“ซีพีเอฟ” เผยแผนปีนี้พร้อมลุยธุรกิจ “กัญชง-กัญชา” ทั้งอาหารกับเครื่องดื่ม เอ็มโอยู ปรับปรุง “พันธุ์กัญชาไทย” ให้มีคุณภาพกับ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรระบาดว่ายังไม่กระทบเป้าหมายธุรกิจ เหตุมีการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนทั่วโลก
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือCPF กล่าวว่า ล่าสุด CPF ได้ลงนามเอ็มโอยูการปรับปรุง “พันธุ์กัญชาไทย” ให้มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความเป็นเลิศในด้านการเกษตร และวิทยาศาสตร์อาหาร
ขณะที่ความคืบหน้าเกี่ยวกับกัญชง ปีนี้ CPF จะมุ่งเน้นไปที่ “ธุรกิจอาหารกัญชง” ต่อเนื่องหลังจากที่ได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง คาดว่าอีกไม่นานจะเห็นความชัดเจนในผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหาร แต่เรื่องของอาหารยังมีข้อจำกัดที่อยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งจะมุ่งเน้นตลาดในประเทศโดยใช้การลงทุนไม่มากนัก
ทั้งนี้ บริษัทมี “CPF RD Center” ใช้เป็นศูนย์พัฒนาวิจัย R&D ด้านอาหารมาตรฐานระดับโลกที่มีเทคโนโลยีทันสมัยสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารอย่างครบวงจร
“ตอนนี้เราจะมุ่งไปที่กัญชงเป็นหลักมีการลงทุนเรื่องของต้นน้ำ การปลูก เเล็บ การสกัดต่าง ๆ ส่วนตลาดและการแข่งขัน ผมมองว่าต่างประเทศอาจจะแชลเลนจ์มาก คาดว่าจะต้องใช้เวลา เราจึงวางแผนตลาดในประเทศก่อน หากในประเทศสำเร็จแล้วจึงจะส่งออกต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดและความแตกต่างเรื่องของ regulation อยู่” นายประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ว่ายังไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ เนื่องจากบริษัทมีการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตของธุรกิจด้วยสัดส่วนการส่งออกในหลายประเทศ และการสร้างความสมดุลของประเภทเนื้อสัตว์ที่ CPF จำหน่าย โดยที่ผ่านมา CPF มีการลงทุนใน 16 ประเทศทั่วโลก “เรามั่นใจว่าจะสามารถบาลานซ์พอร์ตได้เป็นอย่างดี”
ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ทราบข่าวว่ามีการระบาดของโรค ASF จากยุโรป, รัสเซีย, เวียดนาม, จีนก่อนที่จะพบโรค ASF ในประเทศไทย CPF ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อป้องกันโรค ASF ในฟาร์มหมูของบริษัท ทั้งการวางระบบโรงเรือน-ฟาร์ม จัดทำระบบคอมพาร์ตเมนต์ การปฏิบัติตามมาตรการในเรื่องของระบบความปลอดภัยด้านชีวภาพ (biosecurity system) อย่างเข้มงวด
ประกอบกับมีการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศด้วย ดังนั้น CPF จึงได้ปรับการทำงานในฟาร์มจากใช้คนเข้าฟาร์มให้อาหารหมูก็เปลี่ยนเป็นการใช้การต่อท่อจากถังไซโลไปยังฟาร์มอย่างรัดกุม ในส่วนนี้ทำให้บริษัทมีภาระต้นทุนการเลี้ยงหมูเพิ่มกว่า 10% อย่างไรก็ดี CPF มองว่าผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว ต้องมีการลงทุนเพื่อการพัฒนามากขึ้น
ส่วนประเด็นที่ว่าหากจะมีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ อาจทำให้ราคาหมูในประเทศถูกลงนั้น มองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ เกษตรกรรายย่อยที่รอดจากการระบาดจะขายหมูไม่ได้เลย ทาง CPF เชื่อว่าสถานการณ์ปริมาณหมูในตลาดต้องใช้เวลาในการผลิตไปอีกสักระยะ
แต่ขณะนี้ก็เริ่มเห็นราคาหมูปรับลดลงมาต่อเนื่อง ที่เคยกังวลกันว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาจะทำให้ราคาหมูปรับสูงขึ้นอีก แต่ก็พบว่าช่วงที่ราคาหมูปรับสูงขึ้นผู้บริโภคก็หันไปบริโภคสินค้าทางเลือกอื่น ๆ ทดแทนหมู แต่ด้วยการจัดการระบบฟาร์มในประเทศไทยค่อนข้างดี เข้มงวดและมีความร่วมมือประสานงานกับกรมปศุสัตว์ ทำให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถขจัดโรค ASF ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีจากนี้ไป