บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) จับมือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัด "International Mega Fair 2024: เปิดเส้นทางสู่โอกาสทางธุรกิจในกัมพูชาและซาอุดีอาระเบีย"
บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้สร้างสรรค์ธุรกิจเทรดแฟร์และเอ็กซ์ซิบิชั่นมืออาชีพในระดับนานาชาติ ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตอกย้ำความสำเร็จ จัดเต็ม 4 งานยักษ์ใหญ่ในปี 2567 ภายใต้ชื่อ International Mega Fair 2024 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ปักธงบุก 2 ตลาดที่มีศักยภาพในภูมิภาคอาเซียนและตะวันออกกลาง เสริมแกร่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศ สอดรับปัจจัยบวกที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถือเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ขยายโอกาสทางการค้า เสริมศักยภาพการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ และ ความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาชายแดน และ การท่องเที่ยว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาหอการค้าฯ ร่วมกับหอการค้ากัมพูชา จัดงาน "Cambodia-Thailand Business Forum 2024" เนื่องในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ และสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนไทยและกัมพูชา ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 รวมไปถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าของทั้งสองประเทศ การผลักดันการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามแดน ความร่วมมือทางด้านแรงงาน ความมั่นคงทางพลังงาน
อีกทั้ง สภาหอการค้าฯ ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ และเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชาในสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพ
สำหรับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สภาหอการค้าฯ ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนพันธกิจและความร่วมมือทางการค้าระหว่างสองประเทศ ผ่านเวทีสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการสร้างโอกาสบุกตลาดศักยภาพสูงอย่างซาอุฯ รวมถึงผลักดันการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการค้าและการท่องเที่ยว โดยภาคเอกชนสองประเทศเห็นพ้องที่จะกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน โดยในด้านการส่งเสริมการค้า มีการกำหนดสาขาธุรกิจเป้าหมายที่มีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ วัสดุก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้อง อาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยวและบริการ พลังงาน เพาะปลูกต้นไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องครัวและอุปกรณ์ ปุ๋ย ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าหมายขยายมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศในปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นไปถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตขึ้น 20% และตั้งเป้าเชิญชวนนักท่องเที่ยวซาอุฯ เดินทางเข้ามาไทยเพิ่มเป็น 4 แสนราย ในปี 2567 ซึ่งนักท่องเที่ยวซาอุฯ ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับไทยได้จำนวนมาก
สภาหอการค้าฯ เชื่อว่างานแสดงสินค้า International Mega Fair 2024 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจะเป็นเวทีที่จะช่วยยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่าง ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย การเจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลไทย ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคอาเซียนและตะวันออกกลาง” นายสนั่น กล่าว
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เผยว่า “การจัดงานแสดงสินค้าและบริการของไทยระดับอาเซียนในปีนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการของประเทศไทย ซึ่งงานมหกรรม International Mega Fair 2024 เราได้รับการสนับสนุนการจัดงานอย่างต่อเนื่องจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ด้านการส่งออกและขยายตลาด ขับเคลื่อน SMEs ไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ในปีที่ผ่านมา อินเด็กซ์ฯ สร้างผลงานให้ผู้ประกอบการ คู่ค้า นักลงทุน ได้เห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เช่น ความสำเร็จของการจัดงาน Thailand Mega Fair 2023 เมื่อวันที่ 13-16 ธันวาคม 2567 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย บริษัท ปาปีโล เรียล ไทยแลนด์ ผู้ผลิตรองเท้าแตะเพื่อสุขภาพ ได้รับยอดสั่งซื้อมากกว่า 150 ล้านบาท และ น้ำมันกฤษณา สินค้าจากประเทศไทยที่มีความต้องการซื้อสูงในตะวันออกกลาง รวมถึงสินค้าอื่นๆภายในงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย รวมทั้งสิ้นกว่า 1,570 ล้านบาท ถือเป็นการยืนยันความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ภูมิภาคนี้กำลังเติบโตอย่างมหาศาลในด้านธุรกิจ และความต้องการซื้อสินค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับงาน International Mega Fair ในปีนี้ เราได้รวบรวมการแสดงสินค้าทั้งสิ้น จำนวน 4 งาน ประกอบด้วย Cambodia Architect & Dècor 2024, Cambodia Foodplus Expo 2024, และ Cambodia Health & Beauty Expo 2024 ซึ่งจะจัดในขึ้น วันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการเกาะเพชร (Diamond Island Convention and Exhibition Center) กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และ งาน International Mega Fair 2024 - Riyadh ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติริยาด (Riyadh International Convention & Exhibition Center) กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่ามูลค่าความสำเร็จจากการจัด International Mega Fair 2024 จะสูงถึง 2,000 ล้านบาท
บริษัทฯ เล็งเห็นการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ การเติบโตของ GDP ราชอาณาจักรกัมพูชามีทิศทางไปในเชิงบวกต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 5.1% และปี 2567 อยู่ที่ 6.3% อีกทั้งแผนโครงการขนาดใหญ่สำหรับปี 2567 อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง Techo Takhmao International Airport ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 และท่าอากาศยานที่เพิ่งเปิดใหม่ในจังหวัดเสียมราฐ Siem Reap Angkor International Airport เป็นต้น นอกจากนั้น สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุว่า ในปี 2566 ได้อนุมัติโครงการใหม่ 247 โครงการ และมีโครงการขยายการผลิต 21 โครงการ โดย 71 โครงการลงทุนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีเงินลงทุนทั้งหมดเกือบ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่ง นับว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก
ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พบว่า GDP ปรับตัวสูงขึ้น จาก 0.03% ในปี 2566 เป็น 4.4% ในปี 2567 เป็นอันดับที่ 17 ของโลก หรือคิดเป็น จำนวน 2.246 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้จำนวนประชากร 570 ล้านคนในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งในอนาคต ซาอุดีอาระเบียมีโอกาสได้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมอันเป็นวาระสำคัญระดับนานาชาติมากมาย อาทิเช่น การเป็นเจ้าภาพ World Expo 2030 และ FIFA World Cup 2034 เป็นต้น ส่งผลให้กรุงริยาดมีการวางแผนโครงการและนโยบายเพื่อพัฒนาครอบคลุมทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีเป้าหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 จำนวนกว่า 4,700 โครงการ มูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท รวมถึงการเพิ่มจำนวนของธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้า และที่พักอาศัย เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในปี 2573” นายเกรียงไกร กล่าว
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า “ในปี 2567 สสว. ตั้งเป้าหมายดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ผ่านแพลตฟอร์มระบบการให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (BDS)(https://bds.sme.go.th) ภายใต้มาตรการ SME ปัง...ตังได้คืน ปีที่ 3 โดยปัจจุบัน BDS มีผู้ให้บริการทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 100 หน่วยงาน และได้ขึ้นทะเบียนบริการในด้านมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ แล้วกว่า 400 บริการ และมีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ 27,000 ราย/User มีผู้ประกอบการ SME ซึ่งได้ยืนยันตัวตนและเตรียมยื่นการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนแล้วกว่า 4,500 ราย และมีผู้ประกอบการที่ได้เข้ารับบริการเสร็จสิ้นแล้วกว่า 1,800 ราย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 2,000 ล้านบาท
ซึ่งนอกจาก BDS จะเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการในการพัฒนาธุรกิจจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศแล้ว สสว. ยังให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้การพัฒนาธุรกิจแบบให้เปล่า (Grant) และเป็นแบบร่วมจ่าย (Co-payment) รายละ 500,000 บาท โดยในแต่ละปี สสว. จะให้การอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ต่อปี ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และใช้สิทธิ์ได้ปีละ 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง (M) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี ภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 50% หรือไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ประกอบการขนาดย่อม (S) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% หรือไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% ไม่เกิน 50,000 บาท
สสว. เชื่อมั่นว่าการจัดงาน International Mega Fair ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จะเป็นเวทีสำคัญที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ได้พัฒนาช่องทางการจำหน่าย และพัฒนาสู่ตลาดต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการสู่สากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจากผลงานในปีที่ผ่านมา มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน ได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดไปที่ซาอุฯ โดยภายในระยะเวลาการรับสมัครเพียง 2 เดือน มีผู้ประกอบการมากกว่า 30 ราย ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมมาตรการ BDS สร้างมูลค่าการค้ากว่า 270 ล้านบาท
นอกจากนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สสว. จึงจะปรับปรุงระบบ BDS เพื่อลดขั้นตอนการใช้บริการ อนุมัติได้รวดเร็วขึ้น ปรับการให้บริการโดยการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูล SME One ID ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดกลุ่มผู้ประกอบการได้รวดเร็วขึ้น และลดปริมาณเอกสารแนบที่ใช้ในการสมัครให้น้อยลง” นายวีระพงศ์ กล่าว
หากผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าสุขภาพและการบริการทางการแพทย์ การเกษตรอัจฉริยะและนวัตกรรม การท่องเที่ยวและบริการ การก่อสร้างและตกแต่ง สินค้าไลฟ์สไตล์ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้ากลุ่มเครื่องหอมและไม้กฤษณา อุตสาหกรรมไมซ์ สนใจจองบูธ สามารถติดต่อ คุณรัชฎาภรณ์ คงทน เบอร์มือถือ +66 (0) 8 9564 2610 อีเมล rachadaporn@icvexhibition.com www.internationalmegafair.com
Advertisement