ภาวะหมดไฟในการทำงาน เหนื่อยจนหมดแรง หรือแค่ขี้เกียจทำงาน เช็กเลย

11 ก.ย. 67

ภาวะหมดไฟในการทำงาน Burnout Syndrome หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่ วัยทำงาน มักพบเจอแต่อาการทับซ้อนจนแยกไม่ออก ตอนนี้ฉันเหนื่อยจนหมดแรง หรือแค่ขี้เกียจทำงาน เช็กได้เลย!

กาย On-Site ใจ On-Bed หนึ่งในปัญหาที่ชาวออฟฟิศ วัยทำงาน ล้วนต้องเคยพบเจออยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย นับเป็นหนึ่งในปัญหาทางสุขภาพจิตที่แย่ ส่งผลโดยตรงต่อการทำงาน ทั้งนี้ด้วยความทับซ้อนทางการแสดงออก จนกลายเป็นคนที่ดูขี้เกียจทำงานในสายตาคนอื่น แต่ภาวะหมดไฟในการทำงาน ต่างเป็นอาการที่หลายคนอาจรู้สึกถึงบ้าง แต่ความหมายโดยแท้ของ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนขี้เกียจ เพียงแต่คุณต้องเข้าใจกับอาการและรีเช็กตัวเองก่อนเป็นอันแรก

 

ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร ?

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือ อาการหมดไฟในการทำงาน เป็นภาวะที่ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์อ่อนล้า ซึ่งเกิดจากความเครียดที่มากเกินไป และมีความเครียดต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักเกิดจากการแบกรับความเครียดที่มากเกินไป เป็นภาวะที่พบได้มากในคนวัยทำงาน คนที่มีความเครียดกับงาน จริงจังกับงานมากจนเกินไป สุดท้ายแล้วอาจจะเกิดภาวะหมดไฟได้ไม่รู้ตัว

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้บุคคลนั้นรู้สึกหมดแรงใจ เหนื่อยล้าทางอารมณ์ ขาดความรู้สึกน่าสนใจ หรือการจดจ่อลดลง ส่งผลให้ขาดแรงใจในการทำงาน ปล่อยให้การทำงานมันจบไปวัน ๆ แถมอยากปล่อยให้งานเป็นไปตามมีตามเกิด ด้วยความคิดที่ว่า "ไม่อยากจะสนใจอะไรแล้ว"

อาการหมดไฟในการทำงาน จะลดประสิทธิภาพและทำให้สูญเสียพลังงาน ทำให้รู้สึกสิ้นหวัง เหน็บแนม และขุ่นเคืองใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด อาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรจะให้กับการทำงานดังกล่าว จนในที่สุดคุณก็จะเกิดความรู้สึกที่ว่า “พอกันที” แต่ภาวะหมดไฟไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์เพียงเท่านี้

 

pic2

 

ผลกระทบต่อเนื่องจาก ภาวะหมดไฟในการทำงาน

เมื่อเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน ผลกระทบด้านลบอย่างต่อเนื่องคือ ความเหนื่อยหน่ายจะส่งไปยังทุกด้านของชีวิต ทุกด้านในที่นี้รวมไปถึงในแง่ความสัมพันธ์ ทั้งกับคนรัก เพื่อน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งในสังคมการทำงาน ด้วยชื่อที่บอกว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต จึงมีผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องในระยะยาวต่อ

กล่าวคือ การเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน จะทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอื่นเพิ่มขึ้น เช่น เป็นไข้ เป็นหวัด หรือภูมิตกได้ง่ายขึ้น หรือก่อเป็นสุขภาพจิตที่ใหญ่กว่าเดิม เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง และความน่ากลัวของภาวะหมดไฟนี้มีผลกระทบอื่นตามมาอีก หากรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในภาวะนี้ ควรรีบหาทางจัดการกับอาการดังกล่าวทันที

 

รีเช็กสภาพจิตใจ กำลังตกอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงานหรือไม่

  • ทุกครั้งหลังตื่นนอนทั้งที่ยังไม่มีเรื่องหรือทำกิจกรรม รู้สึกว่าวันนี้ดูเลวร้ายหรือไม่มีความสุข
  • การสนใจสิ่งอื่นรอบข้าง เป็นเรื่องสิ้นเปลืองพลังงาน ไม่มีแรงจูงใจที่อยากทำ
  • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา แม้จะลองนอนอิ่ม กินข้าวครบ 3 มื้อ
  • การทำงานกินเวลาการใช้ชีวิตส่วนตัว ไม่มีเวลามากพอจะไปสนใจอย่างอื่น
  • ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของการสิ่งที่เป็นกำลังใจ หรือไม่รู้สึกยินดียินร้ายหากเกิดอะไรขึ้น
  • ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง เจ็บป่วยบ่อยขึ้น รู้สึกเหมือนจะไม่สบายทางร่างกายตลอดเวลา
  • รู้สึกถึงการนอนไม่พอ การนอนเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว มีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนไม่พอ
  • รู้สึกเฉพาะในเรื่องที่ทำได้ไม่ดี รู้สึกถึงเฉพาะส่วนที่ล้มเหลวในทุกด้าน
  • ไม่รู้สึกถึงแรงซัพพอร์ต ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึก หรือรู้สึกเหมือนมีแค่ตัวคนเดียว

 

วิธีรีเช็กที่รวบรวมมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทดสอบเท่านั้น กว่าที่คนคนหนึ่งจะรู้สึกและก้าวมาเป็น ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome อาจใช้เวลานาน เพราะการที่จะรู้สึกหมดแรงได้ จำเป็นต้องจมอยู่ในความเครียดเป็นเวลานาน ความเหนื่อยล้าจะค่อย ๆ กัดกร่อนจนคุณไม่เหมือนเดิม

ทั้งนี้อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน ในตอนแรกอาจรู้สึกถึงความไม่เป็นไร แต่จากนั้นหากไม่เริ่มเยียวยา อาการต่าง ๆ จะเริ่มแย่ลง โดยสามารถวัดได้จากพฤติกรรมเสริมอื่นได้ดังนี้

  • ถอนตัวเองออกจากความรับผิดชอบเดิมที่เคยกระตือรือร้น
  • เริ่มเอาตัวเองออกจากสังคมรอบข้าง ไม่สุงสิงกับคนอื่นเท่าอดีต
  • ใช้เวลาในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานขึ้น เริ่มผลัดวันประกันพรุ่งบ่อย
  • มีพฤติกรรมกินจุกว่าปกติ หันไปใช้แอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือสารเสพติด
  • ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีเท่าเดิม ระบายความเครียดหรือหงุดหงิดใส่ผู้อื่น
  • ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ เริ่มขาดงานบ่อย มาสาย กลับก่อน

 

pic3

 

ความแตกต่างระหว่างความเครียด กับภาวะหมดไฟทำงาน

จริงอยู่ที่ภาวะหมดไฟในการทำงาน อาจมีผลกระทบต่อเนื่องมาจากความเครียดในการทำงาน แต่มีส่วนต่างที่เห็นได้ชัดเจน โโยทั่วไปแล้วคนที่ตกอยู่ในภาวะความเครียด จะรู้สึกว่าตัวเองยังสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ยังสามารถควบคุมและจัดการชีวิตตัวเองได้อยู่ และหลังจากที่เริ่มลงมือทำเพื่อแก้ความเครียดก็จะดีขึ้นในภายหลัง

แต่สำหรับผู้ที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น อาจรู้สึกถึงความว่างเปล่าในการพยายาม เหนื่อยล้าทางจิตใจมากกว่า ขาดแรงจูงใจในการลงมือ และไม่ได้สนใจถึงผลลัพธ์ที่ตามมา

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่อยู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน มักมองไม่เห็นความแตกต่างของการลงมือทำ หรือมองไม่เห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่หากลงมือทำ ไม่ว่าจะทำไปแล้วจะได้ดีหรือแย่ ขั้นหนักกว่านั้นคือแม้รู้ว่าทำแล้วจะดีขึ้น ก็ไม่ได้อยากที่จะทำหรือแก้ตัวเองให้หลุดพ้น สามารถจำแนกความแตกต่างได้ดังนี้

 

pic4

 

วิธีจัดการกับตัวเองเมื่ออยู่ในภาวะหมดไฟ

1. หันหน้าเข้าหาเซฟโซนของตัวเอง
อันดับแรกที่ควรทำในตอนที่เข้าสู่ช่วงหมดแรง คือการหันหน้าเข้าหาเซฟโซนของตัวเอง คุณอาจจะรู้สึกถึงการไม่มีแรงใจในการทำสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา หรือการพยายามใช้ชีวิต แต่เมื่อหันหาเซฟโซนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอดิเรกหรือหันหาคนสนิท ย่อมเป็นการระบายความเครียดที่ดีตามธรรมชาติของมนุษย์ อาจจะไม่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือให้แก้ปัญหา แต่แค่ได้พูดเล่าบอกกล่าว ก็ถือเป็นการหันหาเซฟโซนได้แล้ว

2. เลี่ยงการอยู่ร่วมกับคนที่มีพลังงานลบ
เมื่อคุณเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน การที่มีพลังงานลบอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา ไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิตเท่าไรนัก แถมยังยิ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อตัวคุณอีก โดยเฉพาะในด้านของอารมณ์และสุขภาพจิต เดิมทีคุณอาจประสบปัญหาอยู่แล้ว แต่เมื่ออยู่กับคนที่ Toxic จะยิ่งส่งผลให้คุณแย่ขึ้นไปอีก เป็นไปได้ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ในกรณีที่เป็นคนในออฟฟิศ ก็ให้ติดต่อแค่เฉพาะเรื่องงานที่สำคัญแทน

3. เปลี่ยนมุมมองการทำงานให้ต่างจากเดิม
บางครั้งการทำงานย่อมเต็มไปด้วยความเครียดหรือกดดัน ถือเป็นเรื่องที่ปกติในการทำงาน แต่ถ้าลองมองในมุมใหม่ ด้วยการพยายามมองหาคุณค่าของตัวคุณเอง จากงานที่ทำอยู่ อาจเป็นการตั้งกฎเกณฑ์เล็ก ๆ เพื่อให้มีแรงในการสู้ต่อบ้าง รวมไปถึงงานส่วนอื่นทั่วไป หรือลองหาข้อดีจากการทำงานดังกล่าว เพื่อหาจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง แล้วเอามาปรับใช้ให้เข้าทาง การเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ จะช่วยให้รู้สึกมีเป้าหมายในการควบคุมตัวเองได้อีกครั้ง

 

pic1

 

4. จัดลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่
จริงอยู่ที่อาการหมดไฟอาจทำให้เป้าหมายชีวิตคุณดูไร้ค่า แต่ถ้าลองเปลี่ยนการมองจุดหมายใหม่ เช่น ลองตั้งความหวัง หรือกำหนดเป้าหมาย ความฝัน และของขวัญให้กับตัวเอง ถือเป็นโอกาสที่ดีในการค้นพบด้านใหม่ของชีวิต การกระทำแบบนี้เป็นเสมือนการรีเช็กว่า คุณละเลยตัวเองอยู่หรือไม่ แล้วคุณควรที่จะจัดการกับอะไรก่อน การจะไปถึงเป้าหมายปลายทางได้ ต้องผ่าฟันอุปสรรคใดบ้าง

นอกจากนี้การจัดความสำคัญของชีวิตใหม่ อาจช่วยให้คุณได้เจอแนวทางในการพักผ่อนที่ดีกับตัวเองได้ อาจจะเริ่มต้นจากการกำหนดเกณฑ์การใช้ชีวิต หาเวลา Social Detox เป็นบางครั้ง ใช้วันหยุดที่เหลือในสัปดาห์หรือกดลาพักร้อนเพื่อไปเจอกิจกรรมใหม่ พร้อมทั้งปรับเวลานอนให้ดีกว่าเดิม

5. หาความสมดุลใหม่ของชีวิต
นอกจากความสนใจในด้านชีวิตส่วนตัว การมองหาความสดใสที่เติมพลังใจในด้านอื่น ก็เป็นเรื่องที่เหมาะเช่นกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า ไม่มีใครได้อะไรทุกอย่างสมหวังดั่งใจเสมอไป ถ้างานไม่ดีก็ลองโฟกัสที่ครอบครัว หรือโฟกัสที่การทำงานเพื่อไปจ่ายให้ความสุขส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมระยะสั้นหรือระยะยาว แต่ถ้าสามารถทำให้ลืมเรื่องภาระหนักหนาในเนื้องานไปได้ ก็ถือเป็นการปรับสมดุลชีวิต ทั้งนี้อะไรก็ตามที่ทำแล้วเรียกคืนความสุขให้กับใจตัวเองได้ ถือเป็นการดูแลและเยียวยาตัวเองได้ทั้งหมด

6. ผลลัพธ์ของชีวิตอาจเป็นการลาออกจากเซฟโซน
ไม่ว่างานนั้นจะให้ผลตอบแทนสูง แต่หากเป็นงานที่ทำให้รู้สึกหมดพลังในการลงมือทำ การลาออกจากงานเดิมที่ทำอยู่ อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็เป็นได้ การที่จมอยู่กับความรู้สึกเดิมอาจจะไม่มาก แต่ถ้าสะสมอย่างต่อเนื่องทุกวัน อาจจะกัดกร่อนความรู้สึกไปเรื่อย ๆ จนทำให้คุณหมดความมั่นใจในการทำงานได้

เมื่อรู้สึกไม่ตอบโจทย์และเหนื่อยที่จะพยายาม อาจจะลองหางานใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ทันทีก็ได้ แต่ค่อย ๆ หางานใหม่ไประหว่างทาง เมื่อเจอจังหวะหรือช่องที่เหมาะเมื่อไร ค่อยทำเรื่องย้ายหรือลาออกไปเจอสังคมใหม่แทน หรืออาจจะลาออกไปพักผ่อนก่อน เพื่อให้พลังไฟในการทำงานกลับมาอีกครั้ง

 

ทั้งนี้การตกอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน บางคนอาจใช้วิธีเยียวยาตัวเองด้วยการใช้แอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะพอควร เพราะการใช้บุหรี่ในตอนเครียด อาจช่วยให้ใจสงบได้ก็จริง แต่ก็เป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกกังวลเพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้แอลกอฮอล์ก็ลดความกังวลได้แค่ชั่วคราว หากมากเกินไปก็อาจได้ผลเสียมากกว่าเยียวยาจิตใจตัวเอง

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome อาจไม่ใช่อาการทางการเฉพาะที่ระบุลงในวงการแพทย์ หรือไม่อาจวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน แต่หากรู้สึกตัวถึงอาการที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตที่ทุ่มเทให้กับการทำงานได้เพิ่มขึ้น การรู้จักอาการดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในการกระตุ้นให้คุณกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

แต่หากลองฮีลใจด้วยตัวเอง หรือเช็กอาการเบื้องต้นแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิต หรือทำงานได้อย่างปกติสุข การได้ลองปรึกษากับนักจิตเวช จิตแพทย์ นักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็ถือเป็นการรักษาที่ดีเช่นกัน เพราะการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ว่าใครก็สามารถปรึกษาได้หากไม่เจอทางออก

 

ที่มา : HelpGuide (helpguide.org)

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด