วันอาสาฬหบูชา 2567 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมที่ชาวพุทธนิยมทำในวันนี้ ทำบุญอย่างไรให้ได้อานิสงส์ เช็กได้เลย!
วันอาสาฬหบูชา 2567 วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนากัณฑ์แรก ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ซึ่งการแสดงธรรมในครั้งนั้น ทำให้เกิดความเสื่อมใส กลายเป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" เป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของอินเดีย ตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 มักตรงกับเดือนกรกฎาคม หรือเดือนสิงหาคม
เมื่อวันอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี ชาวพุทธส่วนใหญ่จึงประกอบพิธีสักการบูชา แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ พิธีหลวง, พิธีราษฎร์ และ พิธีสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนิยมเข้าวัดทำบุญตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนที่จะมีการเวียนเทียนในช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป จนถึงเวลา 20.00 น.
วันอาสาฬหบูชา 2567 กิจกรรมที่ชาวพุทธนิยมทำ
1. ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร ถวายดอกไม้ธูปเทียน โดยพุทธศาสนิกชนนิยมทำในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น เช่น ไปวัดรับศีล ถวายสังฆทาน งดเว้นการทำบาป หรือฟังพระธรรมเทศนา
2. เข้าวัด ฟังธรรม เวียนเทียน
หลังการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมอยู่ที่วัดต่อ เพื่อฟังพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา การบำเพ็ญบุญกุศลความดี
3. ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
สิ่งที่ร่วมกันทำส่วนใหญ่ในวันอาสาฬหบูชา มักจะเป็นการความสะอาดวัด สถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ร่วมบำเพ็ญกุศล สถานที่ปฏิบัติธรรม ปลูกต้นไม้ภายในวัด รวมไปถึงการทำอาหาร ทำโรงทานในช่วงกลางวัน
วันอาสาฬหบูชา ต้องเวียนเทียนหรือไม่ ?
วันอาสาฬหบูชา ในทุกปีจะมีพิธีกรรมที่นิยมกระทำในวันนี้คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา สวดมนต์ รวมถึงเวียนเทียน เพื่อเป็นหนึ่งในการสืบทอดประเพณีอันดีงาม น้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยชะล้างจิตใจ เพื่อการดำเนินชีวิตต่อไปได้ในปัจจุบัน
อานิสงส์ของการเวียนเทียน
- ทำให้จิตใจของผู้ที่เวียนเทียนเบิกบาน เกิดความยินดีกับตนเอง
- ทำให้ผู้ที่เวียนเทียน จิตใจสงบบริสุทธิ์ เกิดปัญญา จนกลายเป็นสมาธิ
- ทำให้ผู้ที่เวียนเทียน เข้าใจในวัฏจักรของการเวียนว่ายตายเกิด
- ทำให้จิตใจของผู้ที่เวียนเทียน หลุดพ้นจากสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
ข้อควรระวังในวันอาสาฬหบูชา
- ไม่ควรทำบาปในวันอาสาฬหบูชา : ตามคำสอนได้ระบุว่า วันนี้คือวันแห่งการงดทำบาป เพื่อเสริมมงคลชีวิต การละเลยการทำบุญ ตักบาตร ไม่รักษาศีล ถือเป็นการทำบาป
- ไม่ควรหลงหรือมอมเมา ต่อสิ่งยั่วยุอื่น : การหลงไปกับชีวิตที่ลุ่มหลง มัวเมาต่อสิ่งยั่วยุ แสง สี เสียง ในวันนี้ก่อให้เกิดเป็นกิเลส ขาดสติ ทำในสิ่งที่ขัดต่อจารีตประเพณี หรือผิดกฎหมาย
- ไม่ควรทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน : วันอาสาฬหบูชาถือว่าเป็นวันพระ การรักษาศีล 5 ตลอดทั้งวัน ถือเป็นการสร้างอานิสงส์และผลบุญให้ตนเอง ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
นอกจากนี้ วันอาสาฬหบูชา 2567 ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ การละเว้นในอบายมุข การทำทาน ทำความดีต่อผู้อื่น เมตตาต่อผู้อื่น หรือการปฏิบัติธรรมตลอดทั้งวัน ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเสริมสร้างสิริมงคลที่ดีให้ตัวเองในวันพระ
ที่มา : มายโหรา (myhora.com) / ธรรมะไทย (www.dhammathai.org) / สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (onab.go.th)