รวมมุกมิจฉาชีพ SMS ปลอม อีกหนึ่งกลลวงยอดฮิต แค่คลิกก็เสี่ยงเงินสูญหาย ไม่คลิกไม่เสี่ยง! มาดูกันว่ามีกลลวงอะไรบ้าง
ถึงแม้ส่วนมากโลกจะเปลี่ยนไปใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสาร อาจจะด้วยแอปพลิเคชันใดก็ตาม แต่การใช้ SMS หรือการส่งข้อความผ่านเบอร์โทรศํพท์ก็ยังคงมีอยู่บ้าง ถึงจะไม่นิยมเท่าสมัยก็แต่ก็ยังมี แต่มิจฉาชีพก็อาศัยเบอร์โทรในการหลอกลวงเอาเงินเช่นกัน มีการคิดมุกและกลลวงใหม่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนหลวงเชื่อและกด SMS ปลอม ที่ได้รับมาจากมิจฉาชีพอยู่ดี
Amarin Online ได้รวบรวมมุกมิจฉาชีพ SMS ปลอม อีกหนึ่งกลลวงยอดฮิต แค่คลิกก็เสี่ยงเงินสูญหาย แถมยังเสี่ยงต่อการติดตั้งไวรัสต่าง ๆ อีกด้วย แถมบางครั้งยังมีมาในรูปแบบของบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการเสียรู้ มาดูกันว่ามีกลลวงอะไรบ้าง
กลวิธีของมิจฉาชีพ แบบ SMS
โดยปกติแล้วมิจฉาชีพมักจะใช้มุกส่ง SMS ปลอม ด้วยการแฝงตัวเป็นธนาคาร หน่วยงานราชการ หรือบริษัทต่าง ๆ รวมไปถึงบริการขนส่งพัสดุ เพื่อหลอกลวงผู้ใช้ให้คลิกลิงก์ที่ติดมัลแวร์หรือฟิชชิ่ง โดยมีเป้าหมายหลักคือ
- หลอกให้โอนเงิน : มิจฉาชีพอาจสร้างเว็บไซต์ปลอม เลียนแบบเว็บไซต์ธนาคารหรือหน่วยงานจริง เพื่อหลอกให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลบัญชีและรหัสผ่าน หรือสร้างลิงก์ปลอมเพื่อนำไปสู่การโอนเงิน
- หลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว : มิจฉาชีพอาจขอข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน ข้อมูลบัญชีธนาคาร หรือ OTP เพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย
- ติดตั้งมัลแวร์ : ลิงก์ใน SMS ปลอมอาจติดตั้งมัลแวร์บนอุปกรณ์ของผู้ใช้โดยอัตโนมัติ ซึ่งมัลแวร์เหล่านี้สามารถขโมยข้อมูลส่วนตัว ดักจับข้อมูลบัตรเครดิต หรือควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล
ตัวอย่าง SMS ปลอม
- ธนาคาร : "บัญชีของคุณถูกระงับการใช้งาน กรุณาคลิกลิงก์เพื่อยืนยันตัวตน"
- หน่วยงานราชการ : "คุณมีคดีความ กรุณาคลิกลิงก์เพื่อตรวจสอบรายละเอียด" หรือ "รับเงินคืน ค่าไฟฟ้า กรุณาคลิกลิงก์เพื่อตรวจสอบรายละเอียด"
- บริษัท : "คุณได้รับรางวัล iPhone 14 กรุณาคลิกลิงก์เพื่อรับรางวัล" หรือ "บัญชีคะแนนของคุณ หมดอายุวันนี้"
- โปรโมชันหลอกลวง : "โปรเด็ดฝาก 100รับ200 ระบบออโต้ไม่มีขั้นต่ำ"
- บริการขนส่ง : "ขนส่งไม่สามารถส่งพัสดุของคุณได้ เนื่องจากติดต่อผู้รับไม่ได้ ติดต่อเจ้าหน้าที่ยืนยันจัดส่งอีกครั้ง" หรือ "ไม่สามารถติดต่อคุณได้ กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันจัดส่งพัสดุใหม่อีกครั้ง" หรือ "เลขแทรกกิ้ง xxxxxxxxxxxxx ของคุณ จัดส่งปลายทางติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเช็กสถานะพัสดุ"
วิธีป้องกันตัวจาก SMS ปลอม
- อย่าคลิกลิงก์ : ไม่ควรคลิกลิงก์ที่มาจาก SMS ใดก็ตาม
- อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว : ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็นแก่บุคคลใด
- ตรวจสอบข้อมูล : ตรวจสอบข้อมูลไปยังช่องทางออฟฟิเชียลหลัก เพื่อตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือหลอกลวง
- ติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัส : ติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัสในโทรศัพท์ และไม่ควรโหลดแอปอื่นนอกสโตร์เพื่อป้องกันมัลแวร์
นอกจากนี้ยังมี SMS ปลอม ที่หลอกชวนให้ไปทำงานร่วมกับหน่วยงานมีชื่อเสียงที่น่าเชื่อถือ โดยเป็นการหลอกให้สมัครสมาชิกโดยต้องชำระเงิน หรือในบางกรณีหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว และนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะมีแนวลิงก์ประหลาด ๆ มาเพื่อให้คลิกตาม
* หากกดคลิกลิงก์ หรือ แอด LINE จะถูกมิจฉาชีพตามหลอกอย่างแน่นอน *
ที่มา : ตำรวจภูธรภาค 9 (police9.go.th)