เหล้าเถื่อน เมทานอล อันตรายจากเหล้าต้นทุนต่ำ ยิ่งดื่มยิ่งเสี่ยง

26 ส.ค. 67

ทำความรู้จัก เหล้าเถื่อน เมทานอล เหล้าต้นทุนต่ำสุดอันตราย หากดื่มโดยไม่ระวังจะเป็นมหันตภัยร้ายคร่าชีวิต อ้างสรรพคุณชูกำลัง แต่ทำอันตรายให้ผู้ดื่ม

เหล้าเถื่อน มหันตภัยร้ายคร่าชีวิต ดื่มเหล้าเถื่อน = ตาย จากสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2562 พบผู้ป่วยทั้งหมด 573 ราย ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเมทานอลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลสุขภาพทั้งหมด 43 แฟ้ม พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มากกว่าเพศหญิงถึงสองเท่า อาการที่พบในผู้ป่วยจากการดื่มเหล้าเถื่อน ที่พบได้มาที่สุดคือ สับสน คลื่นไส้ และหมดสติ สำหรับผู้ที่รับการรักษาไม่ทัน อาจทำให้เสียชีวิตได้

สุราเถื่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ผลิตต้มและกลั่นเองโดยไม่มีมาตรฐาน พบบ่อยในยาดองเหล้า ซึ่งชาวบ้านคนทำอาจนำสารแปลกปลอมมาผสม เพื่ออ้างสรรพคุณด้านชูกำลังหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ อาทิ พิษจากสัตว์มีพิษจำพวกแมงป่อง สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีกำจัดแมลง ผงซักฟอก เป็นต้น ซึ่งเหล้าเถื่อนที่มีการผสมแอลกอฮอล์ชนิดที่เป็นพิษ หรือราคาต้นทุนต่ำ จะถูกเรียกว่า เมทิลแอลกอฮอล์ หรือ เมทานอล

pic13

 

เมทานอล คืออะไร ?

เมทานอล เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ไม่มีสี ที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายอินทรีย์ เป็นเชื้อเพลิง หรือสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติก ยา และสารประกอบอินทรีย์อื่น เมทานอลเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ รับประทาน และการสัมผัสทางผิวหนัง เมื่อเมทานอลเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว สูญเสียการมองเห็น ปวดหัว เวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย หากร่างกายได้รับเมทานอลในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เลือกเป็นกรด เกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อ่านต่อ : เมทานอลคืออะไร ทำไมมักพบในเหล้าเถื่อน-ยาดอง อันตรายถึงตายได้

 pic16
 

วัตถุมีพิษที่พบในเหล้าเถื่อน
โดยทั่วไปแล้ววัตถุมีพิษ ที่มักพบในเหล้าเถื่อน โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • วัตถุมีพิษที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากกระบวนการผลิต : เช่น ฟูเซลอย, ไรโตรซามีน, ไอโซเอมิลแอลกอฮอล์, ไอโซบิวธิล แอลกอฮอล์ และเอ็นโปรปิแอลกอฮอล์
  • วัตถุมีพิษที่ผู้ผลิตจงใจผสม หรือเติมระหว่างกระบวนการผลิต : เช่น ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และผงซักฟอก เป็นต้น โดยเป็นการกระทำที่หวังผลประโยชน์ ไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค

 

ปริมาณเหล้าเถื่อน เมทานอล ที่เข้าสู่ร่างกายกับผลที่ตามมา

  • 30 มิลลิกรัม : สนุกสนาน หรือร่างเริงกว่าปกติ การยับยั้งชั่งใจลดลง
  • 50 มิลลิกรัม : การมองเห็นลดลง ความสามารถในการควบคุมร่างกายช้าลง
  • 100 มิลลิกรัม : คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ พูดไม่รู้เรื่อง การตอบสนองและการตัดสินใจช้าลง
  • 200 มิลลิกรัม : สูญเสียความจำบางส่วน เศร้า อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
  • 300 มิลลิกรัม : มองไม่ชัด มึนงง ควบคุมสติไม่ได้ หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ
  • 400 มิลลิกรัม : ตาพร่า ขาดสติโดยสมบูรณ์ หมดสติ อาจถึงขั้นเสียชีวิต

หมายเหตุ ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย แตกต่างหรือเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเพศ ส่วนสูง และน้ำหนัก

 

สถานการณ์ผู้ป่วยได้รับสารพิษเมทานอล
จากข้อมูลกรมควบคุมโรค ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2567 มีจำนวนผู้ป่วยรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 21 ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยแบ่งความรุนแรงเป็นระดับสีแดง 13 ราย ระดับสีเขียว 4 ราย ระดับสีเหลือง 3 ราย และระดับสีดำ 1 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทั้งหมด 12 ราย ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟอกไต 17 ราย และผู้ป่วยที่ต้องได้รับการปั๊มหัวใจ 6 ราย

ลักษณะอาการผู้ป่วยทางการระบาด

  • ภาวะเลือดเป็นกรด
  • หายใจเหนื่อย
  • ภาวะไตวาย
  • ตาพร่ามัว
  • ชัก
  • หมดสติ

pic12

 

สังเกตอาการหลังดื่ม เหล้าเถื่อน เมทานอล
กรมการแพทย์ได้ออกประกาศเตือน ผู้ที่ดื่มเหล้าเถื่อน เหล้าไม่ได้มาตรฐาน เหล้าผลิตเอง ยาดองเหล้า ยาดอง ต้องระมัดระวังตนเอง พร้อมทั้งต้องสังเกตคนใกล้ชิด หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้และเร็วที่สุด โดยมีอาการดังต่อไปนี้

  1. ช่วงแรกจะมีอาการมึนเมาทั่วไป
  2. มึนเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง
  3. หายใจเร็ว หอบ เหนื่อย จากภาวะเลือดเป็นกรด
  4. ตามองเห็นผิดปกติ 2 ข้าง เริ่มจากเห็นแสงสีฝ้าขาว ไปจนถึงมืดบอด มองไม่เห็น
  5. มีอาการชักเกร็ง มีอาการกระตุกทั้งตัว
  6. มีอาการซึม ปลุกไม่ตอบ ปลุกไม่ตื่น ไม่รู้สึกตัว

ทั้งนี้ หากผลตรวจเลือดหลังจากการดื่มเหล้าเบื้องต้น พบค่าเลือดเป็นกรดโดยไม่มีสาเหตุ และมีอาการอื่นรุนแรงขึ้น ร่างกายจะเกิดภาวะทำงานล้มเหลว อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมาได้ หากได้รับการรักษา จะได้รับเพียงการรักษาโดยการประคับประคอง อาจร่วมกับการใช้เอทานอลรักษา ซึ่งไม่ได้เป็นการต้านพิษโดยตรง แต่เป็นการชะลอการเกิดพิษ สิ่งที่จะช่วยให้ปลอดภัยได้คือการล้างไต

pic11

 

หากไม่อยากเสี่ยงภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือถ้าจะให้ดีควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยก็จะปลอดภัย และดีต่อสุขภาพที่สุด

 

ที่มา : กรมควบคุมโรค (ddc.moph.go.th)

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด