Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ พบสถิติคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 227 คน

วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ พบสถิติคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 227 คน

4 ก.พ. 68
10:28 น.
|
31
แชร์

วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2568 ปีนี้ภายใต้ธีม United by Unique หรือ “ร่วมกันในเป้าหมาย แต่แตกต่างในความต้องการ” สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 227 คน

วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2568 ภายใต้ธีม United by Unique หรือ “ร่วมกันในเป้าหมาย แต่แตกต่างในความต้องการ” สะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า แม้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งจะมีความต้องการและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กลับมีเป้าหมายร่วมกันในการลดภาระจากมะเร็ง ปรับปรุงผลลัพธ์การรักษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดี วันมะเร็งโลกในปีนี้ให้ความสำคัญกับผู้คนในชุมชนก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ป่วย

สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 77 ภายใน 25 ปีข้างหน้า ในขณะที่ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน เฉลี่ยคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 227 คน โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว

มลพิษทางอากาศ มะเร็งปอดคร่าชีวิตคนไทยวันละ 40 คน

สำหรับประเทศไทยที่ปัจจุบันคนในหลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะมะเร็งปอดกำลังคร่าชีวิตคนไทยในอัตราที่น่าตกใจถึงวันละ 40 ราย สูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 48 คน ส่วนใหญ่มาพบแพทย์ในระยะลุกลาม เนื่องจากอาการเริ่มต้นไม่ชัดเจน แม้ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสพบมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบ 10 เท่าแต่มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ตรวจคัดกรองช่วยคนไทยห่างไกลโรคมะเร็ง

นายแพทย์ ยศวัจน์ รุ่งโรจน์วัฒนา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า “โรคมะเร็งปอดสามารถเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ การตรวจสุขภาพเป็นประจำและการคัดกรองมะเร็งปอด จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีช่วยให้การตรวจคัดกรองมีความแม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ Low-dose CT Scan ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสในการรักษา นอกจากนี้ ความก้าวหน้าด้าน Targeted Therapy (การรักษาแบบมุ่งเป้า) และ Immunotherapy (ภูมิคุ้มกันบำบัด) ยังช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

โรคมะเร็งนอกจากทำลายสุขภาพของผู้ป่วยแล้ว โรคมะเร็งยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดของผู้ป่วยด้วย ดังนั้น การรักษามะเร็งในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่การรักษาโรค แต่ยังหมายถึงการที่คนใกล้ชิดมีความรู้สามารถช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาวได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองด้วย Low Dose CT Scan ถือเป็นความหวังในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 20 เนื่องจากสามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และมีโอกาสรักษาหายขาดสูงกว่ามาก

เสียงสะท้อนจากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด

จากประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด คุณนุช นางธิยารัตน์ ธนาจิรวรพัฒน์ กล่าวว่า “ดิฉันอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีใครสูบบุหรี่เลย ก่อนตรวจเจอโรคมะเร็งปอด ด้วยวิชาชีพพยาบาลเป็นคนที่ดูแลคนอื่น ไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง มีความเครียดจากการทำงาน และพักผ่อนไม่เป็นเวลา การตรวจเจอมะเร็งทำให้กลับมาดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเอง คิดบวก และปล่อยวางมากขึ้น หันกลับมาดูแลเรื่องอาหารการกิน และพักผ่อนอย่างเพียงพอ อยากฝากถึงทุกคนว่า ตอนนี้พวกเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เรามีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับปอดมากขึ้น ดังนั้น ถ้าพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทันที

สิ่งสำคัญที่อยากให้ประเทศไทยมีคือ ระบบคัดกรองคนไข้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด เช่น คนอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด หรือมีอาการไอ น้ำหนักลด อยากให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสได้ตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากตรวจพบโรคระยะแรกๆ ค่ารักษาจะลดลงมาก นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์และยาในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นด้วย”

ส่วนคุณนก ศุภาทร กัลยาณสุต ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย และเป็นประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งปอด ของ TCS และอยู่ร่วมกับโรคมะเร็งปอดในฐานะผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะ 4 ชนิด Non-small cell ปัจจุบันในวัย 56 ปีกำลังอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยามุ่งเป้า หลังจากมะเร็งปอดกลับมาลุกลามอีกครั้ง

นางศุภาทร เล่าว่า “ดิฉันเป็นคนที่ดูแลสุขภาพตัวเองดีมาตลอด ออกกำลังกายทุกวัน และตรวจสุขภาพประจำปีตามปกติ ดิฉันประเมินว่า ฝุ่นในอากาศอาจมีส่วนทำให้เป็นมะเร็ง เพราะดิฉันออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำ แม้ตอนนั้นยังไม่มีใครพูดถึง PM 2.5 ก็ตาม แต่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทย ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ทุกคนสวมหน้ากากป้องกัน เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นจิ๋ว นอกจากนี้ อยากส่งเสริมให้ทุกคนตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งก็อยากแนะนำว่า หากยังมีวิธีรักษา ก็ควรจะรักษา เพราะตอนนี้มียาที่มีประสิทธิภาพดี ควรทานอาหารให้หลากหลาย ออกกำลังกาย และที่สำคัญ คือ อย่าหมดกำลังใจ”

ภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ของ โรช ไทยแลนด์

โรช บริษัทด้านไบโอเทคชั้นนำของโลก เผยว่าบริษัทได้มุ่งเน้นการดูแลและเชื่อมโยงผู้ป่วยกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพและชุมชนต่างๆ ตั้งแต่การตรวจและการรักษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกในวงกว้าง ผนึกกำลังกับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ชมรมผู้ป่วย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สู่เป้าหมายเดียวกันที่จะสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและการรักษาโรคมะเร็งให้คนไทยห่างไกลจากโรคมะเร็ง โดยคาดว่าจะช่วยผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นกว่า 100,000 รายในปี 2568

ขณะเดียวกัน โรช ไทยแลนด์ ยังส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อให้คนไทยกลุ่มวัยทำงานให้ดูแลสุขภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น โดยมี โครงการ Cancer Care Connect: ตรวจเร็ว รักษาไว ห่างไกลมะเร็ง ที่ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลและความรู้ก่อนต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง ซึ่งภารกิจของโรช สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ United by Unique หรือ “ร่วมกันในเป้าหมาย แต่แตกต่างในความต้องการ” ของวันมะเร็งโลกในปีนี้

นายแมทธิว โคทส์ ผู้จัดการทั่วไป โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า “โรช มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมการรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกมาตลอด 129 ปี โดยในทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ให้การรักษาผู้ป่วยชาวไทยไปแล้วกว่า 3 ล้านคน และมียาถึง 13 รายการในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย พร้อมกันนี้ เรายังได้ดำเนินการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการกว่า 1,300 คน และมีเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 600 ล้านบาท ที่สำคัญเรามีแผนเพิ่มการลงทุนด้านพัฒนางานพัฒนาและวิจัย (R&D) ร้อยละ 5 ในทุก ๆ ปี เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น"

โรชเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งมีความก้าวหน้า และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศไทย

Advertisement

แชร์
วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ พบสถิติคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 227 คน