สงกรานต์ทั้งที อยากเปียก อยากสาด! แต่ดันตรงกับ "วันนั้นของเดือน" เล่นน้ำจะอันตรายต่อสุขภาพไหม ควรเซฟตัวเองยังไง
สงกรานต์อยากเปียก แต่เป็นประจำเดือน เล่นน้ำจะอันตรายต่อสุขภาพไหม อันตรายต่อสุขภาพด้านใดบ้าง ควรเซฟตัวเองยังไง ถ้าหากอยากเล่นน้ำจริงๆ
หลักๆ แล้วการเล่นน้ำขณะมีประจำเดือน ไม่ถือว่าอันตรายโดยตรงสำหรับผู้หญิงที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการ ที่ควรรู้เพื่อจะได้ดูแลตัวเองให้ปลอดภัยมากที่สุด
1. ติดเชื้อในช่องคลอดหรือทางเดินปัสสาวะ
น้ำที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะน้ำตามถังหรือที่มีคนเล่นกันเยอะๆ อาจมีเชื้อโรค เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อรา หากซึมเข้าสู่ช่องคลอดขณะมีประจำเดือน ซึ่งเยื่อบุภายในจะบอบบางและอักเสบง่ายกว่าปกติ
2. การระคายเคืองหรือแพ้ผ้าอนามัย/ผลิตภัณฑ์ที่เปียกน้ำ
ถ้าใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่นแล้วเปียกน้ำ อาจเกิดการอับชื้นหรือผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้นระคายเคืองได้ง่าย
3. เสี่ยงต่อภาวะปวดท้องน้อยเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย เช่น การเล่นน้ำเย็นขณะมีประจำเดือน อาจกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวแรงขึ้น ทำให้ปวดท้องมากขึ้นได้ในบางราย
1. ใช้ "ผ้าอนามัยแบบสอด" หรือ "ถ้วยอนามัย"
จะช่วยป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ภายในช่องคลอด และเก็บประจำเดือนได้อย่างปลอดภัยโดยไม่รั่วซึม เลือกขนาดพอดีตัวและใส่อย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงการระคายเคือง และควรเปลี่ยน ทุก 4–6 ชั่วโมง
เน้นย้ำ! อย่าใส่นานเกิน 8 ชั่วโมง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ Toxic Shock Syndrome (TSS) เป็นกลุ่มอาการจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงเฉียบพลัน เสี่ยงเสียชีวิตได้ (แม้จะพบได้น้อยมาก แต่ก็ยังควรระวัง)
2. หลีกเลี่ยงการใส่แผ่นผ้าอนามัยทั่วไปลงเล่นน้ำ เพราะไม่กันน้ำ เปียกง่าย และอาจทำให้เกิดการหมักหมม
3. อาบน้ำและทำความสะอาดทันทีหลังเล่นน้ำ
4. ล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำสะอาด ล้างอย่างนุ่มนวล ใส่ใจ (ไม่ควรสวนล้างภายใน) และเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อนามัยทันที
5. งดเล่นน้ำนานเกินไป ถ้ามีอาการปวดท้องมากผิดปกติ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดหน่วง ปวดบีบมากผิดปกติ ให้พักและเลี่ยงการลงน้ำ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลและข้อพึงระวังว่า ยาเลื่อนประจำเดือน เป็นยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญคือ นอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) ขนาด 5 มิลลิกรัม เป็นฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน ออกฤทธิ์มีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน (จนกว่าจะหยุดยา) จึงมีข้อบ่งใช้ในการเลื่อนประจำเดือน
คำแนะนำเกี่ยวกับการกินยาเลื่อนประจำเดือน
1. ใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
2. ควรเริ่มกินอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่จะมีประจำเดือน
3. การกินยาก่อนมีประจำเดือนแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือน อาจมีผลช่วยลดปริมาณ และจำนวนวันของการมีประจำเดือน แต่ประจำเดือนอาจมาซ้ำได้ในช่วงเวลาใกล้ ๆ หลังหยุดยาได้
4. การใช้ยานานๆ หรือบ่อยมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือไม่มาเลย นอกจากนี้ อาจพบอาการปวดหัว คัดเต้านม คลื่นไส้ เวียนศีรษะได้
5. ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
6. ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีประวัติเป็น โรคหลอดเลือดอุดตัน
7. ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับขั้นรุนแรง
8. ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม
Advertisement