เทคนิคฮีลใจหลังน้ำลด พร้อมข้อคิดดูแลสุขภาพจิต จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

17 ก.ย. 67

เทคนิคฮีลใจหลังน้ำลด พร้อมข้อคิดดูแลสุขภาพจิต เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาจทำให้ผู้ประสบภัย รู้สึกถึงอาการซึมเศร้าหลังน้ำท่วม ที่อาจเกิดขึ้นได้

น้ำท่วม 2567 ยังเป็นที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลายพื้นที่ ประชาชน หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบยังคงเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรู้สึกแย่หรือสูญเสีย เป็นความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วม โดยเฉพาะหากถึงคราวที่สถานการณ์คลี่คลาย เหยื่อจากอุทกภัยครั้งนี้ อาจรู้สึกโศกเศร้า จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหลังน้ำท่วมได้เช่นกัน เพื่อเป็นตัวช่วยหนึ่งในการลดความรุนแรงทางใจ Amarin Online ได้รวบรวม เทคนิคฮีลใจหลังน้ำลด พร้อมข้อคิดในการดูแลสุขภาพจิต จากภัยพิบัติธรรมชาติในครั้งนี้

 

กลุ่มเสี่ยงอาการซึมเศร้า หลังจากสถานการณ์น้ำลด
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตได้ระบุว่า หลังจากสถานการณ์น้ำลด อาจมีผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถปรับตัวกับเรื่องที่เกิดขึ้น จนเป็นสาเหตุของความเครียด อีกทั้งบางคนอาจเพิ่งตื่นรู้จากสภาพชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม อาจมีความรู้สึกทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงอาจมีอาการเตือนทางร่างกายที่อาจที่อาจเป็นสาเหตุของการเป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยสามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • ผู้ที่สูญเสียเป็นจำนวนมาก ทั้งสมาชิกครอบครัวเสียชีวิต สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียแหล่งรายได้
  • ผู้ที่มีแหล่งช่วยเหลือน้อย หรือไม่สามารถหาทางออกจากคนรอบข้างได้ เพราะต้นทุนชีวิตที่มีจำกัด
  • ผู้ที่มีปัญหาเดิมส่วนตัว เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว พิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงผู้ที่ป่วยซึมเศร้าเดิม
  • ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงาน องค์กร หรือภาครัฐได้ ต้องจัดการด้วยตนเอง

 

pic3

 

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 13 กันยายน 2567 ทำการประเมินและให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ต่อผู้ประสบภัย ญาติผู้สูญเสีย/บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่และชุมชนวงกว้าง รวม 21,680 คน ในจำนวนนี้พบมีภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน

ดังนั้นแล้วการปรับตัวและสภาพจิตใจ ให้พร้อมแก่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่รองลงมาจากการทำความสะอาดที่อยู่อาศัย กล่าวคือ เมื่อเหตุเกิดไปแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อน แล้วจึงค่อยหาวิธีการจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มีคำกล่าวที่บอกอย่างชัดเจนว่า หากสุขภาพทางใจอยู่ในภาวะลบ จะส่งผลต่อทั้งสุขภาพทางกาย และการดำเนินชีวิตในทางที่ลบเช่นกัน

 

เทคนิคฮีลใจหลังน้ำลด จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ขั้นต้นคือลองสำรวจภาวะอารมณ์ของตนเองก่อน โดยเป็นการรีเช็กว่าขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้แล้ว มีอาการเครียด หดหู่ หรือเศร้าโศกมากกว่าปกติหรือไม่ หากรู้ตัวว่าอารมณไม่ปกติ มีอารมณ์ที่มากเกินกว่าเวลาทั่วไปที่ไม่เจอภัยพิบัติ ควรพยายามปรับภาวะอารมณ์ให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

สิ่งสำคัญที่จะทำให้รับมือกับปัญหาได้ดี ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไปก็คือ การมองปัญหาอย่างมีสติ มองด้วยความตรงไปตรงมา ตามมาด้วยการยอมรับความเป็นจริง ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ที่เป็นไปได้ จากนั้นค่อย ๆ พยายามเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา โดยนึกเสมอว่าอะไรเป็นส่วนที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนที่สุดก่อน และที่สำคัญคือ อย่าดื้อรั้นที่จะเผชิญกับสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ โดยอาจใช้เทคนิคต่อไปในการควบคุมอารมณ์ตัวเอง อาทิ การหายใจลึก ๆ หรือ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

 

  • เทคนิคฮีลใจหลังน้ำลด ด้วยการหายใจลึก ๆ

การหายใจลึก ๆ หรือ Deep breathing สามารถทำได้โดยนั่งขัดสมาธิ นั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งในท่าที่สบาย มือวางบนตัก หายใจเข้าช้า ๆ ให้เต็มปอดนับ 1-10 กลั้นลมหายใจ 2-3 วินาที แล้วจึงหายใจออกทางปากช้า ๆ โดยระยะเวลาหายใจออกเป็นสองเท่าของหายใจเข้าทำสลับกัน 5-10 ครั้ง

 

pic4

 

  • เทคนิคฮีลใจหลังน้ำลด ด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxation)

การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือ Muscle relaxation สามารถทำได้โดยนั่งหรือนอนราบ หลับตา มุ่งความสนใจไปที่เท้าสองข้าง หายใจเข้าและเกร็งกล้ามเนื้อทั้งหมดที่เท้าจนตึง ให้คงไว้ 3-4 วินาที ขณะที่ยังหายใจเข้า จากนั้นให้ผ่อนหายใจออกช้า ๆ และคลายกล้ามเนื้อที่เท้า จะรู้สึกตึง ๆ กล้าม จากนั้นมุ่งไปยังกล้ามเนื้อน่อง โดยสังเกตอุณหภูมิที่มือ หากมืออุ่นแสดงว่าได้ผ่อนคลายแล้ว แต่ถ้ายังเย็นให้ทำการผ่อนคลายซ้ำ

 

ข้อคิดดูแลสุขภาพจิต เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ

  1. ตั้งสติให้มั่น มองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไขเสมอ
  2. หากรู้สึกท้อใจ ให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง
  3. ฝึกหายใจคลายเครียด และทักษะผ่อนคลายอื่น
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
  5. พูดคุยกับคนใกล้ชิด อย่าคิดคนเดียว ช่วยกันปรึกษาหา
  6. บริหารร่างกายเป็นประจำ เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย
  7. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา
  8. มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน
  9. คิดทบทวนสิ่งดี ๆ ที่เกิดในชีวิตเป็นประจำ
  10. จัดการปัญหาทีละขั้น ไม่จมไปกับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้
  11. หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติด ในการจัดการความเครียด ความทุกข์ใจ

 

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (si.mahidol.ac.th) / กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล (rajanukul.go.th)

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด