แกร่งแค่ไหนก็มีเซ รวมนานางานยากงานหินที่ผู้ว่าฯ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เจอ ตั้งแต่เข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้คนกรุง
ถูกคาดหวังนับตั้งแต่วันลงสมัครชิงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2565 จนชนะถล่มทลายด้วยคะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 1.38 ล้านเสียง ทำลายสถิติของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เคยทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2556 ของผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการเป็นผู้ว่าฯของคนกรุงเทพ
ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการถึงล่าสุด นอกจากการทำงาน ทำงาน ทำงาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกรุง ทำภารกิจกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน หลายครั้งก็เผชิญงานหินเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
สางปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก
ปัญหาหลักที่ทำให้ชาวกรุงเทพมหานครได้รับความเดือดร้อนทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ กลายเป็นปัญหาท้าทายให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องหาแนวทางแก้ไขให้น้ำระบายเร็วที่สุด แม้ต่างจะรู้ดีกันว่าต้นตอหลักของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ นอกจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากจนระบายไม่ทัน ยังมีปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้ไขได้ เช่น ขยะล้นเมือง ท่อระบายน้ำที่ไม่เคยถูกลอกทำความสะอาด หรือแม้แต่การจัดการน้ำ ก็เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมขังระบายไม่ทัน ผู้ว่าฯ และทีมงาน ก็รีบลงพื้นที่ช่วยแก้ไขแบบฉับไวทันใจ แม้จะไม่รวดเร็วเหมือนดีดนิ้วให้น้ำระบายหมดได้ แต่ก็ถือว่าไม่ล่าช้าเหมือนที่ผ่านๆ มา พร้อมไปกับการทำปฏิบัติลอกท่อ ลอกคูคลอง เตรียมพร้อมรับหน้าฝน โดยจากแผนขุดลอกคู คลอง ปี 2568 มีจำนวน 259 คลอง ได้ดำเนินการลอกไปแล้ว 94.83 กม. คิดเป็น 36.01% ส่วนแผนลอกท่อ ความยาว 3,803.6 กม. ได้ดำเนินการลอกแล้ว 1,565.3 กม. คิดเป็น 41.15% การเตรียมพร้อมเพื่อช่วยลดปัญหาช่วงหน้าฝนให้กับคนกรุงตั้งแน่เนิ่นๆ
นานาปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาทาง Traffy fondue
หนึ่งวันเกิดพันปัญหาสำหรับคนกรุงเทพไม่เกินจริง จึงเป็นที่มาของระบบแอป Traffy fondue ที่เปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาผ่านแอป ซึ่งถือว่าตอบโจทย์คนกรุงได้ไม่ใช่น้อย และปัญหาทะยอยได้รับการแก้ไข ไม่ปล่อยทิ้งค้างสะสมอยู่ใต้พรมไปเรื่อยๆ
ใช้หนี้ BTS
เป็นมหากาพย์งานยากงานหินของผู้ว่าฯ ชัชชาติ มากที่สุดเลยก็ว่าได้ เมื่อต้องแบกรับภาระหนี้สิ้นที่ทาง กทม. ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อ ขยาย 1 และ 2 ให้กับ BTS ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสะสมกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งทาง กทม. ก็ได้เริ่มทยอยจ่ายแล้ว หลังเป็นมหากาพย์หนี้มานานหลายยุค
ทุจริตเครื่องออกกำลังกาย
อีกหนึ่งงานหินที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ข้าราชการทุจริตในยุคที่ตนเองนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ หลังเกิดการทุจริตของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ในโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายสำหรับศูนย์นันทนาการฯ และศูนย์กีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว โดยทันทีที่เป็นประเด็นและสังคมวิจารณ์ ทาง กทม. ก็ไม่รอช้า รีบสืบสวนข้อเท็จจริง และชี้แจงรายละเอียดออกสู่สังคม ว่า
1. การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงเกินจริง สูงกว่าราคาตลาด และราคาสูงกว่าที่เคยจัดซื้อมาในปีก่อน ๆ
2. ในตัวทีโออาร์ พบการปรับสเป็กให้สูงขึ้นจากเดิม เช่น เพิ่มกำลังแรงม้า , เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย , เพิ่มการรองรับน้ำหนัก , เพิ่มจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น โดยวิธีการจะมีการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 รายและใช้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง ซึ่งอาจไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นหรือเหมาะสมกับการใช้งานจริง เป็นผลทำให้การกำหนดสเป็กสูงเกินความจำเป็น ส่งผลต่อราคาที่แพงเกินควร
3. การกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เข้าเสนอราคาอย่างเท่าเทียม เช่น กำหนดให้แนบหนังสือรับรองผลงานที่เคยซื้อขายกับภาครัฐไม่น้อยกว่า 4 สัญญา นับย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี เงื่อนไขดังกล่าวเป็นการกำหนดเพิ่มเติมเกินกว่าแนวทางที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กระทรวงการคลัง กำหนดไว้ อาจมีผลทำให้ราคาจัดซื้อแพงเกินควร
4. จากการสืบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ 25 ราย เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย และเกี่ยวข้องกับขั้นตอนพิจารณางบประมาณ รวมทั้งการจัดซื้อเครื่องออกำลังกายทั้งหมด ในจำนวนนี้มี 1 รายลาออกจากราชการไปแล้ว โดยไม่มีข้อเท็จจริงที่ยืนยันชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการและพิจารณางบประมาณดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักความคุ้มค่า และราคาที่เหมาะสม
ดรามาป้ายรถเมล์ ราคาสูงเกินคุณภาพ?
เพิ่งติดตั้งไปได้ไม่นาน ก็เกิดนานาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น สำหรับศาลาที่พักผู้โดยสารฯ หรือ ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ของ กทม. ที่มุ่งมั่นเพื่อความเป็นมิตรกับคนเดินเท้า ตั้งเป้า 300 แห่งทั่วเมือง ก่อนจะเกิดนานาเสียงวิจารณ์ อาทิ คุณลักษณะไม่เหมาะสมกับราคาก่อสร้าง เก้าอี้ต่ำ-ติดกันเกินไม่รองรับกับการใช้งานโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หลังคากันฝนสาดที่ไม่น่ากันได้ สิ่งสำคัญที่ควรมีอย่างจอแสดงผลสายรถเมล์ที่จะมาถึง กลับหายไป เป็นต้น
โดยทาง กทม. ก็ได้ออกมาชี้แจงทั้งเรื่องของงบจัดสร้าง ที่รวมการรื้อของเก่า เดินไฟฟ้า รางระบายน้ำ ปูพื้นใหม่ จัดซื้อจัดจ้างตามหลักเกณฑ์และราคาต่ำลงหลัง e-bidding และการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้รอรถโดยสาธารณะและผู้ใช้งานทางเท้า ด้วยแนวคิด ศาลารอรถเมล์ใหม่สำหรับทุกคน จึงออกแบบใหม่รองรับการใช้งานของผู้พิการ มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถบังแดดบังฝนด้วยหลังคาขนาดใหญ่และแผ่นอะคริลิกใสด้านหลัง มีพื้นที่นั่งคอยเหมาะสม สวยงามกลมกลืน ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่สร้างจุดอับสายตา
และที่สำคัญคือออกแบบโดยคำนึงถึงการประหยัดพื้นที่ทางเท้า ไม่กีดขวางทางเดิน กระทบผู้ใช้งานทางเท้า การก่อสร้างแต่ละจุดจึงจำเป็นต้องรัดกุมเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและแนวหน้าร้านของเอกชน ซึ่งล้วนมีรายละเอียดและข้อจำกัดที่แตกต่างกันและต้องใส่ใจอย่างมาก
แผ่นดินไหว , สตง.ถล่ม , ตึกร้าว , งานใหญ่ค้นหาผู้ประสบภัย
งานหินครั้งล่าสุดที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องเร่งเคลียร์สถานการณ์ให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ววัน นั่นก็คือการค้นหาผู้ประสบภัยที่ยังติดค้างอยู่ใต้ซากตึก สตง. ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวในไทยเมื่อ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งถือเป็นงานยากมาก เนื่องจากยังมีผู้ประสบภัยที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกเป็นจำนวนมาก การค้นหาเต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีแผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่และหนาขวางอยู่
ขณะเดียวก็ต้องก็สร้างความไว้วางใจให้ประชาชน ไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกจากอาคารสั่นไหว เพิ่มช่องทางแจ้งจุดพบรอยร้าวใหม่ หรือเกิดความกังวลจริงๆ ให้โทรแจ้งมาที่เบอร์ 1555 และอีกทางผ่านระบบแอป Traffy fondue โดย กทม. จะส่งคนไปตรวจสอบ พร้อมกำชับให้ผู้อำนวยการเขตทุกเขตเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนแล้ว ไม่ประมาท ไม่ละเลย ส่วนตัวผู้ว่าฯชัชชาติเองหากไม่ติดภารกิจในสภากรุงเทพมหานคร ก็ลงมาอยู่หน้างานที่กำลังค้นหาผู้ประสบภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ บางครั้งตี1ตี2 ยังคงปรากฎภาพทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยซ้ำ
ล้วนแต่เป็นภารกิจหิน ทดสอบความแกร่งและการบริหารกรุงเทพในยามที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ อย่างแท้จริง
Advertisement