คาดปี 67 ยอดขายรถในไทยอยู่ที่ 8 แสนคัน ส่งออกยังเจอผลกระทบเศรษฐกิจโลก

5 ก.พ. 67

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2566 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2567 คาดการณ์ปริมาณการส่งออกลดลง 5% เป้าการผลิตลดลง 0.9% ในขณะที่ตลาดรวมยอดขายในปีนี้มองอาจเติบโตราว 3% เท่านั้น ส่วนในปี 2566 ที่ผ่านมา เลกซัส ประเทศไทย ประสบความสำเร็จด้วยยอดขาย 1,012 คัน เป็นครั้งแรกที่มียอดขายเกิน 1,000 คันต่อปี

ปี 2566 กลายเป็นปีที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังไม่ไปไหน ไม่เติบโต ไม่ถดถอยแบบเด่นชัน ในขณะที่ภาคการส่งออกดีขึ้น คาดว่ามาจากปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้เกิดการชะลอซื้อรถยนต์เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มคาราเบล ในขณะที่ปีที่ผ่านมาสถาบันทางการเงินก็ยังได้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยก็ยังเป็นโซนขาขึ้นในระดับสูง

ด้านปัจจัยบวกที่ค่อนข้างเด่นชัดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยสำหรับปีที่ผ่านมา คงจะเป็นกระแสความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV ที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาจากภาครัฐ รวมถึงตัวเลขการส่งออกรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการชดเชยการส่งมอบที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในช่วงที่ผ่านมา

ยอดขายรถยนต์รวมในปี 2566 อยู่ที่ 775,780 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565

สถิติการขายรถ ยอดขายปี 2566 (คัน) เทียบกับปี 2565
ปริมาณขายรวม 775,780 -9%
รถยนต์นั่ง 292,505 +10%
รถเพื่อการพาณิชย์ 483,275 -17%
กระบะ 1 ตัน (รวมรถดัดแปลง) 325,024 -29%
กระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถดัดแปลง) 264,738 -32%


ยอดขายของโตโยต้าในปี 2566

โตโยต้ามียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 265,949 คัน ลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34.3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถอีโคคาร์ที่ยังคงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 จากความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์ Yaris ATIV รวมถึงการมีรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Yaris Cross ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นอกเหนือจากรถยนต์ภายใต้แบรนด์โตโยต้า ในปี 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์ เลกซัส ประเทศไทย ประสบความสำเร็จ มียอดขายสูงสุด อยู่ที่ 1,012 คัน นับเป็นครั้งแรกที่ เลกซัส ประเทศไทย สามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดถึงระดับกว่า 1,000 คัน

สถิติขายรถโตโยต้า ยอดขายปี 2566 (คัน) เทียบปี 2565 ส่วนแบ่งตลาด
ปริมาณการขาย 265,949 -8% 34.3%
รถยนต์นั่ง 99,292 +20% 33.9%
รถเพื่อการพาณิชย์ 166,657 -19% 34.5%
กระบะ 1 ตัน (รวมรถดัดแปลง) 128,689 -27% 39.6%
กระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถดัดแปลง) 106,601 -28% 40.3%


แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567

คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ประมาณการปี 2567 ยอดขายประมาณการ ปี 2567 เทียบกับปี 2566
ปริมาณการขายรวม 800,000 คัน +3%
รถยนต์นั่ง 296,500 คัน +1%
รถเพื่อการพาณิชย์ 503,500 คัน +4%


โตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 277,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.6%

ประมาณการปี 2567

ยอดขายประมาณการ ปี 2567 (คัน)

เทียบกับปี 2566 ส่วนแบ่งตลาด
ปริมาณการขาย 277,000 +4% 34.6%
รถยนต์นั่ง 81,700 -18% 27.6%
รถเพื่อการพาณิชย์ 195,300 +17% 38.8%
กระบะ 1 ตัน (รวมรถดัดแปลง) 133,264 +4% 41.2%
กระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถดัดแปลง) 114,500 +7% 42.1%


ปริมาณการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 2566

ในปี 2566 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 379,044 คัน เพิ่มขึ้น 0.2% จากปี 2565 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 621,156 คัน หรือลดลง 5.8% จากปี 2565

ปริมาณส่งออกและการผลิตรถโตโยต้า ปริมาณในปี 2566 (คัน) เทียบกับปี 2565
ปริมาณการส่งออก 379,044 +0.2%
ยอดผลิตรวมส่งออกและขายในประเทศ 621,156 -5.8%


เป้าหมายการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 2567

คาดการณ์ว่ายังต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้โตโยต้าตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 358,800 คัน หรือลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2567 อยู่ที่ราว 615,700 คัน หรือลดลง 0.9% จากปีที่ผ่านมา

ปริมาณส่งออกและการผลิตรถโตโยต้า ปริมาณในปี 2567 (คัน) เทียบกับปี 2566
ปริมาณการส่งออก 358,800 -5.0%
ยอดผลิตรวมส่งออกและขายในประเทศ 615,700 -0.9%

advertisement

Powered by อมรินทร์ นิวส์ - ยานยนต์

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม