เปิดวิธีการแจ้งความออนไลน์ แค่ 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ thaipoliceonline นอกเหนือจากนั้นต้องระวัง เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพซ้ำซ้อนอีกรอบ ต้องทำยังไง ดูเลย!
มิจฉาชีพในโลกออนไลน์ กลายเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ทำให้หลายคน ไม่กล้าที่จะใช้งานแอปพลิเคชันแปลก ๆ แต่ถึงแม้จะระวังตัวให้มากแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ดี นอกจากนี้ยังมีการทำงานเป็นขบวนการที่หนักกว่าเดิม
เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพใช้กลยุทธ์ใหม่ ด้วยการเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าเป็นการรับแจ้งความ รับเรื่องร้องเรียนจากเหยื่อคดีออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เหยื่อมักถูกล่อลวงซ้ำ จากการถูกยิงแอด หรือการบูสต์โฆษณาเกลื่อนเฟซบุ๊ก ถึงแม้ตำรวจไซเบอร์จะทำเรื่องขอปิดกั้นผ่าน Meta ควบคู่ไปกับการประกาศเตือน แต่ก็ยังมีกลยุทธ์นี้วนซ้ำหลายต่อหลายครั้ง
โดยส่วนใหญ่แล้ว มิจฉาชีพกลุ่มนี้อาศัยช่องโหว่ จากการประชาสัมพันธ์เรื่องการ แจ้งความออนไลน์ โดยมิจฉาชีพกลุ่มนี้มักหาเยื่อจากผู้เสียหายคดีออนไลน์ แล้วหลอกลวงซ้ำซ้อน ด้วยการแอบอ้างรับแจ้งความ รับช่วยเหลือ รับเรื่องร้องเรียน โดยเรียกเก็บเงินซ้ำจากเหยื่อ พร้อมกับอ้างว่าเป็นการจ่าย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือทางคดี
เพจแจ้งความออนไลน์ เป็นของปลอม
ตำรวจไซเบอร์ ได้ออกประกาศเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อข้อความที่แอบอ้าง เป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในเพจที่ชื่อว่า "ศูนย์รับเรื่อง-ลงทะเบียนและตรวจสอบ เพื่อรับเงินคืนจากคดีออนไลน์" เป็นเพจปลอม โดยคลิปสั้นหรือโฑสต์ต่าง ๆ เป็นการแอบอ้างด้วยการตัดต่อคลิปจากข่าวที่สื่อมวลชนเผยแพร่ นำมาเพิ่มข้อความ เพื่อหลอกผู้เสียหายจากคดีฉ้อโกง ให้หลงเชื่อส่งข้อมูลและโอนเงินให้อีกครั้ง ซึ่ง ปปง. ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่มีการเปิดให้บริการนี้ทางช่องออนไลน์แต่อย่างใด
ช่องทางยื่นคำร้องคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย
สำนักงาน ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายทุกรายคดี เพียงแค่ 3 ช่องทางเท่านั้น ไม่เคยมีการเปิดให้ลงทะเบียนยื่นคำร้อง ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง นอกจากนี้ ผู้เสียหายจากคดีธุรกรรมทางออนไลน์ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือ โทร. 02-219-3600 โดยช่องทางที่เปิดให้ยื่นคำร้องกำหนดไว้ดังนี้
- ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
- ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยจ่าหน้าซองถึง "สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330"
- ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (ดูได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษา)
แจ้งความออนไลน์ ทำได้แค่ในเว็บไซต์ thaipoliceonline
การแจ้งความออนไลน์ ที่สามารถทำได้ในเว็บไซต์ thaipoliceonline จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย จากการตกเป็นเหยื่อในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือเฉพาะผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้โอนเงินเท่านั้น โดยสามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 081-866-3000 ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ มีเพียงแชทบอท @police1441 ไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งคอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
ขั้นตอนแจ้งความออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ thaipoliceonline
ขั้นที่ 1 ลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งาน
สามารเข้าใช้บริการแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/ โดยเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์แล้ว จะต้องเข้าสู่ระบบหรือทำการลงทะเบียนก่อน โดยการสมัครเข้าใช้งาน ต้องได้รับข้อความยืนยันตัวตนด้วย OPT ที่เป็นเบอร์เดียวกันกับการลงทะเบียน หลังจากการลงทะเบียนเสร็จสิ้น จึงจะสามารถเข้าเลือกรายละเอียดส่วนการแจ้งความออนไลน์ได้
ขั้นที่ 2 เข้าสู่ระบบเพื่อแจ้งความ
หลังจากลงทะเบียนต้องเข้าสู่ระบบอีกครั้ง จากนั้นระบบจะพาไปสู่หน้ากรอกข้อมูล โดยเป็นการใส่รายละเอียดว่า มีการโอนเงินเป็นจำนวนเท่าใด บัญชีปลายทางที่โอนเงินไป เลขบัญชีที่โอนเงินไป รวมไปถึงการกรอกข้อมูลอื่นที่มี ซึ่งหลังจากการแจ้งความออนไลน์นี้ ต้องติดต่อธนาคารต้นทาง หมายถึงธนาคารของบัญชีม้าที่เราโอนเงินไป เพื่อขอเลขอ้างอิงในการกรอกรายละเอียด ซึ่งเลขนี้มีอายุการใช้ได้ที่จำกัด หากต้องแจ้งความควรเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย
หลังจากการแจ้งความผ่านทางเว็บไซต์ จะได้รับข้อความยืนยันการนัดหมาย พร้อมทั้งได้รับการติดต่อจากแอดมินส่วนกลาง จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเป็นการระบุว่าได้รับข้อมูลการแจ้งความ พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นจะได้รับข้อความยืนยันการนัดหมาย เพื่อให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจที่สะดวก เพื่อเป็นการให้ปากคำกับเจ้าพนักงาน หลังจากนั้นจะได้รับเอกสารให้ไปติดต่อธนาคาร เมื่อเรียบร้อยแล้วเจ้าหน้าที่จะนัดหมายมาสืบคดีอีกครั้ง พร้อมทั้งติดตามการดำเนินคดี
หมายเหตุสำคัญ : โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้เสียหายจากคดีฉ้อโกงทางออนไลน์ หรือเหยื่อของมิจฉาชีพ จะไม่ได้รับเงินที่เสียไปคืน เพราะบัญชีที่โอนไปเป็นบัญชีม้า ทำได้เพียงระงับบัญชีเพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบคดีต่อเท่านั้น หากบางรายสามารถตามสืบและพบเจ้าของบัญชีม้า ผู้ที่เป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว จำเป็นต้องชดใช้ค่าเสียหายจากเหยื่อ
ขั้นที่ 3 ติดตามสถานะคดีความ
สำหรับผู้เสียหายจากการทำธุรกรรมออนไลน์ สามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้ด้วยตนเอง ด้วยการเข้าสู่ระบบผ่านทางเว็บไซต์ โดยจะมีการอัปเดตความคืบหน้าชัดเจนว่า ตอนนี้คดีดำเนินไปถึงขั้นตอนใด หากคดีสิ้นสุดหรือมีการคืบหน้าใด จะเห็นได้จากเว็บไซต์ทันที
ทั้งนี้การตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เป็นการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนใหญ่จริง มีบางคนที่อาจได้รับเงินคืน (ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับก็ตาม) แต่เพื่อไม่ให้มีเหยื่อเพิ่มไปมากกว่านี้ การเข้าแจ้งความหรือแจ้งดำเนินคดีในฐานะผู้เสียหาย ย่อมเป็นสิ่งที่ปกป้องตัวเองได้มากกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการป้องกันตัวเอง ที่อาจตกเป็นหนึ่งในขบวนการได้ในอนาคต เพราะเหยื่อบางคนอาจถูกปลอมแปลงเอกสารเพื่อนำไปใช้ต่อ หรือปลอมแปลงบัญชีส่วนบุคคล ถูกนำรูปไปใช้แอบอ้างอีกทอดได้ จากการเป็นเหยื่อ อาจทำให้ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยได้
ที่มา : thaipoliceonline