Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ถอดบทเรียนเหล้าเถื่อนวังเวียง ปมเหล้าพิษที่อาเซียนแก้ไม่ตก
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ถอดบทเรียนเหล้าเถื่อนวังเวียง ปมเหล้าพิษที่อาเซียนแก้ไม่ตก

25 พ.ย. 67
15:26 น.
|
450
แชร์

สำนักข่าวบีบีซี รายงานการเสียชีวิตของ ฮอลลี โบวล์ส นักท่องเที่ยวสาวชาวออสเตรเลียวัย 19 ปี ขณะรักษาตัวอยู่ที่ประเทศไทย นับเป็นเหยื่อรายที่ 6 เซ่นปมเหล้าเถื่อนปนเปื้อนพิษเมทานอล ใน สปป. ลาว โดยก่อนหน้านี้ มีผู้เสียชีวิตเป็นหญิงชาวอังกฤษ 2 ราย หญิงชาวออสเตรเลีย 1 ราย ชายชาวอเมริกัน 1 ราย และชาวเดนมาร์ก 2 ราย 

ด้านรัฐบาลลาวได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์การสูญเสียในครั้งนี้ และแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต พร้อมเร่งดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย โดยได้สอบสวนเจ้าของที่พัก Nana Backpackers Hostel ในเมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โฮสเทลที่เชื่อว่านักท่องเที่ยวทั้งหมดได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปนเปื้อนเมทานอลจนนำมาซึ่งการเสียชีวิต แต่ยังไม่ได้มีการตั้งข้อหาแต่อย่างใด 

คืนสังสรรค์ สู่คืนสูญเสีย: เกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น?

ในวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวสาวสายแบ็กแพ็กเกอร์ชาวออสเตรเลีย 2 รายเข้าพักที่  Nana Backpackers Hostel  ซึ่งทางเจ้าของโฮสเทลเปิดเผยว่าได้เสิร์ฟแค่ “วอดก้าลาว” ฟรี เพื่อเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวสองสาว พร้อมกับแขกคนอื่น ๆ อีกเกือบ 100 คน ในคืนเดียวกันนั้น ทั้งคู่ได้ไปเที่ยวบาร์ที่อยู่ในเมืองเดียวกัน และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากบาร์แห่งนั้นด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะกลับมาพักที่โฮสเทล

ผู้จัดการโฮสเทลเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวหญิงชาวออสเตรเลียไม่ได้มาเช็กเอ้าท์ตามเวลาที่กำหนดในวันที่ 13 พฤศจิกายน และได้รับแจ้งจากเพื่อนของนักท่องเที่ยวว่าทั้งคู่มีอาการป่วย จึงจัดเตรียมรถตู้เพื่อส่งพวกเธอไปโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดการโฮสเทลไม่ได้รับแจ้งว่าแขกคนอื่น ๆ ที่ดื่มวอดก้าของโรงแรมเข้าไปมีอาการป่วยแต่อย่างใด

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ครอบครัวของสองนักท่องเที่ยวสาวชาวออสเตรเลียได้เดินทางมาดูแลทั้งคู่อย่างใกล้ชิด ขณะที่ถูกนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลในประเทศไทย แต่โชคร้ายที่แพทย์ไม่อาจยื้อชีวิตทั้งคู่ไว้ได้ รวมถึงนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ จากหลายประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย และยังมีผู้ที่ล้มป่วยอีกนับ 10 ราย โดยแพทย์ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเอาไว้ว่า  “ผู้เสียชีวิตมีภาวะสมองบวมเพราะมีระดับเมทานอลในร่างกายในระดับสูง” จึงทำให้สรุปได้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ดื่มสุราปนเปื้อนเมทานอล

“เหล้าเถื่อน” โศกนาฏกรรม เกิดซ้ำ ๆ ในอาเซียน

เหตุสลดที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯและรัฐบาลประเทศยุโรปได้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินมายังประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้ระมัดระวังในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่น เพราะอาจปนเปื้อน “เมทานอล” ที่เป็นพิษได้ เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน แต่มักพบการระบาดของเหล้าเถื่อนได้ทั้งในอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์

อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่พบการรายงานเรื่องเหล้าเถื่อนมากที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการจำหน่ายสุราเถื่อนในประเทศอย่างแพร่หลาย โดยก่อนหน้านี้ นักรณรงค์ชาวออสเตรเลียได้เปิดเฟสบุ๊กเพจ Don't Drink Spirits in Bali เพื่อเตือนภัยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในบาหลีระมัดระวังตัวมากขึ้น หากต้องการดื่มสุราท้องถิ่น นอกจากนี้ เพจของเขายังได้รับการรายงานเกี่ยวกับเหยื่อจากเหล้าเถื่อนในอาเซียนเกือบทุกสัปดาห์

ขณะที่ประเทศไทยเอง แม้จะมีรายงานนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจากเหล้าเถื่อนค่อนข้างต่ำ และไม่อยู่ในรายชื่อของประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง แต่เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ก็เกิดเหตุสลดที่มีการจำหน่ายยาดองผสมเมทานอล จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและล้มป่วยจำนวนมาก จึงน่าคิดว่า เหตุการณ์เช่นนี้ ทำไมจึงเกิดซ้ำ ๆ ในภูมิภาคอาเซียนของเรา หากย้อนดูถึงต้นตอแล้ว เหตุผลหลัก ๆ มีอยู่ 2 ประการ คือ ความต้องการลดต้นทุนของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย และกฏหมายควบคุมการผลิตสุราที่ค่อนข้างไม่รัดกุมนั่นเอง

  • ประเทศยากจน ลดต้นทุนสุรา

“เมทานอล” เป็นแอลกอฮอล์พิษที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและครัวเรือน เช่น ทินเนอร์ สารป้องกันการแข็งตัว และน้ำยาถ่ายเอกสาร แต่พ่อค้าหัวหมอที่ต้องการลดต้นทุนสุรา จะใช้เมทานอลผสมแทน แต่หากดื่มเข้าไป จะเกิดการทำลายระบบอวัยวะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นักการทูตตะวันตกรายหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน กล่าวกับ BBC ว่า "ผู้ผลิตที่ไร้ยางอายได้เติมเมทานอลลงในเครื่องดื่มของตนเพียงเพราะราคาถูกกว่า ซึ่งเมทานอลดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อทำให้เครื่องดื่มดูเข้มข้นขึ้น หรือทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คุณภาพต่ำดูแรงขึ้น"

  • กฎหมายที่ไม่เคร่งครัด

“เมทานอล” ไม่มีรสและไม่มีสี ดังนั้นจึงตรวจจับได้ยากในเครื่องดื่ม และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะไม่เห็นอาการของพิษทันที อาจต้องใช้เวลานานถึง 24 ชั่วโมงจึงจะเริ่มแสดงอาการป่วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง ซึ่งอาจทวีความรุนแรงกลายเป็นหายใจเร็วและมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ

สำหรับประเทศลาว และชาติอาเซียนอื่น ๆ นั้น การบังคับใช้กฎหมายยังถือว่าไม่รัดกุม เจ้าหน้าที่และทรัพยากรสำหรับการตรวจสอบมีไม่เพียงพอ รวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานอาหารและเครื่องดื่มด้านแอลกอฮอล์ไม่เข้มงวดมากนัก นอกจากนี้ ยังมีการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครัวเรือน เช่น การต้มเหล้าป่า การทำยาดอง ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

แชร์
ถอดบทเรียนเหล้าเถื่อนวังเวียง ปมเหล้าพิษที่อาเซียนแก้ไม่ตก