ไฟตัดหมอก ไม่ใช่ อุปกรณ์ประดับยนต์ เหตุผลการเกิดมาของมัน ไมใช่เพื่อความสวยงาม ความเท่ หรือเป็นสัญลักษณ์ใช้ตราหน้าว่าข้าคือรถรุ่น Top นะเว้ย ค่านิยมอันแปลกประหลาดคลาดเคลื่อนสำหรับเมืองไทย ก็คือผู้ขับขี่หลายคนคิดว่า ไฟตัดหมอก จะช่วยเพิ่มให้ไฟด้านหน้ารถสว่างมากยิ่งขึ้น และรวมถึงเพิ่มดีกรีความเท่ระเบิดยามเปิดส่องสว่างในช่วงค่ำคืน
ในขณะที่อีกฟากฝั่งคนที่สัญจรสวนทาง กลับต้องรู้สึกทรมานสายตา กับจังหวะที่แสงของไฟตัดหมอกมันช่างเจิดจ้าซะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นผ่านตาสักแค่ไหน แต่พฤติกรรมของรถบางคันที่ยังนิยมเปิดไฟตัดหมอกตลอดเวลาก็ยังคงอยู่เช่นเดิม
เรามาย้อนกลับไปดูถิ่นฐานต้นกำเนิดของอุปกรณ์ต้องสงสัย ก็คือเจ้า "ไฟตัดหมอก" กันหน่อย มันมีชื่อเรียกเป็นภาษาสากลว่า "Fog Lamp" มันถูกคิดค้นขึ้นเพื่อกลุ่มตลาดรถยนต์ในประเทศที่มีอากาศอันหนาวเหน็บ รวมถึงประเทศที่ฝนตกชุกตลอดปี จึงมีความจำเป็นต้องคิดค้นอุปกรณ์ตัวช่วยในการขับขี่ยานพาหนะขึ้นมา
โดยปกติจะใช้เป็นหลอดไฟที่มีความสว่างสูงกว่าไฟหน้าทั่วไป แต่ในช่วงหลังรถยนต์รุ่นใหม่เริ่มพัฒนาปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นแบบ LED ซึ่งก็ยังให้ความเข้มของแสงที่สว่างกว่าไฟหน้าปกติเหมือนเดิม ตำแหน่งติดตั้งอยู่บริเวณส่วนล่างด้านหน้าของตัวรถสำหรับไฟตัดหมอกหน้า ลำแสงจะเป็นลักษณะส่องขนานกับตัวพื้นถนน จุดตกกระทบจะส่องออกไปไกลกว่าไฟหน้า ซึ่งไฟหน้ารถทั่วไปหากเจอหมอกลงจัดหรือฝนตกหนัก เมื่อกระทบกับแสงของไฟหน้ารถ จะเกิดแสงฟุ้งส่งผลต่อทัศนวิสัยการมองของผู้ขับขี่ ไฟตัดหมอกจึงกลายเป็นตัวช่วยสำคัญนั่นเอง
แสงของไฟตัดหมอกที่พุ่งไปได้ไกลกว่า ทำให้ในระยะ 30-80 เมตร ช่วยทำให้มองเห็นได้ดีขึ้น ตำแหน่งติดตั้งด้านล่างทำให้ลำแสงที่กระทบกับม่านหมอก เม็ดฝน หรือแม้กระทั่งละอองฝุ่น ไม่สะท้อนกลับมารบกวนการมองเห็นของผู้ขับขี่
เอ๊ะ "ไฟตัดหมอก" ที่มันควรประจำการในย่านเมืองหนาว เมื่อถึงคราวติดสอยห้อยตามเจ้ารถตัว Top ราคาพีค มาติดตั้งอยู่ที่ด้านหน้ารถในบ้านเราแล้วแบบนี้ประโยชน์ของมันจะถูกใช้ตอนไหน? บันไดขั้นแรกเลยกลายเป็นค่านิยมผิดๆ ในเรื่องของไฟตัดหมอกที่มักถูกยกย่องเชิดชูให้สิงสถิตอยู่เฉพาะในรถรุ่น Top หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นรุ่นรองขึ้นไป ถึงจะได้ไฟตัดหมอกมาเชยชม
และนั่นเป็นสาเหตุให้พ่อค้าหัวใสหัวใจการค้า เกิดไอเดียรับติดตั้งไฟตัดหมอกให้รถรุ่นล่างตัวต่ำสุด จับมันยัดสู่หมวด "ประดับยนต์" ใช้เสริมดีกรีความหล่อให้ละม้ายคล้ายตัว Top ได้ง่ายๆ ตัวเลือกมีตั้งแต่หลักหลายพัน จนถึงหลักไม่กี่ร้อย ใช้ได้จริงบ้างไม่จริงบ้าง แสงฟุ้งกระจายสุดท้ายอาจกลายเป็นไปสร้างการรบกวนให้ผู้ร่วมทางไปโดยไม่ตั้งใจ
สำหรับใครที่ถือคติ "เหลือดีกว่าขาด" ก็คงไม่ผิด เลือกแล้วจะซื้อรถรุ่นที่ติดตั้งไฟตัดหมอกมาให้ตั้งแต่คลอดจากโรงงาน เพียงแต่ควรทำความเข้าใจถึงจังหวะและโอกาสที่ต้องใช้กันสักนิด เพื่อรับผิดชอบเพื่อนร่วมทาง
ช่วงเวลาที่หมอกลงจัด หรือฝนตกหนัก และสำหรับบ้านเราในช่วงหลังที่พบเจอบ่อยๆ ก็ช่วงฝุ่น PM2.5 ปกคลุม ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่สมควรแก่การเปิดใช้งาน "ไฟตัดหมอก" เพราะนอกจากมันจะช่วยเพิ่มทัศนวิสัยของตัวเรา แล้วยังช่วยให้เพื่อนร่วมทางเห็นรถของเราได้ง่ายขึ้น แถมไม่ต้องเสี่ยงกับคำสาปแช่งเพราะแสงแยงตา ก็มันเป็นสถานการณ์ที่ใครๆ ก็ต้องเข้าใจว่าไฟตัดหมอกมันจำเป็นต้องใช้จริงๆ นี่นา
สำหรับในทางกฎหมาย กำหนดให้รถยนต์ติดไฟสปอร์ตไลท์หรือไฟตัดหมอกเพิ่มได้ข้างละ 1 ดวง ในระดับเดียวกัน ตำแหน่งติดต้ั้งจากพื้นถนนไม่ต่ำกว่า 40 ซม. แต่ไม่สูงกว่า 135 ซม. ต้องเป็นแสงสีเหลือง หรือสีขาว เท่านั้น หากติดตั้งไม่ถูกต้อง หรือเปิดใช้งานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท