หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิส เพิ่มขึ้น 5 เท่า แนวโน้มเสี่ยงเอชไอวี 5-9 เท่า เรื่องนี้สะท้อนอะไร?

8 ส.ค. 67

กรมควบคุมโรค แนะ แม่มือใหม่ควรฝากครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เพื่อคัดกรองหาเชื้อ "ซิฟิลิส" หลังพบสถานการณ์ติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปี 2561 โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 5-9 เท่า 

เมื่อคนกำลังเป็น แม่ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง จากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค ที่เผยถึงสถานการณ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ โรคซิฟิลิส ที่พบอัตราป่วยในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ค. 2567) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2561 (จากอัตราป่วย 11 เพิ่มเป็น 28.1 ต่อประชากรแสนคน) เพิ่มขึ้น 3 เท่าในกลุ่มเยาวชน (จากอัตราป่วย 27.9 เพิ่มเป็น 91.2 ต่อประชากรแสนคน)

และสถานการณ์การติดเชื้อซิฟิลิสใน หญิงตั้งครรภ์ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปี 2561 (จากร้อยละ 0.26 เพิ่มเป็น 1.30) ซึ่งอัตราป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 5-9 เท่า

เรื่องนี้สะท้อนอะไร...?

ซิฟิลิสติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ในกรณี หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไม่ได้รับการรักษาเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์มาก เนื่องจากเชื้อสามารถผ่านรก ไปยังทารก สามารถติดต่อไปยังทารกได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิส เพิ่มขึ้น 5 เท่า แนวโน้มเสี่ยงเอชไอวี 5-9 เท่า เรื่องนี้สะท้อนอะไร?

ผลของการติดเชื้อในครรภ์

1. อาจทำให้แท้ง
2. คลอดก่อนกำหนด
3. ทารกโตช้าในครรภ์
4. ทารกพิการแต่กำเนิด
5. ทารกบวมน้ำ (fetal hydrops)
6. อาจร้ายแรงถึงเสียชีวิตระหว่างคลอดได้

ซิฟิลิส อาการโรคในระยะต่างๆ

ซิฟิลิสระยะที่ 1 หลังจากได้รับเชื้อในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก ลักษณะเป็นแผลสะอาดไม่เจ็บ บริเวณขอบแผลแข็งคล้ายกระดุม

ซิฟิลิสระยะที่ 2 จะมีผื่นแดงตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มักไม่คัน มีผื่นในช่องปาก ผมร่วง ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นยังอยู่ในร่างกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติ ที่สมอง รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

หญิงตั้งครรภ์มีเซ็กส์ต้องเซฟ ป้องกันตนเองและลูกน้อยจากโรค

ไม่เพียงเฉพาะหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ทุกคนควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อป้องกันซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากไม่มีอาการ จะทราบว่าติดเชื้อซิฟิลิสก็ต่อเมื่อไปตรวจเลือดเท่านั้น ถ้ามีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง (แม้ไม่มีอาการ) แนะนำให้รีบมาตรวจคัดกรองและเข้าสู่การรักษา เพราะโรคซิฟิลิสรักษาได้ หายขาด ชวนคู่มาตรวจและรักษาอย่างต่อเนื่อง

ระหว่างรักษา ควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

หญิงตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เพื่อคัดกรองหาเชื้อซิฟิลิส รู้เร็ว รักษาเร็ว หายเร็ว

กรณีคุณแม่มือใหม่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว ฝากครรภ์ครั้งแรกไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองซิฟิลิส หากติดเชื้อจะได้รับการรักษาทันที ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ทารกในครรภ์
ทั้งนี้ คู่ของหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสพร้อมกัน โดยสามารถตรวจคัดกรองได้ที่หน่วยบริการสุขภาพทุกแห่ง ตามสิทธิประโยชน์ สปสช.

กรณีต้องการคำปรึกษา สามารถสอบถามไปได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 02 590 3217 , 02 590 3219

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด

หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิส เพิ่มขึ้น 5 เท่า แนวโน้มเสี่ยงเอชไอวี 5-9 เท่า เรื่องนี้สะท้อนอะไร?

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด