ในยุคหนึ่ง “การปลอมหนังสือ” อาจถูกจำกัดอยู่แค่การถ่ายเอกสารหรือซีร็อกซ์คุณภาพต่ำ เหมือนกับการทำสำเนาวิทยานิพนธ์ แต่ในวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ “หนังสือปลอม” แทบจะแยกไม่ออกจากต้นฉบับจริง ตั้งแต่เนื้อในจนถึงหน้าปกหนังสือ
คุณองอาจ จิระอร ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนเบื้องหลังของอุตสาหกรรมเถื่อน “หนังสือปลอม” ที่กำลังคุกคามวงการหนังสืออย่างหนักในตอนนี้
เทคโนโลยีกับการทำ “หนังสือปลอม”
การปลอมหนังสือในปัจจุบันสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ระดับไฟล์ โดยบางกรณีมีการดึงไฟล์จากอีบุ๊กโดยตรง ขณะที่บางเล่มไม่ได้มาจากอีบุ๊ก แต่กลับมีคุณภาพใกล้เคียงต้นฉบับ โดยการใช้เครื่องสแกนความละเอียดสูงสามารถจับภาพหนังสือที่มีรอยโค้ง หรือแม้กระทั่งความหนาแน่นของกระดาษ แล้วแปลงให้กลายเป็นไฟล์พร้อมพิมพ์
จากไฟล์สแกนเหล่านี้ สามารถนำไปสร้างแพลตฟอร์มการพิมพ์ (เพลต) ได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งกระบวนการทำฟิล์มแบบเดิมอีกต่อไป แล้วนำไปพิมพ์จำนวนมากผ่านระบบแท่นพิมพ์ หรือถ้าปริมาณไม่มาก ก็สามารถใช้เครื่องดิจิทัลปรินต์คุณภาพสูงแทนได้
แม้เทคโนโลยีการพิมพ์จะก้าวหน้า แต่สิ่งที่ยากที่สุดในกระบวนการปลอมคือ “ปกหนังสือ” เนื่องจากต้องมีการเลือกใช้กระดาษเฉพาะการเคลือบสปอตยูวี หรือใช้สีพิเศษ ซึ่งต้องมีความใกล้เคียงกับต้นฉบับสูงมาก การหาแหล่งกระดาษ การสั่งสี และการพิมพ์พิเศษล้วนต้องใช้ความรู้และคอนเน็กชันในระดับอุตสาหกรรม
เปิดขั้นตอน “การปลอมหนังสือ”
จัดหาหนังสือ – ใช้การสแกนหนังสือจริง หรือดึงจากไฟล์ดิจิทัล เช่น อีบุ๊ก
แปลงเป็นไฟล์พิมพ์ - ใช้เทคโนโลยี AI หรือซอฟต์แวร์อื่นๆ ช่วยจัดหน้า สร้างไฟล์พิมพ์
พิมพ์เนื้อใน - หากพิมพ์มากจะใช้แท่นแพลตซึ่งคุ้มกว่า ส่วนพิมพ์น้อยใช้ดิจิทัลปรินต์
ผลิตปก - ใช้กระดาษเหมือนต้นฉบับ ถ้าปกมีสีพิเศษ ใส่สีพิเศษ โดยทำให้ปกสมจริงที่สุด
เข้าเล่มและตัดเล่ม - ใช้เครื่องเฉพาะ เช่น แท่นใส่กาว เครื่องตัดคุณภาพสูง
จัดเก็บและขนส่ง – หนังสือจำนวนมากต้องใช้พื้นที่เก็บ ต้องมีพื้นที่จัดเก็บแบบโรงงาน
กระจายสู่ตลาด - ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ร้านหนังสือต่างๆ โดยผ่านเซลล์ที่รู้จักตลาด
เขาไม่ต้องอ่าน แค่ปลอมให้เหมือน เบื้องหลังหนังสือปลอม
คุณองอาจชี้ให้เห็นว่า เครือข่ายหนังสือปลอมไม่ได้มีแค่ต้นน้ำและปลายน้ำ แต่มีการบริหารคลัง ช่องทางการขาย และแม้แต่การตลาดที่รู้ว่าเล่มไหน “ควรปลอม” โดยศึกษาจากรีวิว การจัดอันดับ หรือเพจแฟนคลับหนังสือ
การปลอมหนังสือมันต้องลงทุน ต้องมีเครื่องมือ ซึ่งแต่ละชิ้นราคาไม่ถูก ไม่ใช่ว่าใครจะมาปลอมไม่ได้ ต้องใช้พื้นที่ ต้องมีสต็อกกระดาษ มีห้องสำหรับกระบวนการผลิตหนังสือ ต้องมีทุกอย่างครบวงจร มีทั้งทรัพยากรในด้านของเทคโนโลยี เครื่องมือ วัตถุดิบ และสี ทั้งหมดนี้ล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น
คนที่คิดจะทำตรงนี้ คือ คนเก่ง ฉลาด เราต้องยอมรับ เขามองในจุดที่ไม่มีใครมองว่าต้องปลอมหนังสือ และประเทศเราที่ถูกปลอมไม่ใช่ครั้งแรก สิ่งที่ปลอมและได้กำไรมากที่สุดจะต้องเป็นหนังสือภาษาอังกฤษและมันก็มีการกระจายไปในอาเซียน
ซึ่งอาจจะเป็นต้นกำเนิด การทำหนังสือปลอม เมื่อพิมพ์ขายไปเรื่อยๆ มันขายได้และขายดี เมื่อมีช่องทาง มีความเชี่ยวชาญ เลยมาดูว่าในประเทศไทยว่ามีมูลค่าสิ่งพิมพ์เท่าไหร่ โดยดูจากงานหนังสือเมื่อมีคนจำนวนมากขนาดนี้ การขายหนังสือปลอมมันจึงมีความเป็นไปได้
เพราะว่าเขาเคยทำ เขามีอุปกรณ์อยู่แล้วเคยทำในภาษาอื่น เขาไม่ต้องมาเริ่ม ซื้อเครื่อง ซื้อแท่นใหม่ เพื่อพิมพ์ภาษาไทย เขาก็หาหนังสือภาษาไทยที่ขายดี มาเข้ากระบวนการผลิต คนที่ทำต้องไม่ใช่ทำเป็นครั้งแรก เขาเชื่อว่าทำแล้วคุ้ม โดยเฉพาะไทยคุ้มแน่ๆ
“เขาไม่จำเป็นต้องอ่านออกด้วยซ้ำไป แค่ตรวจว่าหน้ามันตรงไหม เพราะกระบวนการผลิตผ่านเทคโนโลยีมันเสร็จสมบูรณ์แล้ว” คุณองอาจ กล่าว
โดยเราสามารถดูได้จากอัตราการบริโภคสิ่งพิมพ์ เพราะการปลอมกันขนาดนี้ ต้องหันกลับมามองเองว่า ที่พูดกันว่าหนังสือที่จะอยู่ไม่รอด ขายไม่ได้ แล้วเขาจะมาปลอมหนังสือทำไม แสดงว่าคนทำเขาต้องมองว่ามันทำได้
ใครคือผู้ลงมือ และเขาอยู่ที่ไหน?
คำถามที่ว่า “คนเหล่านี้เป็นใครและอยู่ที่ไหน” คุณองอาจตั้งข้อสังเกตว่า หากต้องการปลอมหนังสือได้จริง พวกเขาต้องมีความพร้อมครบ ทั้งเทคโนโลยี ทุนทรัพย์ ความรู้ และความชำนาญระดับอุตสาหกรรม ต้องมีโรงพิมพ์และมีประสบการณ์ในวงการนี้สูง
การปลอมหนังสือมันต้องใช้เทคโนโลยี ใช้เครื่องมือต่างๆ ใครที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำสิ่งนี้ขึ้นมา เพราะไม่ใช่แค่ทำอย่างเดียว แต่เขาฉลาดที่จะเลือกทำ เลือกเล่มหนังสือทำ ไม่ใช่ทำมั่ว เขาจะต้องมีการตลาด ที่ดีและเก่งมากๆ ที่รู้เรื่องของวงการหนังสือไทยเป็นอย่างดี
เมื่อมีการตลาดในการที่จะเลือกของ ต่อมาเขาต้องมีช่องทางในการจัดจำหน่ายหนังสือของเขา โดยคนทำต้องมีความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่ว่าปลอมมาแล้ว ไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน เขาจะต้องรู้จักวงจรของหนังสือว่ามันไปยังไง ต้องมีทุนทรัพย์ มีพื้นที่จัดเก็บ มีแหล่งหาวัตถุดิบ
“พอมีครบถ้วนแล้ว สิ่งเหล่านี้มันควรจะอยู่ที่ไหน นี่คือคำถามว่า มันควรอยู่ที่ไหน ถ้าเก่งขนาดนี้” คุณองอาจ กล่าว
ถ้าสมมติว่าเป็นที่ต่างประเทศ อาจเป็นที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้ ที่ทำทุกอย่างครบแล้ว การส่งหนังสือเข้ามามันไม่ยาก ถ้าจะปลอมอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนต้องมีคนของเขาที่จะต้องเข้ามาดูแล มันไม่ใช่งานบ้าน ๆ มันคืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้ประสบการณ์ ใช้องค์ความรู้
เขารู้ว่าเขาคุ้ม เพราะอย่างไรก็ตามเขามีผู้บริโภคซื้อ ผู้ผลิตต้องคิดรอบคอบแล้ว “คนที่ปลอมหนังสือ ไม่ใช่โจรวิ่งราว แต่คือคนที่มีความรู้ และรู้จักวงจรหนังสืออย่างดี” – คุณองอาจ กล่าว
สิ่งที่น่าสนใจคือ เราควรถามว่า พวกเขาบริหารคลังอย่างไร? ถ้ามองในมุมของการปลอมแปลง อย่าเพิ่งโกรธ ลองมองด้วยความเคารพ เราจะได้เรียนรู้จากเขามากมาย แม้ว่าสิ่งที่เขาทำจะผิด แต่เราควรเข้าใจว่า อะไรทำให้เขาคิดและตัดสินใจเช่นนั้นได้
“เพราะไม่ใช่คนโง่ที่ทำได้ และไม่ใช่คนดีที่จะเลือกทำ ต้องเป็นคนฉลาดที่เข้าใจโลกของทุน มีความรู้ และเชื่อเถอะ พวกเขาอ่านหนังสือมากพอ ๆ กับเรา หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ” - องอาจ จิระอร
เราไม่รู้ว่าการทำหนังสือปลอม อยู่ที่ไหน อาจจะไม่อยู่ที่บ้านเรา แต่มันต้องมีคนบ้านเราร่วมมือ ที่คอยแนะนำว่า หนังสือเล่มนี้ดี เล่มนั้นได้ ต้องมีคนที่คัดสรรหนังสือ และคนที่ทำแบบนี้ได้ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องหนังสือ
เราไม่รู้และเราไม่กล้าที่จะไปใส่ร้ายใคร อาจจะเป็นคนที่รักการอ่านปกติ หรือคนที่ค้าขายหนังสืออยู่แล้ว แต่มันต้องมีคนในบ้านเราแน่ๆ ที่แนะนำหนังสือให้ เพราะตบมือข้างเดียวไม่ดังอยู่แล้ว
จะจัดการ “หนังสือปลอม” ต้องเข้าใจทั้งระบบ
คุณองอาจเสนอว่า วิธีรับมือเบื้องต้นคือการควบคุมช่องทางออนไลน์ให้เข้มงวดมากขึ้น ถ้ามองในแง่ร้าย ผลกระทบของเรื่องนี้คือ เราอาจจัดการกับต้นตอได้ยาก โดยเฉพาะถ้าต้นทางไม่ได้อยู่ในประเทศเรา สิ่งที่ทำได้ คือการพยายามดูแลและควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายและการสั่งซื้อให้ดีที่สุด
ร้านหนังสือหลัก ๆ เรารู้จักกันดี อาจไม่มีปัญหา แต่ในกรณีของร้านแผงลอย ร้านขายหนังสือมือสอง หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ขายหนังสือตามเพจออนไลน์ พวกเขาเองก็ไม่รู้หรอกว่า หนังสือที่ซื้อมานั้นมีของปลอมปะปนอยู่หรือเปล่า
การต่อสู้กับหนังสือปลอมไม่ใช่แค่การล่าตัวผู้ผลิต แต่คือการเข้าใจระบบของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง เพราะเบื้องหลังคนทำคือ “คนที่ฉลาด อ่านเยอะ และเข้าใจธุรกิจนี้ดี”
Advertisement