สื่อใหญ่รอยเตอร์สรายงานว่า RD เตรียมขายธุรกิจแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย มูลค่าถึง 1.1 หมื่นล้านบาท แหล่งข่าวชี้มี 2 ยักษ์ธุรกิจสนใจเข้าซื้อ
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าว 3 รายที่เกี่ยวข้องว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) กำลังพิจารณาขายสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจร้าน KFC ในประเทศไทย โดยมีการประเมินมูลค่าเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) หลังจากรายได้เริ่มฟื้นตัวไปพร้อมกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แหล่งข่าวระบุว่า RD ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไพรเวทอีควิตี้ AIGF Advisors Pte Ltd กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทที่ปรึกษาอย่างน้อย 1 ราย เรื่องแนวโน้มที่จะขายสิทธิแฟรนไชส์
ก่อนหน้านี้ RD เคยพิจารณาที่จะขายสิทธิ KFC มาแล้วในปี 2020 แต่กระบวนการได้หยุดชะงักไปเพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ RD กลับมาสร้างยอดขายรายไตรมาสได้สูงสุดทุบสถิติใหม่ ไปเมื่อช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 และยังเป็นอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมประจำปีที่สูงที่สุดอีกด้วย ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งคาดว่า ธุรกิจ KFC จะยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่องไปอีกในปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการคลายล็อกเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว
ด้านแหล่งข่าว 2 รายที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยว่า ผู้ที่มีแนวโน้มอาจจะได้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์นี้ไป คาดว่าจะรวมถึง “เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป” (CRG) และ “เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด” (The QSR of Asia) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ โดยทั้งสองบริษัทนี้ต่างก็เป็นผู้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทยจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟเวอเรจ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ CRG ยังไม่ตอบคำถามจากรอยเตอร์
ทั้งนี้ RD ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 5,000 คน และดำเนินกิจการร้านเคเอฟซีทั่วประเทศไทย 236 สาขา จากเมื่อ 2 ปีก่อน ที่มีพนักงาน 4,000 คน และบริหารจัดการร้าน 200 สาขา
ทว่าบริษัทก็ประสบภาวะเดียวกันกับตลาดอื่นๆ ที่การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น และตลาดทุนที่อ่อนแอลง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความเห็นโดยเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะไม่ถูกขัดจังหวะ ด้วยความพยายามจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ท่ามกลางการคาดหมายว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย