ในสภาพอากาศร้อนจัดแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยชาวเมืองคลายร้อนและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมลพิษได้ก็คือ ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งในปัจจุบันเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถใช้ประเมินคุณภาพเมืองได้ว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในเมือง ในการลดอุณหภูมิที่จะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของประชากรได้หรือไม่
ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่าปัจจุบัน ‘กรุงเทพฯ’ เมืองหลวงของไทย มีพื้นที่สีเขียวให้ชาวเมืองเท่าไหร่บ้าง และเมืองใหญ่หรือมหานครใดในโลกที่สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับผู้อยู่อาศัยได้มากที่สุด
จากข้อมูลของ สำนักสิ่งแวดล้อม และ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (กรุงเทพมหานคร) ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 213,801,892.16 ตารางเมตร คิดเป็น 13.6% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 38.26 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลประชากรที่กรุงเทพมหานครใช้คำนวณอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรมีเพียง 5,588,222 คน ซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะกรุงเทพมหานครมีประชากรแฝงเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมืองมากมาย และอาจมีจำนวนรวมถึงประมาณ 10 ล้านคน ทำให้พื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรในกรุงเทพฯ อาจน้อยกว่าที่กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลประมาณครึ่งหนึ่ง
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครฯ แบ่งพื้นที่สวนเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง, สวนชุมชน, สวนถนน, สวนระดับเมือง, สวนระดับย่าน, สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก รวมทั้งหมด 9,132 สวน แบ่งเป็น
อย่างไรก็ตาม แม้จากตัวเลขกรุงเทพฯ เหมือนจะเป็นพื้นที่ที่มีสวนมาก จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริง สวนสาธารณะ หรือสวนที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน นั้นมีไม่มีกี่ประเภทเท่านั้น เช่น สวนชุมชน, สวนหมู่บ้าน, สวนระดับย่าน และสวนระดับเขต ทำให้แท้จริงแล้วชาวกรุงเทพอาจมีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าที่ทางกรุงเทพฯ ระบุ
จากรายงานของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสวนที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็น ‘สวนสาธารณะ’ อย่างเป็นทางการทั้งหมด 112 แห่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนสวนทั้งหมด แบ่งเป็นสวนสาธารณะหลัก 40 แห่ง และสวนสาธารณะรอง 72 แห่ง โดย สวนสาธารณะที่มีพื้นที่มากที่สุดในกรุงเทพมหานครคือ ‘สวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน’ ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 644 ไร่
ถัดจากกรุงเทพมหานคร เรามาดูกันบ้างว่า ในระดับโลกมีเมืองใดบ้างที่ประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สีเขียว และเมืองเหล่านั้นทำอย่างไรจึงสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวจำนวนมากให้กับประชากรในตัวเมืองได้ ทั้งที่เป็นเมืองหลวงหรือเมืองเศรษฐกิจใหญ่ในรูปแบบเดียวกับกรุงเทพมหานคร
จากข้อมูลของ City Monitor ปัจจุบัน เมืองใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลกก็คือ เมือง ‘ออสโล’ จากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวถึง 68% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด โดยเมืองใหญ่อื่นๆ ที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดติด 5 อันดับแรกของโลกมีดังนี้
เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง หน่วยงานที่ดูแลเมืองเหล่านี้ต่างได้ออกมาตรการมามากมาย เพื่อรับประกันว่าทุกคนในเมืองจะมีสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวอย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด โดยมาตรการเด่นๆ ที่แต่ละเมืองได้ดำเนินการไว้มีดังนี้
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้แต่ละเมืองประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สีเขียวคือความเด็ดขาดและอำนาจของหน่วยงานดูแลในการควบคุมการใช้พื้นที่ในเมือง และความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินและพื้นที่ในเมืองที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองโดยไม่เห็นแก่ผลกำไรที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่นั้นในทางอื่น
ทั้งนี้ ความร่วมมือนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพมหานคร เพราะปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลกรุงเทพฯ ไม่ได้มีงบประมาณ อำนาจ หรืออิทธิพลในการจัดสรรการใช้ที่ดินในเมือง เหนือเจ้าของที่ดินในพื้นที่ และผู้ที่จะได้ผลประโยชน์จากการที่ประชาชนในยานพาหนะส่วนตัวในเมือง ที่อาจมองว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นมีค่าเหนือผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา กทม. มีปัญหามาตลอดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเพราะหน่วยงานไม่มีงบประมาณในการเวนคืนที่ดินซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงลิ่วได้ ทำให้เมื่อต้องการเปลี่ยนที่ดินเป็นพื้นที่สีเขียวต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรมธนารักษ์, กรมทางหลวง, การเคหะแห่งชาติ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการต้องขอความร่วมมือนี้ สะท้อนในแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีการดำเนินการทั้งหมดใน 5 แนวทาง แบ่งเป็น
จากรายละเอียดจะเห็นได้ว่า กลไกในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกทม. นั้น เกิดจากการขอความร่วมมือและสร้างแรงจูงใจทางภาษีเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการปกครองภายในพื้นที่ ทำให้การนำพื้นที่ที่มีมาสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวทำได้อย่างยากลำบาก หรือไม่รวดเร็วเท่าที่ควร
อ้างอิง: City Monitor, Bangkok Metropolitan Administration (BMA)