กัมพูชา เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยมาอย่างยาวนาน และระยะนี้คนไทยก็มีความสนใจในวัฒนธรรมของกัมพูชามากขึ้น ภายหลังจากที่ กัมพูชา เป็นเจ้าภาพอาเซียนเกมส์และตัดสินใจใช้ชื่อ ‘กุน ขแมร์’ ตามศิลปะป้องกันตัวประจำชาติ แทนที่จะใช้ชื่อ ‘มวย’ ดั่งเช่นทุกปี นั่นจึงทำให้เกิดการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง
หากค้นลึกลงไป จะพบว่าไทยและเขมร (ภาษา และชาติพันธ์ุ) มีศิลปวัฒนธรรม อาหาร และสถานที่หลายอย่างที่คล้ายกันมานานมากแล้ว อาทิ โขนของไทย กับละโคนโขลของเขมร, ข้าวเหนียวมะม่วงของไทย กับ Bey Dom Neib ของเขมร, พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทของไทย กับ พระที่นั่งจันทรฉายา ของเขมร เป็นต้น ด้วยความที่มีรากเหง้าของวัฒนธรรมในภูมิภาคเดียวกัน
มิตินี้ถูกแสดงความเห็นอย่างมากในโลกออนไลน์ ‘มวยไทย กับ กุน ขแมร์’ และ ‘โขนไทย กับ ละโคนโขล’ แม้จะถูกยกขึ้นมาพูดถึงผ่าน ‘ดราม่า บนโลกอินเตอร์เน็ต’ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นเหตุบังเอิญที่ดี ที่ทำให้สังคมให้ความสนใจกับศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปกว่าดราม่าทั้งหลาย ความเคลม และการยุดแย่งชิง ‘ความเป็นเจ้าของ’ วัฒนธรรม ก็จะพบว่า เราเป็นเพื่อนบ้าน ญาติมิตรที่ใกล้ชิดกัน และล้วนหยิบยืมวัฒนธรรมจากท้องถิ่นอื่น และหยิบยืมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชานั้น มีทั้งการปฏิสัมพันธ์ผ่านการค้าขาย การแต่งงาน การศึกสงคราม การกวาดต้อนกำลังพล ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิถีชิวิต ศิลปะของทั้งสองประเทศอยู่แทบจะตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนช่วงสมัยสุโขทัยเสียอีก โดยนอกเหนือจากได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่างสองประเทศแล้ว ทั้งเราและกัมพูชา ยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น จากประเทศลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือประเทศซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่กว่าเช่น อินเดียและจีน
ความคล้ายคลึงเหล่านี้ แม้จะมีที่มาจากต่างจุดกำเนิด ต่างห้วงเวลา แต่ก็กลายเป็นข้อพิสูจน์ที่ยังมีลมหายใจในปัจจุบันนี้ ว่าเราและเขมรมีมีอะไรคล้ายกันมากกว่าที่เราคิด อาทิ
บทความนี้มิได้มีจุดประสงค์ที่จะมาอรรถาธิบายร่ายที่มาของแต่ละความคล้ายคลึงที่บอกเล่ามาแล้วข้างต้น แต่ต้องการจะจุดประกายให้เห็นถึงความสวยงามและความเลื่อนไหลของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ว่าสอดแทรกไปด้วยเรื่องราว และที่มา ซึ่งอาจมีถิ่นกำเนิดจากที่แสนไกล หรือใกล้ๆ ในแถบประเทศเพื่อนบ้านนี้
ซึ่งนอกจากมิติของประวัติศาสตร์แล้ว มิติของเศรษฐกิจ และธุรกิจของประเทศกัมพูชา ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาเพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรามากขึ้น Spotlight ได้รวบรวมหลากหลายมุมที่น่าสนใจในเชิงเศรษฐกิจ และธุรกิจไว้ที่นี่แล้ว
ประเทศกัมพูชา มีผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 2.70 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9.37 แสนล้านบาท) (ปี 2021) เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของอาเซียน อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2021 อยู่ราวๆ 3% ส่วนในปี 2022 อยู่ที่ 5% ซึ่งถือได้ว่า เป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ บ่งบอกถึงความพยายามขยายตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา
หากดูโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชานั้น มีรายได้มาจากภาคการผลิตคิดเป็น 36.83% ภาคบริการ 34.18% ภาคการเกษตร 22.85% ภาคการเกษตรยังมีสัดส่วนที่สูง สินค้าเกษตรที่สำคัญของกัมพูชามีหลากหลาย เช่น ข้าว มันสำปะหลัง มะม่วง กล้วยสด พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ ซึ่งหากเทียบกับสัดส่วนรายได้ของประเทศไทยแล้ว ประเทศกัมพูชาพึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตรคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทยพึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตร ราว 9%
สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา 3 อันดับแรกในปี 2022 ที่ผ่านมา ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และยางพารา ส่วนสินค้าที่นำเข้า 3 อันดับแรก ได้แก่ผ้า ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่า ภาคการผลิตของประเทศกัมพูชานั้นพึ่งพาการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าเป็นหลัก ยังสะท้อนถึงสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ส่วนประเทศไทยมีสินค้าส่งออกสำคัญเป็นรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณี ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “ยางพารา”
ตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (Cambodia Securities Exchange: CSX) เปิดดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2555 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและตลาดหลักทรัพย์ เกาหลีใต้ (ถือหุ้นร้อยละ 55 และ 45 ตามลำดับ) โดยหุ้นตัวแรกในตลาดคือ การประปาพนมเปญ (Phnom Penh Water Supply Authority : PWSA) ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชาทั้งหมด 9 ราย มี Market Cap มูลค่า 6.4 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทที่มี Market Cap ใหญ่ที่สุด 3 อันดับ ได้แก่
โดยหากเทียบขนาดกับตลาดหุ้นไทยแล้ว ยังถือว่าตลาดหุ้นของกัมพูชายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก่อตั้งขึ้นก่อนตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา 50 ปี โดยก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 ปัจจุบันมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดทั้งหมดกว่า 850 บริษัท และมี Market Cap ราว 20 ล้านล้านบาท โดยบริษัทที่มี Market Cap สูงที่สุด 3 อันดับได้แก่
ส่วนธุรกิจที่เป็นแบรนด์ประจำท้องถิ่นและได้รับความนิยมระดับประเทศมีหลากหลายโดย Spotlight ขอหยิบยก 3 ธุรกิจที่น่าสนใจในประเทศกัมพูชามาให้ผู้อ่านได้รู้จัก ได้แก่
‘ใครคือมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในกัมพูชา’ อาจเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะมหาเศรษฐีกัมพูชาหลายคน ไม่ได้เปิดเผยปริมาณความมั่งคั่งของตนให้สาธารณชนได้รับรู้ แต่อาจพอยกตัวอย่างจากความเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศกัมพูชามาได้ดังนี้
บริษัท : Royal Group
ธุรกิจ : โทรคมนาคม, สื่อ, ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์
บริษัท : Sokimex Group
ธุรกิจ : น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์
บริษัท : Chip Mong Group
ธุรกิจ : อสังหาริมทรัพย์
โดยอ้างอิงจากข่าวคราวเกี่ยวกับความมั่งคั่งของ Kith Meng ที่ปรากฏบนหน้าสื่อ อาจพอประมาณการณ์ได้ว่า ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีชาวเขมรเหล่านี้ อยู่ในหลัก ‘พันล้านดอลลาร์สหรัฐ’
ด้านมหาเศรษฐีไทยหรือที่ใครหลายคนเรียกติดปากว่า ‘เจ้าสัว’ นั้น มีหลายสำนัก เช่น Forbes หรือ Bloomberg ที่จัดอันดับให้เราได้เห็นกันบ่อยๆ โดยอันดับเจ้าสัวของไทยมักผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แต่มักปรากฏชื่อของ 3 เจ้าสัวต่อไปในการจัดอันดับสุดยอดมหาเศรษฐีของเมืองไทย ได้แก่
บริษัท : C.P. Group
ธุรกิจ : หลากหลาย อาทิ อาหาร ค้าปลีก โทรคมนาคม สื่อ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
บริษัท : ThaiBev PCL
ธุรกิจ : หลากหลาย อาทิ เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ อาหาร ค้าปลีก สื่อและสิ่งพิมพ์ ประกันภัย ฯลฯ
บริษัท : GULF Energy Development
ธุรกิจ : หลากหลาย อาทิ พลังงาน โครงสร้าง โทรคมนาคม สินทรัพย์ดิจิทัล ฯลฯ
โดยจากการจัดอันดับของ Bloomberg และ Forbes เผยว่า ทรัพย์สินของเจ้าสัวเบอร์ต้นของไทยอยู่ในหลัก ‘หมื่นล้านดอลลาร์’
“อย่าสอนประวัติศาสตร์ให้คลั่งชาติ แต่สอนประวัติศาสตร์ให้รักชาติอย่างถูกวิธี”
อยากตอกย้ำถึงกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยขอยกคำพูดจาก อาจารย์ สมเจตน์ วิมลเกษม ปราชญ์เมืองน่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม ที่เคยให้แง่คิดว่าการเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ มิได้มีจุดประสงค์เพื่อให้คลั่งชาติแบบหลับหูหลับตา แต่เป็นการเปิดตา เปิดใจ และดื่มด่ำกับเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านช่วงเวลา เพื่อให้เรารักและภูมิใจในมรดกที่สืบต่อกันมามากขึ้น
ยังมีอีกหลายประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กับไทยทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งหวังว่าจะได้นำมาบอกเล่ากันในโอกาสต่อๆ ไป.
ที่มา : BBC, Cambopedia, ธนาคารกลางกัมพูชา, Trading View, Companies Market Cap, Bestprice Travel, ธนาคารแห่งประเทศไทย, CSX, SET