Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"หลอดเลือดสมองโป่งพอง"  มรดก "โรค" ญาติสายตรง ภัยเงียบไม่แสดงอาการ

"หลอดเลือดสมองโป่งพอง" มรดก "โรค" ญาติสายตรง ภัยเงียบไม่แสดงอาการ

14 ก.ค. 67
17:53 น.
|
900
แชร์

"หลอดเลือดสมองโป่งพอง" มรดก "โรค" ญาติสายตรง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ จนกระทั่งเกิดการแตกขึ้นและทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง คืออะไร

หลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นภาวะที่ผนังของหลอดเลือดบางส่วนเกิดการอักเสบหรือเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดการบางลงของผนังหลอดเลือดตำแหน่งนั้น เมื่อได้รับแรงดันจากเลือดที่ไหลเวียนอยู่ภายในก็ทำให้เกิดการโป่งพองขึ้นเป็นกระเปาะออกจากผนังหลอดเลือดข้างเคียง ซึ่งอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการแตกและทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่อันตรายมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

นายแพทย์อรรถวิทย์ เจริญศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง แท้จริงแล้วพบได้ไม่บ่อยนัก จากการศึกษาพบว่ามีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 1-5 ของประชากรทั่วไป และในกลุ่มนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีการแตกของหลอดเลือดเกิดขึ้น แต่ความอันตรายของภาวะนี้อยู่ที่ความรุนแรงของโรคซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 1 ใน 3 หากเกิดการแตกของหลอดเลือดโป่งพองขึ้นมา

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เกิดจากอะไร

ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือ Cerebral Aneurysm เกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดในสมองบางตำแหน่ง มีลักษณะบางกว่าบริเวณอื่น เมื่อต้องรับมือกับความดันในหลอดเลือดอยู่เรื่อย ๆ อาจส่งผลให้บริเวณที่บางนั้น โป่งพองเป็นกระเปาะ และอาจแตกออก ส่งผลร้ายแรงต่อสมองในเวลาใดเวลาหนึ่ง และไม่อาจทราบได้ว่าผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นจะแตกออกมาเมื่อไร

การจำแนกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผลให้เกิดการโป่งพองของหลอดเลือดสมองเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ปัจจัยที่สามารถแก้ไขหรือควบคุมได้ เช่น ความดันโลหิตสูงและการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้เป็นปัจจัยสำคัญมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการทำให้เกิดอาการโป่งพองและขยายขนาดของหลอดเลือด ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแตกของหลอดเลือดมากขึ้น ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรค อาทิ ไขมันในเลือดสูง การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาหรือสารเสพติด รวมถึงประวัติการบาดเจ็บบริเวณสมองหรือหลอดเลือดสมองด้วย ซึ่งในกลุ่มนี้ ถือเป็นปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือควบคุม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวได้

2. ปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ กลุ่มนี้ อาจมีปัจจัยมาจาก อายุ เพศโดยเฉพาะเพศหญิง ประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยเฉพาะญาติสายตรง หรือ โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ (fibromuscular dysplasia, Ehlers-Danlos syndrome, Marfan syndrome) และโรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease)”

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีอาการเตือนหรือไม่

ในรายที่มีสัญญาณเตือน จะแสดงอาการผิดปกติ เช่น บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะเตือนนำมาก่อนเกิดการแตกของหลอดเลือดสมอง (sentinel headache) ซึ่งเกิดจากการเริ่มปริแตกเล็กน้อยของหลอดเลือด มักนำมาก่อนเกิดการแตกจริงไม่นาน หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทัน อาจช่วยป้องกันหรือลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ บางรายอาจพบอาการแสดงทางระบบประสาทที่เกิดจากการกดเบียดของหลอดเลือดโป่งพองที่มีขนาดใหญ่ได้ เช่น อาการมองภาพซ้อน หรือหนังตาตกจากการกดเบียดเส้นประสาทใบหน้าคู่ที่ 3 แต่จะเป็นส่วนน้อย

อย่างไรก็ดี โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการ จนกระทั่งเกิดการแตกขึ้นและทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมาก นอกจากนี้เลือดที่ออกจะทำให้เกิดการอักเสบและบวมของสมองโดยรอบ ส่งผลให้เกิดอาการซึม หมดสติ หรือชัก ผู้ป่วยบางรายอาจมีระบบการหายใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดสมองโป่งพอง มากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่

⦁ มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองหรือประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง (first degree relative) ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป

⦁ มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองหรือประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง 1 ราย ร่วมกับมีโรคหรือภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เช่น โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease)

⦁ ผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคที่สัมพันธ์กับการมีหลอดเลือดสมองโป่งพอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบแคบ (coarctation of aorta) หรือมีภาวะลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดชนิด bicuspid aortic valve

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง การวินิจฉัย

การวินิจฉัยภาวะนี้จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางรังสีวิทยา โดยการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (computer tomography; CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging; MRI) เพื่อมองหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอ หากไม่พบความผิดปกติชัดเจนแต่ยังสงสัยภาวะนี้อยู่ แพทย์จะทำการตรวจโดยใช้สายสวนทางหลอดเลือดแดง (cerebral angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอย่างละเอียดอีกครั้ง

โดยปกติแล้วจะทำการตรวจเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงที่น่าสงสัยภาวะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage) ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทุกราย ซึ่ง

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและไม่มีอาการผิดปกติ ไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะนี้

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง วิธีรักษา

สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้น จะทำโดยแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมประสาท ซึ่งมีทั้งวิธีการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดแดง ใส่ขดลวดเพื่ออุดหลอดเลือดส่วนที่โป่งพอง และวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ทั้งนี้การเลือกว่าจะให้การรักษาด้วยวิธีการใดนั้น แพทย์จะตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งอาการของผู้ป่วยในขณะนั้น ลักษณะรูปร่าง ขนาด รวมถึงตำแหน่งของหลอดเลือดที่โป่งพองด้วย

วิธีป้องกันการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง

1. รักษาภาวะความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยการกินยาและพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
2. ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็มจัด และไขมันสูง
3. งดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5. หากเป็นผู้ที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่แล้ว แนะนำให้ติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และสังเกตอาการผิดปกติของตนเองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะที่รุนแรงและอาการผิดปกติทางระบบประสาท

“อันตรายของโรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกอันมาจากปัจจัยหรือสาเหตุหลักจากโรคประจำตัวตลอดจนปัจจัยทางพันธุกรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ล้วนส่งผลให้เกิดทุพพลภาพหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทั้งสิ้น และเนื่องจากวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีความเสี่ยงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการรักษาได้

โดยทั่วไปแพทย์จึงแนะนำให้ทำการรักษา ในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมักจะทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองแต่ยังไม่มีอาการ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพบจากการตรวจคัดกรอง หรือพบโดยบังเอิญจากการตรวจโรคทางสมองอื่น ในกรณีนี้แพทย์และผู้ป่วยจำเป็นต้องตัดสินใจร่วมกันโดยพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการรักษากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยหลักการทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้รักษาก็ต่อเมื่อความเสี่ยงของการแตกของหลอดเลือดโป่งพองสูงกว่าความเสี่ยงที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษานั่นเอง” นายแพทย์อรรถวิทย์ ทิ้งท้าย

สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุอื่นๆ และแนวทางการรักษาเพิ่มเติมได้ทาง www.praram9.com/cerebral-aneurysm/ ตลอดจนสามารถเข้ารับบริการและขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลพระรามเก้า โทร. 1270 หรือ www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และทาง Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital

นายแพทย์อรรถวิทย์ เจริญศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลพระรามเก้า

Advertisement

แชร์
"หลอดเลือดสมองโป่งพอง"  มรดก "โรค" ญาติสายตรง ภัยเงียบไม่แสดงอาการ