Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
วธ.ประเดิมงาน 1 ครอบครัว 1 Soft Power รุกเปิดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” 18 - 22 เม.ย.นี้

วธ.ประเดิมงาน 1 ครอบครัว 1 Soft Power รุกเปิดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” 18 - 22 เม.ย.นี้

18 เม.ย. 68
17:32 น.
แชร์

วธ.ประเดิมงาน 1 ครอบครัว 1 Soft Power รุกเปิดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” 18 - 22 เม.ย.นี้ “สุดาวรรณ” นำทีม 200 ผู้ประกอบการโชว์ผลิตภัณฑ์ชุมชน - ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมคุณภาพเยี่ยม ยกระดับ ๔ อุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร” จัดเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจ - ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในและสู่ต่างประเทศดัน “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ โดยมีนางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางรักชนก โคจรานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร. สุรพงษ์ สิริพงศ์ดีคณบดีวิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม และดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ชั้น 5 เวทีกลาง พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นายประสพ เรียงเงิน กล่าวว่า ตามนโยบายนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ตามกรอบแนวคิดหลักคือขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมโดยส่งเสริมศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของ “คน” มาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในการพัฒนาทักษะและปลดล็อกศักยภาพคนไทยคู่ขนานไปกับการเพิ่มการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมของผู้คน ผ่านโครงการส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูงและตั้งเป้าหมายว่าผู้ประกอบการชุมชนได้รับการพัฒนาส่งเสริมทักษะด้าน Soft Power เพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ นำทักษะไปใช้สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ที่สำคัญนำมิติด้านวัฒนธรรมอัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการของไทย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลก

“วธ. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน ๑๑ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง โดยจัดฝึกอบรม Upskil lและ Reskill จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Soft Power ใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาด และส่งเสริมการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ 5 ภูมิภาคทั้งสิ้น 2,400 คน โดยมีผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่น 200 ผลงาน/คน มาจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เอกอรรถหัตถศิลป์ เช่น ของใช้ งานฝีมือ งานจักสานของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และอาหาร รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับครอบครัว ซึ่งครอบคลุมแรงงานสร้างสรรค์กว่า 2,400 ครัวเรือนใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จาก 20 จังหวัด เป็นที่น่ายินดีอย่างมาก เพราะได้เกิดแรงงานภาคศิลปวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น 2,400 คน และเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากการส่งเสริม Soft Power อย่างน้อย 1 คน นอกจากนี้ ภายในงาน วธ. ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย เชิญชวนผู้ซื้อรายใหญ่ที่สนใจในสินค้าและบริการวัฒนธรรมเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) โดยเน้นกลุ่ม Buyer เป้าหมายหลัก ได้แก่ Trader ห้างสรรพสินค้า สมาคมการค้าภายใต้สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมและช่องทาง e-commerce และที่สำคัญที่สุดคืออุตสาหกรรม HoReCa คือโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง เนื่องจากเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง ซึ่งอุตสาหกรรม HoReCa ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดขนาดใหญ่ แต่เป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างแท้จริง อาทิ สิ่งทอพื้นเมือง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร งานฝีมือของตกแต่งตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีรากฐานจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นหากพัฒนาและยกระดับสินค้าให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเชื่อว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เจรจาการค้ากับผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกได้

ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า อยากเชิญชวนมาเที่ยวชมงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ซึ่งจัด 5 วันระหว่างวันที่ 18 – 22 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ใช้พื้นที่ 2 โซน คือ 1 พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยที่มีความโดดเด่น ใน ๔ กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหารจากจำนวน 200 ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมและได้รับการพัฒนา อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เอกอรรถหัตถศิลป์ เช่น ของใช้ งานฝีมือ งานจักสาน ของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และอาหาร และ 2.พาร์ค พารากอน ชั้น Mศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยขนาดเล็ก และผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารประเภทสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นแปรรูปจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจอีกมากมาย

“นี่คือการส่งเสริมศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของ “คน” ให้เป็นเศรษฐกิจของครอบครัวที่มั่นคงอย่างยั่งยืนส่งเสริมการพัฒนาทักษะเชิงสร้างสรรค์ควบคู่กับการตลาด ยกระดับกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลางสู่ระดับรายได้สูง ช่วยลดช่องว่างทางรายได้ และเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นพลังทางเศรษฐกิจใหม่ (Cultural Economy /Soft Power) ซึ่งไม่ได้แค่สร้างอาชีพ แต่สร้างผู้ประกอบการที่ใช้ศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการยืนหยัดบนเวทีธุรกิจได้จริง” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

รศ.ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันฯ มีส่วนร่วมผลักดันวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 4 สาขา เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยสู่ความเป็นสากล อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์บรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนและเครือข่ายผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม โดยได้ดำเนินการ 6 ขั้นตอน 1. การจัดทำกรอบแนวคิด รูปแบบและแผนการดำเนินงาน 2. การศึกษา วิเคราะห์องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยที่เป็น Soft Power 3. การพัฒนาทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง 4. การจัดมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจราธุรกิจ 5.การประชาสัมพันธ์ และขั้นตอนสุดท้ายและ 6. การประเมินผล โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่การมี Soft Power ที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากลต่อไปในอนาคต

Advertisement

แชร์
วธ.ประเดิมงาน 1 ครอบครัว 1 Soft Power รุกเปิดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” 18 - 22 เม.ย.นี้