนย์เกิดอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ใกล้ลำห้วยแม่พลู เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ขนาด 5.9 ซึ่งรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเกิดแผ่นดินไหวจากกลุ่มรอยเลื่อนนี้มากกว่า 100 ครั้ง
12.กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทยที่มีความสำคัญต่อประชาชนในกรุงเทพมหานครอย่างมาก ซึ่งรอยเลื่อนนี้เริ่มปรากฏขึ้นในเขตสหภาพเมียนมาเข้าสู่ตะเข็บชายแดนไทยบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ ที่มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่
📍อำเภอสังขละบุรี
📍อำเภอทองผาภูมิ
📍อำเภอศรีสวัสดิ์
📍อำเภอเมืองกาญจนบุรี
📍อำเภอด่านมะขามเตี้ย
จากการศึกษาการเลื่อนตัวในอดีตของกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์จากร่องสำรวจบริเวณบ้านทิพุเย ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550)
13.กลุ่มรอยเลื่อนระนอง
มีแนวการวางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ที่มีความยาวเฉพาะส่วนที่ปรากฏบนแผ่นดินประมาณ 300 กิโลเมตร โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่
📍อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
📍อำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมืองระนอง อำเภอละอุ่น และอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
📍อำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
📍อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอบางสะพาน อำเภอทัพสะแก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี และอ่าวไทยบริเวณทิศตะวันออกของอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จากข้อมูลสำนักสำรวจธรณีวิทยาขาของสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า รอยเลื่อนกลุ่มนี้เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 27-28 กันยายน 2549 มีขนาด 4.1-4.7 จำนวน 6 ครั้ง และในวันที่ 8 ตุลาคม 2549 มีขนาด 5.0 จำนวน 1 ครั้ง ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้มีศูนย์เกิดในอ่าวไทยด้านทิศตะวันออกของอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนในหลายท้องที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
14.กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวระนาบที่วางตัวขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนระนองแบบเหลื่อมซ้าย และเลื่อนตัวในแนวดิ่งแบบรอยเลื่อนย้อน ที่มีความยาวประมาณ 140 กิโลเมตร โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนี้
📍แนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยเริ่มปรากฏในทะเลอันดามันบริเวณทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต และยาวไปในบริเวณอ่าวพังงา ยาวต่อเนื่องขึ้นบนบกบริเวณลำคลองมะรุ่ย อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา
📍ซึ่งพาดผ่านไปถึงอำเภอพนม อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอวิภาวดี อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จากการรวบรวมข้อมูลแผ่นดินไหวพบว่า มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในปี 2551 ปี 2555 และปี 2558 ประกอบด้วย
• วันที่ 4 กันยายน 2551 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.1 มีศูนย์เกิดที่อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
• วันที่ 23 ธันวาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.1 มีศูนย์เกิดที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
• วันที่ 16 เมษายน 2555 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 มีศูนย์เกิดที่ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหายหลายหลัง อีกทั้งประชาชนทั่วทั้งเกาะภูเก็ตรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
• วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 มีศูนย์เกิดในทะเลใกล้กับเกาะยาว อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ส่งผลให้ประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่
15.กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์
มีการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ มีมุมการเอียงเทเข้าหากลางแอ่งทั้งสองด้าน มีลักษณะการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนปกติ และมีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่
📍อำเภอหล่มเก่า
📍อำเภอหล่มสัก
📍อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
จากการสำรวจข้อมูลในอดีตพบว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปี รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533 ทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.5 ในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย
16.กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง
มีทิศทางการวางตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งมีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปกติ โดยพาดผ่านอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่
📍อำเภอเวียงแหง
📍อำเภอสะเมิง
จากข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหวที่ร่องสำรวจบ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง และบ้านเวียงแหง ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พบหลักฐานแผ่นดินไหวโบราณที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 5 เหตุการณ์ เมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว 20,000 ปีที่แล้ว 18,000 ปีที่แล้ว 15,000 ปีที่แล้ว 9,000 ปีที่แล้ว และครั้งล่าสุดเกิดแผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ด้วยขนาด 6.8 อัตราการเลื่อนตัวระยะยาวของรอยเลื่อนเวียงแหง มีค่าสูงสุด 0.11 มม./ปี
Advertisement