เมื่อวันที่ (2 เม.ย. 68) นายณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์ นายอำเภอขุนยวม พร้อมด้วย ดร.น้ำฝน คำพิลัง นักวิชาการชำนาญการกรมธรณีวิทยา และเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปสำรวจหลุมยุบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 68 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา
จากการสำรวจพบหลุมขนาดใหญ่ 1 หลุมเป็นรูปวงรีขนาดกว้าง 22 เมตร ยาว 27 เมตร และหลุมย่อยอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งหมด 6 หลุม สำหรับหลุมขนาดใหญ่ใต้หลุมมีน้ำขังไม่สามารถวัดความลึกก้นหลุมได้ โดยหลุมยุบที่เกิดขึ้นกระจายในพื้นที่นาของราษฎร บ้านแม่สุริน หมู่ 3 ต.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ในเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ซึ่งมีเจ้าของที่ดิน 3 รายที่ประสบเหตุหลุมยุบในที่นาของตนเองจำนวน 3 ราย
ดร.น้ำฝน นักวิชาการชำนาญการกรมธรณีวิทยากล่าวว่า สาเหตุดินยุบเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นหินปูน ซึ่งหินปูนมีลักษณะพิเศษสามารถละลายน้ำที่เป็นกรดอ่อนๆ ได้ ซึ่งน้ำที่เป็นกรดอ่อนๆ เมื่อไหลลงไปตามพื้นรอยแตกรอยแยกใต้ดินและไปกัดเซาะหินปูนที่อยู่ด้านล่างทำให้ข้างล่างเป็นโพรง และอาจจะมีน้ำเป็นตัวพยุงไว้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำใต้ดินซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุของแผ่นดินไหว ก็จะทำให้ระบบน้ำใต้ดินเปลี่ยนแปลงทำให้ลดระดับลง ตัวโพรงก็จะมีช่องว่าง ตะกอนที่อยู่ด้านบนก็จะทรุดตัวลงทำให้เกิดหลุมยุบอย่างที่เห็น
อย่างไรก็ตามทราบมาว่าทางอำเภอขุนยวมจะทำหนังสือร้องขอไปยังกรมธรณีวิทยา เพื่อส่งเจ้าหน้าที่นักธรณีวิทยาฟิสิกส์นำเครื่องมือที่ทันสมัยมาตรวจหาโพลงใต้ดินในพื้นที่ดังกล่าว
นายศรีมูล เปิดเผยว่า ตนเองมีที่ดินที่ติดกับหลุมยุบ ซึ่งเหตุการณ์ประหลาดดังกล่าวส่งผลให้ราษฎรในหมู่บ้านพากันหวาดกลัว เนื่องจากยังคงมีดินทรุดอย่างต่อเนื่องจนถึง วันที่ 1 เม.ย. 68 ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้วเข้าใกล้หลุม โดยตนได้เดินทางไปดูหลุมยุบพบว่าน้ำก้นหลุมยังมีการกระเพื่อมเป็นระยะ และมีรอยแตกของดินขอบหลุมขยายออกไปเรื่อยๆซึ่งตอนนี้ราษฎรเจ้าของสวนถั่วเหลืองรวมไปถึงตนไม่กล้าที่จะให้น้ำแก่ต้นพืชที่ปลูกไว้ เนื่องจากเกรงว่าน้ำที่เพิ่มลงไปจะทำให้เกิดหลุมใหญ่มากกว่าเดิมซึ่งหากไม่ได้ให้น้ำแก่ถั่วเหลือง ต้นถั่วที่ใกล้จะถึงเวลาเก็บเกี่ยวในปลายเดือนนี้ก็ต้องตายลงส่งผลกระทบต่อเกษตรโดยตรง
โดยสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 แนะนำ ข้อปฏิบัติ ดังนี้
1.ล้อมรั้วรอบบริเวณ ห้ามคนหรือสัตว์เลี้ยงเข้าใกล้ และปิดป้ายแจ้งเตือน
2.เฝ้าระวัง และติดตามการทรุดตัวของพื้นดิน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีรอยแตกปรากฎอยู่
3.งดใส่ปุ๋ย พ่นยาในพื้นที่จนกว่าจะมีการถมกลบหลุมยุบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน
4.ทำการสำรวจธรณีวิทยาใต้ผิวดิน โดยวิธีธรณีฟิสิกส์ ซึ่งผลที่ได้จะนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางลดผลกระทบต่อไป
5.ชี้แจงสาเหตุและแนวทางป้องกันแก่หน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
Advertisement