เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ การแยกเก็บเงินไว้ในหลายที่ หลายธนาคาร และการใช้บัญชีที่มีการป้องกันหลายชั้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ
ข่าวการถูกหลอกโอนเงิน ยังมีให้ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ผู้เสียหายไม่ได้มีแต่ผู้สูงอายุแต่คนวัยทำงานที่มีความรู้และประสบการณ์ทำงานที่ไม่น่าถูกหลอกได้ง่ายๆ ก็ยังมีข่าวว่าเป็นผู้เสียหายอยู่หลายคน การแยกเงินเก็บเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยให้เงินเก็บมีโอกาสรอดจากมิจฉาชีพและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
บัญชีเงินฝากไหน หากถูกมิจฉาชีพเข้าถึงเงินในบัญชีก็มักถูกโอนออกหมดไปในเวลาเพียงไม่กี่นาที รวมถึงการถูกหลอกถามข้อมูลและถูกหลอกให้โอนเงินออกด้วยตนเอง ซึ่งการนำเงินเก็บทั้งหมดเก็บไว้อยู่ในบัญชีเดียวกันจะเป็นการง่ายที่เราจะทำรายการโอนเงินทั้งหมดนั้นออกไปในครั้งเดียว
การแยกเงินเก็บไว้หลายที่หลายธนาคาร ช่วยจำกัดความเสียหายหากมีบัญชีธนาคารใดธนาคารหนึ่งถูกเข้าถึง หรือช่วยชะลอเวลาในการโอนเงินออกได้ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแอปธนาคารเพื่อโอนออกในแต่ละครั้ง ในระหว่างนั้นหากคนข้างตัวสังเกตเห็นความผิดปกติหรือเจ้าของบัญชีมีเวลาได้ฉุกคิด ก็มีโอกาสที่จะจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
อีกทั้งการจำกัดวงเงินการโอนแต่ละครั้งหรือแต่ละวัน ที่สามารถตั้งได้เองบนแอปแต่ละธนาคารให้สอดคล้องกับวิถีการจ่ายของตนเอง เช่น ไม่เกิน 5,000 - 50,000 บาทต่อวัน ก็ช่วยชะลอการถูกหลอกให้โอนเงินได้เช่นกัน
บัญชีเงินฝากที่ผูกกับแอปออนไลน์ส่วนใหญ่มักถูกโอนจ่ายออกไปได้ง่าย เนื่องจากเป็นจุดเด่นของแอปออนไลน์อยู่แล้ว แต่ความสะดวกที่ว่าก็มาพร้อมกับการโอนออกได้เร็วเมื่อถูกหลอกลวงเช่นกัน อย่างไรก็ตามเงินฝากที่ผูกกับบัญชีออนไลน์ก็ยังควรมีจำนวนที่มากพอต่อการใช้จ่ายประจำวัน รวมถึงรองรับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอย่างกะทันหันด้วย โดยอาจมีในจำนวนที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั่วไป 1-2 เดือน
เงินเก็บส่วนอื่น สามารถเลือกเก็บเงินไว้ใน
(1) เงินฝากประจำ ที่หากต้องการถอนต้องนำสมุดคู่ฝากไปถอนเงินที่สาขาของธนาคาร ในช่วงเวลาทำการ เพื่อเพิ่มข้อจำกัดในการถอนเงินเมื่อถูกหลอกลวง
(2) เงินฝากของธนาคารอื่น ที่ไม่ผูกกับแอปธนาคารแต่ผูกกับบัตร Debit โดยแยกบัตรนั้นไว้ที่บ้านหรือฝากไว้กับคนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้ (โดยไม่บอกรหัสบัตร) เพื่อเพิ่มความซับซ้อนในการโอนเงินออก ในขณะที่ยังสามารถไว้ใช้ยามฉุกเฉินหากจำเป็นต้องใช้ในช่วงวันหยุดยาวของธนาคาร ที่แทบไม่มีสาขาธนาคารเปิดให้บริการได้ เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ฯลฯ
เงินเก็บออนไลน์ใช่ว่าจะถูกมิจฉาชีพนำออกไปได้ง่ายๆ เสมอไป ยังมีทางเลือกเก็บเงินบนแอปออนไลน์ที่มีการป้องกันหลายชั้นกว่าจะถูกโอนออกไปให้บุคคลอื่นได้ ทางเลือกที่ว่าคือการลงทุน เช่น การลงทุนในกองทุนรวม ที่มีทั้งกองทุนความเสี่ยงต่ำๆ โอกาสขาดทุนแทบไม่มี หากถือเกิน 1 สัปดาห์ – 1 ปี รวมไปถึงกองทุนที่มีความเสี่ยง ปานกลาง-สูง ที่หากถือยาวๆ 3-5 ปี แล้วผลตอบแทนที่ได้มักมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากหลายเท่าตัว อยู่ที่ต้องการเก็บเงินในกองทุนแบบไหน แต่ไม่ว่ากองทุนใด โดยปกติแล้วจะเสมือนมีการปกป้องอย่างน้อย 2 ชั้น ได้แก่
ปกป้องชั้นที่ 1: ระยะเวลาในการได้เงินค่าขายคืนกองทุนแต่ละครั้ง โดยส่วนใหญ่ต้องรอ 1-4 วันทำการขึ้นไป เช่น ขายคืนกองทุนตลาดเงินวันนี้ ต้องรอเช้าวันรุ่งขึ้นเงินค่าขายคืน ถึงจะถูกโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ที่กำหนด ในระหว่างนี้ เจ้าของบัญชีจึงยังมีเวลาทบทวนเหตุผลในการนำเงินนั้นออกมา
ปกป้องชั้นที่ 2: เงินค่าขายคืนกองทุนรวม ต้องถูกโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ชื่อเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อเจ้าของบัญชีกองทุนรวม เสมือนว่าเป็นการถูกบังคับให้ต้องรายการ 2 ครั้ง เพื่อจะโอนเงินออกไปให้บุคคลอื่น รวมถึงโอนไปให้มิจฉาชีพด้วย
4.แยกเก็บ ในทางเลือกที่ล็อกเงิน
เงินเก็บเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ควรเก็บในทางเลือกที่มีข้อจำกัดและระยะเวลาการเก็บ/ลงทุนที่ต่างกันเพื่อผลตอบแทนและผลประโยชน์ที่ต่างกัน นอกเหนือไปจากเก็บเพื่อใช้จ่ายประจำวันและสำรองยามฉุกเฉิน เพื่อให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ ในระหว่างที่ยังอยู่ในเงื่อนไขนั้น เช่นกองทุน Term Fund: ที่ล็อกเงินไว้ ตามอายุกองทุน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ฯลฯ ไม่สามารถขายคืนก่อนกำหนดได้ เพื่อรอรับผลตอบแทนและนำไปลงทุนต่อหลังครบอายุกองทุน
พันธบัตร/หุ้นกู้: ที่ล็อกเงินไว้ ตามอายุพันธบัตร/หุ้นกู้ เช่น 3 ปี 5 ปี ฯลฯ ที่แม้ขายผ่านตลาดรองได้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้สะดวกนัก จึงเป็นตัวช่วยเพิ่มข้อจำกัดไม่ให้มิจฉาชีพนำเงินออกไปได้ง่ายๆ โดยผู้ลงทุนยังได้รับดอกเบี้ยระหว่างทาง และเงินครบกำหนดไปใช้จ่ายหรือลงทุนต่อ
ประกันชีวิต: ที่ล็อกเงินไว้ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น รอรับเงินครบสัญญาในอีก 10 ปี หรือตอนอายุครบ 60 ปี โดยหากต้องการนำเงินออกก่อนกำหนดต้องเสียดอกเบี้ย หรือยกเลิกกรมธรรม์ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับจะต่ำกว่าเงินที่รับตอนครบสัญญาหรือเบี้ยรวมที่จ่ายไป ทำให้ยากที่จะตัดสินใจนำเงินออกไปได้ง่ายๆ และต้องใช้เวลาอีกหลายวันตามกระบวนการบริษัทประกัน
กองทุน SSF/RMF/ThaiESG: ที่ล็อกเงินไว้ ตามเงื่อนไขกรมสรรพากร ได้แก่ 5 ปี 10 ปี และอายุ 55 ปี ที่จะช่วยชะลอการนำเงินออกมา ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือถูกหลอกลวงก็ตาม เพราะการขายคืนก่อนกำหนดแม้ทำได้ แต่มาพร้อมการคืนภาษีและจ่ายเงินเพิ่ม
เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ การแยกเก็บเงินไว้ในหลายที่ หลายธนาคาร และการใช้บัญชีที่มีการป้องกันหลายชั้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร หรือประกันชีวิตที่มีข้อจำกัดในการถอนเงินออกมาได้ง่ายๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันการสูญเสียเงินได้อย่างดี และยังเป็นการเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินเก็บ ในส่วนที่สามารถเก็บหรือลงทุนได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมาย
นักวางแผนการเงิน CFP