สภาพของลูกเต่าน้ำจืดนอนตายโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกก บริเวณเชิงสะพานแม่ฟ้าหลวง บ้านน้ำลัด ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จุดที่ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) หรือ สคพ.1 มีจัดเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินไปส่งตรวจ พบสารหนูมีปริมาณ 0.012 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นสิ่งทำให้ชาวบ้านในชุมชนริมแม่น้ำกกกังวลว่าสัตว์น้ำที่ตายอาจมาจากสารหนูหรือโลหะหนักที่ปนเปื้อนเกินมาตรฐานในแม่น้ำกกหรือไม่ ทำให้มีการงดกิจกรรมทางน้ำในแม่น้ำกกทุกรูปแบบ
นายอภิชิต ปันวิชัย อายุ 51ปี ชาวบ้านชุมชนน้ำลัด กล่าวว่า ปกติชาวบ้านจะมีวิถีเชื่อมโยงกับแม่น้ำกมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่การน้ำในการอุปโภคบริโภค ทำสวน ตลอดจนทำมาหากินในแม่น้ำโดยเฉพาะการทำประมงพื้นบ้านมาตลอด น้ำประปาที่ใช้ก็ยังนำน้ำจากแม่น้ำกกไปผลิต พอเกิดปัญหาน้ำขุ่นแดงและมีการปนเปื้อนของสารหนูและโลหะหนัก ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวกันมากไม่กล้าที่จะลงน้ำ การหาปลาเพื่อมาประทังชีวิตหรือสร้างรายได้ต้องหยุดหมด ไม่อยากสัมผัสน้ำเพราะเกรงอันตราย เพราะแม้กระทั่งสัตว์น้ำก็ยังเริมทยอยตายไม่ทราบสาเหตุ แต่ชาวบ้านก็เชื่อว่าน่าจะมาจากน้ำที่มีขุ่นและมีสารปนเปื้อนเหล่านี้
จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเร่งประสานงานกับประเทสเพื่อบ้านในการแก้ไขปัญหาการทำเหมืองต่างๆไม่ให้มีไหลลงมาแม่น้ำกก ส่วนภาครัฐในพื้นที่ก็เร่งหาแนวทางไม่ให้ชาวบ้านได้รับอันตรายและแก้ไขสภาพน้ำกกให้พื้นคืนกลับมาโดยเร็ว เพราะหากปล่อยระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคตได้
ล่าสุดทาง นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการ จ.เชีงราย ก็ได้ขอให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ โดยให้ดำเนินการไปตลอดลำน้ำตั้งแต่รอยต่อ จ.เชียงราย กับ จ.เชียงใหม่ ผ่าน อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.ดอยหลวง อ.แม่จัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน
นอกจากนี้ได้สั่งการและขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุข การประปาส่วนภูมิภาค ศูนย์วิทยาศาสตรการแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ได้สำรวจการใช้น้ำกกตลอดลำน้ำในกิจกรรมต่างๆ เช่น ประปา เกษตร อุตสาหกรรม หรือเล่นเพื่อการท่องเที่ยว ฯลฯ โดยให้สรุปผลภายในวันพุธที่ 9 เม.ย.นี้ เพื่อจะได้นำข้อมูลอย่างละเอียดมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) แจ้งว่าควรตรวจเดือนละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทาง จ.เชียงราย และสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย ได้มีประกาศเตือนไม่ให้สัมผัสหรือดื่มกินน้ำจากแม่น้ำกกโดยตรงและหากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่น อาเจียน ฯลฯ ให้รีบพบแพทย์ ส่วนกรณีระบบประปานั้นถือว่าได้มาตรฐานสามารถบริโภคได้ตามปกติ
Advertisement