Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
VKH หนึ่งในโรคจอประสาทตาอักเสบ ทำไมถึงสูญเสียการมองเห็น

VKH หนึ่งในโรคจอประสาทตาอักเสบ ทำไมถึงสูญเสียการมองเห็น

12 ก.ย. 67
19:13 น.
|
2.5K
แชร์

ทำความรู้จักกับ VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada Disease หนึ่งในโรคจอประสาทตาอักเสบ เพราะอะไร ทำไมถึงสูญเสียการมองเห็น

เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ การใช้ชีวิตล้วนต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 มาโดยตลอด การมองเห็นยิ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตต่อ แต่ถ้าเมื่อใดที่เกิดล้มป่วยด้วยโรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada Disease หนึ่งในโรคหายากที่มีผลต่อร่างกายหลายระบบ ส่งผลกระทบต่อดวงตาโดยตรง หนึ่งในโรคที่ทำให้จอประสาทตาอักเสบ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มองไม่เห็น การรู้จักสาเหตุและวิธีป้องกัน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

 

VKH คืออะไร
VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada Disease (โวกต์–โคยานางิ–ฮาราดะ) ตั้งตามชื่อของแพทย์ 3 คน ที่เป็นผู้อธิบายอาการโดยรวมของโรค VKN คือ อัลเฟรด โวกต์, โยชิโซ โคยานางิ และเอโนสุเกะ ฮาราดะ เป็นโรคอักเสบเรื้อรังที่หายาก ก่อให้เกิดอาการกับร่างกายหลายระบบ มักพบในชาวเอเชีย ชาวฮีสแปนิกและชาวพื้นเมืองอเมริกัน มากกว่าชาวยุโรป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายดาน โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 30-40 ปี

สาเหตุของโรค VKH ยังไม่ทราบแน่ชัด จากงานวิจัยส่วนใหญ่มีข้อมูลว่า เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจผิดและโจมตีเซลล์ที่มีเม็ดสีเมลานินของตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในส่วนต่าง ๆ คือ ดวงตา ผิวหนัง เส้นผม หูชั้นใน และระบบประสาทส่วนกลาง โดยในรายงานเคยพบว่ามีผู้ป่วยเป็นเด็ก อายุ 4 ขวบ อีกทั้งยังมีข้อสงสัยว่า "อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เช่นกัน"

 

อาการ VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada
อาการของโรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada เกิดขึ้นกับหลายระบบ จึงแสดงอาการที่หลากหลาย ทั้งทางตา, ผิวหนัง, หู และอาการอื่น

  • อาการทางตา

ผู้ป่วยโรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada ที่แสดงอาการทางตา มักจะมีอาการตาแดง เจ็บตา ปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพเป็นวงกลม มีจุดดำลอยในสายตา เห็นภาพซ้อน มีฝ้าบังตา กลัวแสง จอประสาทตาอักเสบ โดยมีอาการคล้ายกับต้อกระจกและต้อหิน

 

  • อาการทางผิวหนัง

ผู้ป่วยโรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada ที่แสดงอาการทางผิวหนังจะมีผิวเผือก (Vitiligo) จุดขาวกระจายทั่วศีรษะ เปลือกตา ลำตัว จากการสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสี ตามมาด้วยขนตาขาว ผมร่วง ผิวหนังอักเสบ สีของผมและขนเปลี่ยนไป อาการเหล่านี้ อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยโรคด่างขาว

 

  • อาการทางหู

ผู้ป่วยโรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada ที่แสดงอาการทางหู โดยส่วนใหญ่จะมีอาการหูอื้อ เวียนหัว ได้ยินเสียงดังในหู รวมไปถึงการสูญเสียการได้ยิน

 

  • อาการอื่น ๆ

ผู้ป่วยโรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada ที่มีอาการแฝงอื่น จะเริ่มด้วยการปวดหัว เวียนหัว เป็นไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หากเป็นมาก ๆ อาจมีอาการคอแข็ง อ่อนแรง และชักได้ในที่สุด บางรายอาจมีอาการทางหู และทางตาร่วมด้วย

 

การรับการรักษาโรค VKH
โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะมุ่งเน้นไปที่การลดการอักเสบ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปจะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดสูง ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาตามอาการที่เป็น หรือหากผู้ป่วยมีอาการทางใดทางหนึ่งที่เด่นชัด จะต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ในสาขานั้น ๆ เพื่อควบคุมอาการในระยะยาว

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรค VKH ที่มีอาการรุนแรง อาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ร่วมกับการรักษาเฉพาะทาง เช่น การฉายแสง หรือการผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดเพื่อลดความดันลูกตา หรือการรักษารูจอประสาทตา เป็นต้น

 

วิธีตรวจหาโรค VKH

  • การตรวจตา : ตรวจดูการอักเสบภายในลูกตา ตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT
  • การตรวจผิวหนัง : ตรวจดูรอยโรคบนผิวหนัง
  • การตรวจหู : ตรวจการได้ยิน
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง : ตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง
  • การตรวจเลือด : ตรวจหาความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ การตรวจหารอยโรค VKH เป็นการตรวจหารอยโรคที่มีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น แพทย์จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยพิจารณาจากประวัติการเจ็บป่วย อาการทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการตรวจหารอยโรคอื่นเพื่อเปรียบเทียบ และหาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด

 

โรค VKH มีความอันตราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การรับการรักษาในระยะอันตราย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ อาทิ ต้อกระจกและต้อหิน, สูญเสียการมองเห็น, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยส่วนใหญ่แล้วหากได้รับการรักษาเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และไม่สงผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada Disease เป็นหนึ่งในโรคที่มีความซํบซ้อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายหลายด้าน หากปล่อยไว้นานยิ่งรุนแรงจนเกินควบคุม หากมีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

 

ที่มา : Eye South East Asia : EyeSEA (thaijo.org) / National Organization of Rare Disorders : NORD (rarediseases.org) National Library of Medicine : NIH (ncbi.nlm.nih.gov)

Advertisement

แชร์
VKH หนึ่งในโรคจอประสาทตาอักเสบ ทำไมถึงสูญเสียการมองเห็น