ปลายฝนต้นหนาวต้องระวัง! แพทย์ รพ. วิมุต ชวนรู้จัก “ไวรัส RSV” ภัยร้ายใกล้ตัวลูกน้อย โรคคล้ายหวัด-โควิด เตือนเด็กเล็กเสี่ยงอาการรุนแรง
ไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธ์เอและสายพันธุ์บี ติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ทั้งการสัมผัสโดยตรงและการสัมผัสผ่านสิ่งของ เมื่อได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัว 4 - 6 วัน หรืออาจถึง 8 วัน อาการของผู้ติดเชื้อจะเหมือนหวัดธรรมดา โดยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และไอจาม สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กโตอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือหากเกิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสองขวบ หรือเด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวเช่น ปอดเรื้อรัง หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคหัวใจ เป็นต้น ไวรัสนี้สามารถลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างทั้งในหลอดลมใหญ่ หลอดลมฝอย และเนื้อปอด จนทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้ ซึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างก็อาจมีไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) และมีเสมหะเยอะมากผิดปกติ
พญ. สุธิดา ชินธเนศ กุมารแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก โรงพยาบาลวิมุต อธิบายเพิ่มเติมว่า “เราพบว่าไวรัส RSV มีโมเดลการแพร่ระบาดคล้ายคลึงกับโรคโควิด-19 อย่างมากจนแทบจะถอดแบบกันมาเลยทีเดียว แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือเชื้อไวรัส RSV ในสารคัดหลั่งสามารถคงอยู่บนสิ่งของได้นาน 30 นาทีไปจนถึง 1 ชั่วโมงเลย ดังนั้น ถ้าเราเอามือไปสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ไม่ว่าจะบนโต๊ะ ลูกบิดประตู ราวบันได แล้วเอามือมาสัมผัสใบหน้าก็จะติดเชื้อได้ง่ายมาก”
ไวรัส RSV คล้ายกับโรคหวัดอื่น ๆ ที่ไม่มียารักษาจำเพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ โดยถ้ามีอาการไอก็ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ถ้ามีน้ำมูกก็ให้ยาลดน้ำมูก สำหรับในเด็กเล็กที่อาจเกิดอาการรุนแรงกว่าอาจต้องพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะเด็กที่มีเสมหะเยอะมาก อาจต้องรับการพ่นยาขยายหลอดลมหรือพ่นน้ำเกลือเพื่อละลายเสมหะ ถ้าเป็นเด็กเล็กมาก ๆ จนไม่สามารถไอเพื่อขับเสมหะออกมาเองได้ ก็อาจต้องใช้อุปกรณ์ดูดน้ำมูกและเสมหะ เพื่อเคลียร์ทางเดินหายใจให้โล่งขึ้น
“ดูเผิน ๆ ไวรัส RSV แทบไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไปเลย เพียงแต่อาจจะมีน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งเยอะมากจนไปอุดตันทางเดินหายใจ แต่อีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับโรคนี้คือ หากเกิดในเด็กเล็กจนมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ไวรัส RSV สามารถทำให้เกิด ‘รอยโรค’ ได้ เช่นเด็กที่เคยติดเชื้อแล้วอาจเกิดภาวะที่เรียกว่าหลอดลมไวในเด็ก โดยหลอดลมจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ ซึ่งเมื่อติดเชื้ออีกในอนาคตก็อาจมีอาการหายใจวี้ดหรือจำเป็นต้องใช้ยาขยายหลอดลมซ้ำ ๆ และเมื่อเด็กโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นโรคหอบหืดได้” พญ. สุธิดา ชินธเนศ กล่าว
แม้ว่าไวรัส RSV จะดูน่าวิตกกังวล แต่มาตรการที่เราใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยังใช้ได้ผลดีกับไวรัส RSV นี้เช่นกัน ดังนั้น การปิดแมส การล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ นอกบ้านโดยไม่จำเป็น การรักษาระยะห่างหรือแยกตัวออกจากผู้ที่มีอาการคล้ายหวัด ไปจนถึงการทำความสะอาดพื้นผิวที่ผู้คนใช้งานอยู่บ่อย ๆ เพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เหล่านี้ก็ยังคงเป็นแนวทางปฏิบัติที่เรายังคงต้องให้ความสำคัญกันอย่างต่อเนื่อง.