คนไทยคงช็อก และจดจำไปอีกนาน สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวบนบกบริเวณรอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ระยะทางกว่า 1,100 กิโลเมตร คลื่นแผ่นดินไหว เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น “ดินอ่อน” แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้ตึกสูงระฟ้าที่ตั้งตระหง่านอยู่จำนวนมาก เอนไปมาตามแรงแผ่นดินไหว
ยกเว้นอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตัวอาคาร 30 ชั้นเท่านั้น ที่พังถล่มลงมาแบบแซนวิส จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมากและถือเป็นโศกนาฏกรรมช็อกคนไทยทั้งประเทศ
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว อาคารสูงเกิน 23 เมตร หลายแห่งในกรุงเทพฯ แม้จะพบรอยแตกร้าว แต่โครงสร้างหลัก ๆเสา และคานยังคงแข็งแรง ไม่พบความเสียหายที่ส่งผลต่อความมั่นคงของอาคาร ขณะเดียวกันพื้นที่ กทม.ก็มีอาคารที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างเช่นเดียวกันกับตึก สตง. แต่กลับ “ไม่พัง”
การออกแบบการก่อสร้าง การควบคุมงาน การจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ได้มาตรฐานหรือไม่ โดยเฉพาะคอนกรีต และเหล็กเส้น สังคมไทยตั้งคำถาม และจับตามอง รวมถึงช่วยกันขุดคุ้ยหาต้นตอของปัญหาว่า มีอะไรที่ลึกไปกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ?
การคลี่ปมการพังถล่มของตึกสตง.ที่มีมูลค่าก่อสร้างกว่า 2 พันล้านบาท เริ่มไปทีละจุดแล้ว…
วันที่ 30 มีนาคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการไปยังทีมสุดซอยพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นข้ออ้อย(จากเสา) และเหล็กเส้นลวด(จากพื้น) ไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
ล่าสุด วันที่ 31 มีนาคม 2568 การตรวจสอบมาตรฐานค่าความแข็งแกร่งของโลหะ ผลทดสอบเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น จาก 2 ประเภท คือ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. ตกเรื่องมวลต่อเมตร (เหล็กเบา) เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. ตกค่าความเค้น (yield) อีก 15 ชิ้น จาก 4 ประเภทผ่านเกณฑ์ ทั้งนี้ จะมีการไปเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติม ตามกฎทดสอบ 3 ครั้ง ตามหลักมอก.
สำหรับการผลิต นำเข้า จำหน่ายเหล็กไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุที่อาจทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย ก่อนหน้านี้ รมว.อุตสาหกรรม เน้นย้ำมาตลอดว่า เป็น “อาชญากรรม” ที่ปล่อยผ่านไม่ได้ เพราะการใช้เหล็กเส้นข้ออ้อยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย ส่วนประกอบของเหล็กที่มีสัดส่วนคาร์บอนหรือสัดส่วนโบรอน (ธาตุชุบแข็งเหล็ก) มากเกินไป จะทำให้เหล็กมีความแข็ง แต่เปราะ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือแรงกระแทกที่รุนแรง จะทำให้เหล็กหักเป็นท่อนๆ แทนที่จะโค้งงอและดูดซับแรง ส่งผลให้โครงสร้างตึกถล่มลงมาได้
ส่วนเหล็กเส้น ที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ ที่พบมีการตีตรายี่ห้อบริษัทเหล็กที่ถูกสั่งปิดไปเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2567 นั้น และตามรายงานบนหน้าเว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ชุดตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ได้พบข้อบกพร่องทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อมหลายจุด โดยเฉพาะด้านการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงได้ยึดอายัดเหล็กไว้ทั้งหมด พร้อมเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ
วันที่ 10 มกราคม 2568 ผลการตรวจสอบเหล็กข้ออ้อย ที่ผลิตโดย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ออกมาแล้ว พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกเกณฑ์ที่สำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก จึงยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท และดำเนินคดีตามกฎหมาย
โรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติ “ยักษ์ใหญ่” แห่งนี้ มี นายเจี้ยนฉี เฉิน, นายสู้ หลงเฉิน และนายสมพัน ปันแก้ว เป็นกรรมการ บริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจาก สมอ. จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ เหล็กเส้นกลม มอก. 20-2559, เหล็กข้ออ้อย มอก. 24-2559 ชั้นคุณภาพ SD 40 และชั้นคุณภาพ SD 50 ซึ่งจากการทดสอบ เหล็กข้ออ้อย โดยสถาบันเหล็กฯ ปรากฏว่า ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2 รายการ คือ ในรายการส่วนสูงของบั้งที่มีผลทำให้ความสามารถในการยึดเกาะระหว่างเนื้อเหล็กและเนื้อคอนกรีตลดลง เมื่อนำไปใช้งาน และรายการธาตุโบรอน มีผลทำให้เนื้อเหล็กเปราะ ความเหนียวของเนื้อเหล็กลดลง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถรับแรงดึงได้ตามที่มาตรฐานกำหนด
นอกจากนี้ มีการซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบทะเบียนของบริษัท ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาซัพพลายเออร์ ส่วนประกอบทางเคมีของเหล็กไม่สอดคล้องตามที่มาตรฐานกำหนด
ขณะเดียวกัน ประเด็น ข้อสงสัยบริษัทไชนา เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด คู่สัญญาก่อสร้างอาคาร สตง. ถล่ม เป็นธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว ใช้นอมีนีคนไทยถือหุ้นแทนหรือไม่นั้น นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้มีการตรวจสอบ เพื่อสร้างความกระจ่างให้สังคมคลายข้อสงสัยนี้แล้ว
กรณีตึก สตง.ถล่ม ยิ่งตอกย้ำประเด็น “ทุนจีนเทา” ซึ่งนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้โชว์ให้เห็นตัวเลขภาคธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทุนจีนครองตลาด ไว้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เฉพาะปี 2567 ปีเดียว มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีคนจีนถือหุ้น จดทะเบียนใหม่มากถึง 299 บริษัท และเมื่อรวม 5 ปีย้อนหลัง มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีคนจีนถือหุ้น จัดตั้งใหม่ถึง 586 บริษัท ปี 2568 แค่ 2 เดือนแรก (ม.ค.และก.พ.) จดเพิ่มอีก 54 บริษัท
แรงกระเพื่อมจากรอยเลื่อนสะกาย ทำให้เราค่อยๆ เห็นเบื้องหลังขบวนการกลุ่มทุนข้ามชาติ ปัญหานอมินี ทั้งยังสะท้อนความเสี่ยงจากการเปิดช่องให้ “ทุนจีน” แพร่กระจายไปทุกอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง ที่สำคัญวันนี้ทุนจีนแทรกเข้าไปเป็น “เงา” ประมูลโครงการรัฐ เรียกว่า อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทยได้แล้ว ซึ่งหากไม่มีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น นับวันจะยิ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศในไทยระยะยาว