ไซบูทรามีน คืออะไร หลังพบสารนี้อยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนัก
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานผลการตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่งแล้วพบสาร “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน มีผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต
เรื่องนี้ทำให้ประชาชนสงสัยว่า ไซบูทรามีน คืออะไร มีโทษหรือผลกระทบอย่างไรหากรับประทานเข้าไป และผู้ที่ขายหรือโฆษณานั้นมีบทลงโทษทางกฎหมายอย่างไร วันนี้มีคำตอบมาให้
ไซบูทรามีน คืออะไร
ไซบูทรามีน (sibutramine) เป็นหนึ่งในสารปลอมปนที่พบมากที่สุดในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีข้อบ่งใช้เพื่อลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้มักมีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ แต่เนื่องจากยานี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง จึงทำให้นานาประเทศต้องยกเลิกการใช้ยานี้ แต่ก็ยังพบการลักลอบผลิตหรือนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและทำให้ผู้บริโภคต้องเสียชีวิตอยู่เป็นระยะๆ
ฤทธิ์ของ ไซบูทรามีน
หลังรับประทานยาไซบูทรามีน ยาจะออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาท โดยการเพิ่มสารสื่อประสาท เมื่อสารเหล่านี้ออกฤทธิ์จะทำให้อารมณ์ดี ต้านการซึมเศร้า อิ่มเร็วขึ้น และสามารถลดความอยากอาหารได้อีกด้วย นอกจากนี้พบว่าไซบูทรามีนยังสามารถกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ด้วยฤทธิ์เหล่านี้จึงสามารถนำมาใช้ลดนํ้าหนักได้
ไซบูทรามีนมีประสิทธิภาพในการลดนํ้าหนักได้มากกว่ายาหลอกประมาณ 4-5 กิโลกรัม โดยพบว่าจะลดนํ้าหนักได้ดีในช่วงแรกคือ ประมาณ 6 เดือนแรกหลังใช้ยาอย่างไรก็ตาม ช่วงหลังจากนั้น ยานี้จะไม่สามารถลดนํ้าหนักได้เพิ่มขึ้น จะช่วยเพียงคงนํ้าหนักไว้ให้คงที่ หลังจากหยุดยาลดนํ้าหนัก นํ้าหนักจะกลับมาเพิ่มขึ้นเหมือนก่อนที่จะรับประทานยา
อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ ไซบูทรามีน
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีตั้งแต่ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับคลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว ส่วนอาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงคือ การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง มีงานวิจัยที่พบว่าการใช้ไซบูทรามีนระยะยาวในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือโรคหลอดเลือดสมอง
ความผิดทางกฎหมายในการใช้ ไซบูทรามีน
ประเทศไทยจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ไซบูทรามีนเป็นยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้ว ตั้งแต่ ปี 2553 เนื่องจากมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ในปัจจุบันจึงไม่ควรมีตัวยานี้ในผลิตภัณฑ์ใดๆ เลย แต่จากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์กลุ่มเสริมอาหารและกาแฟสำเร็จรูปชนิดผงของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังพบการปนปลอมสารไซบูทรามีน
หากนำ ไซบูทรามีนไปผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา85 ให้ถือว่าวัตถุตำรับซึ่งเป็นสิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วยปรุงผสมอยู่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทนั้นด้วย นั่นหมายความว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะกลายเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใดก็ตามที่ผลิตหรือนำ เข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะต้องได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ตามมาตรา 115 วรรคหนึ่ง ถ้าผลิตหรือนำ เข้าหรือส่งออกเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปีและปรับตั้งแต่ 7 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท ตามมาตรา 115 วรรคสอง ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปีและปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ตามมาตรา 116 ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ตามมาตรา 140 รวมไปถึงผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำ ทั้งปรับ ตามมาตรา 141
Advertisement