คนไทยผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในรอบกว่าร้อยปีมาแล้ว 3 วัน ยังมีอะไรอีกมากมายที่คาใจผู้คนในสังคมและกำลังรอความชัดเจน โดยเฉพาะอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มลงมา ซึ่งเป็นเพียงอาคารเดียวในกรุงเทพมหานคร แต่ภาพการถล่มของอาคารแห่งนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และเป็นภาพที่น่าสะเทือนใจที่สุด เพราะยังมีคนงานติดค้างอยู่ในซากอาคารแห่งนี้หลายชีวิต
แม้ยังไม่มีการสรุปสาเหตุของการถล่มของอาคารที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่สังคมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การถล่มของอาคาร สตง. จะมีความเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชันหรือไม่? แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะเป็นการเขย่าปัญหาคอร์รัปชันไทย และควรถูกนำมาใช้เป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูประบบการก่อสร้าง การควบคุมมาตรฐาน และระบบรับมือภัยพิบัติของประเทศ ทั้งในเชิงโครงสร้างกฎหมาย กลไกตรวจสอบ
รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การถล่มของอาคาร สตง. คงมีความผิดปกติ เพราะเป็นอาคารเดียวที่ถล่มลงมา แต่คงต้องไปสรุปสาเหตุว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว และเร็ว ๆ นี้น่าจะมีข้อสรุปออกมาจากผู้เชี่ยวชาญ
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เชื่อมั่นว่า การก่อสร้างอาคาร สตง. ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่น่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชันแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนหลายสำนักยังคงเปิดเผยข้อมูลที่น่าผิดสังเกต กรณีการก่อสร้างอาคาร สตง. ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภาพชาวจีน 4 คน ที่ขนเอกสาร 32 แฟ้มออกมาจากพื้นที่ด้านหลังอาคารถล่มโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้มีการแจ้งความชาวจีนทั้ง 4 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเอกสารทั้งหมดไว้ในภายหลังเพื่อตรวจสอบ ชาวจีนดังกล่าวทำงานอยู่กับบริษัทในเครืออิตาเลียนไทย ซึ่งรับผิดชอบก่อสร้างโครงการ สตง. นี้ โดยพวกเขาให้เหตุผลว่ารีบขนเอกสารออกไปเพื่อใช้ในการเคลมประกันภายใน 72 ชั่วโมง
นอกจากนี้ในโซเชียลมีเดียยังมีการแชร์ข้อมูล รวมถึงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้อีกด้วยว่าได้มาตรฐานแค่ไหนอย่างไร ซึ่งความสงสัยทั้งหมดยังคงรอการพิสูจน์ความจริงต่อไป
อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้(30 มีนาคม 2568) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเจ้าของอาคาร ออกมาชี้แจงถึงการก่อสร้างอาคาร สตง.ที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวว่าเป็นอาคารที่ทำการแห่งใหม่พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถสรุปรายละเอียดสำคัญดังนี้
สตง. ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานตรวจเงินแผ่นดินและสภาพพื้นที่ โดยมีบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2561
สตง. ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่าย ไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท
โครงการนี้มีการลงนาม “ข้อตกลงคุณธรรม” กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และผู้รับจ้าง เพื่อป้องกันการทุจริต เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 ยืนยันว่า มีการเปิดเผยข้อมูลครบถ้วน โปร่งใส มีการแข่งขันเท่าเทียมกัน การออกแบบอาคารออกแบบตามวิชาชีพ ไม่ได้ลดขนาดโครงสร้างตามที่มีข่าวลือ โดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคารสูงสามชั้น ขนาด 1.40 x 1.40 เมตร , เสากลมชั้น 29 ถึงดาดฟ้า เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 เมตร ดำเนินการก่อสร้างโดยยึดตาม กฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงต่าง ๆ ให้ความสำคัญเรื่องรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนต่อแผ่นดินไหว และมีการประกันภัยครอบคลุมวงเงินของสัญญาทั้งหมด
มีการจัดจ้างบริษัทควบคุมงานด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท ผู้ควบคุมงาน คือ กิจการร่วมค้า PKW ประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด มีหน้าที่ควบคุมงานและรับรองการทดสอบวัสดุก่อสร้างทั้งหมด
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยว่า แม้ทาง ACT จะได้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมในโครงการนี้ตามคำเชิญของ สตง. เอง เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างโปร่งใสเป็นไปตาม โครงการข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact)" ซึ่งเป็นมาตรการสากล ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ นำแนวคิดมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยนำเสนอให้รัฐบาลไทยนำมาใช้ตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการเมกกะโปรเจค
แต่การเข้าร่วมของผู้สังเกตการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการคัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และการจัดทำ TOR เสร็จสิ้นไปแล้ว นั่นหมายความว่ากระบวนการสำคัญที่ควรได้รับการตรวจสอบตั้งแต่ต้น กลับไม่เปิดให้มีการตรวจสอบจากภาคประชาชน นอกจากนี้โครงการนี้มีปัญหาความล่าช้า และผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วง ๆ มาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์ ACT ได้ทักท้วงอย่างต่อเนื่อง
ดร.มานะ กล่าวต่อไปว่าผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีขอบข่ายหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารสัญญาก่อสร้างว่าถูกต้องตรงตามแบบก่อสร้างตามสัญญาหรือไม่ หากมีการแก้แบบ เพิ่มลดงานหรือวัสดุก่อสร้าง สตง. และผู้ควบคุมงานจะต้องแจ้งให้ผู้สังเกตการณ์ทราบ
ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทางวิศวกรรมระหว่างการก่อสร้างเช่น การแก้แบบ เพิ่มลดงาน เปลี่ยนวัสดุก่อสร้าง หรือดึงงานล่าช้าเป็นความรับผิดชอบของ สตง.และบริษัทผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ได้รับว่าจ้างเป็นผู้กำกับควบคุมผู้รับเหมาให้ก่อสร้างตามสัญญา
สำหรับแนวคิด “ข้อตกลงคุณธรรม” ซึ่งประเทศไทยนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในโครงการรัฐขนาดใหญ่ กลับถูกลดบทบาทลงในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยมีเพียงไม่ถึง 1 ใน 3 ของโครงการสำคัญที่ถูกนำเข้าสู่ระบบนี้ ทั้งที่จากสถิติพบว่า โครงการที่เข้าร่วมสามารถประหยัดงบประมาณประเทศได้ถึง 77,548 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.7% ของงบรวม
มุมมองของ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ปัญหามาตรฐานอาคารสูงในกรุงเทพ และความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าปกติ เป็นการเผยโฉมทุจริตคอร์รัปชันหยั่งรากลึกในสังคมไทยสะท้อนวัสดุใช้ในการก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐานและไม่เตรียมการรับมือสำหรับแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวเขย่าให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันและความอ่อนแอของระบบรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ในไทยให้ทุกคนตระหนัก การรณรงค์สร้างวัฒนธรรมแห่งความมีระเบียบวินัยเมื่อเกิดสถานการณ์ตื่นตระหนกและทุกคนต้องหนีเพื่อเอาตัวรอด การสร้างค่านิยมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เป็นสิ่งสำคัญต่อสังคมไทย
กรณีอาคารของ สตง.ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา และ มีเพียงตึกเดียวที่ถล่มลงมา ต้องมีการสอบสวนให้ชัดเจนว่าเกิดอะไร สตง. เองเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการตรวจสอบงบการเงินของภาครัฐจะต้องมีความโปร่งใสสูงสุดในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ หากมีความสงสัยเรื่องความโปร่งใสก็ยากจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่องบการเงินของหน่วยงานต่างๆที่ สตง.ไปตรวจความน่าเชื่อถือการใช้งบประมาณภาครัฐและงบการเงินหน่วยราชการก็จะลดลง ไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเพียงไม่กี่นาที จึงไม่ควรถูกมองเพียงในมิติของภัยธรรมชาติ แต่ควรถูกนำมาใช้เป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูประบบการก่อสร้าง การควบคุมมาตรฐาน และระบบรับมือภัยพิบัติของประเทศ ทั้งในเชิงโครงสร้างกฎหมาย กลไกตรวจสอบ และวัฒนธรรมองค์กร
จากนี้ไปภาคประชาชนควรมีบทบาทในการตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของโครงการขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน รัฐควรสร้างวัฒนธรรมการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม พร้อมส่งเสริมจริยธรรมในวงราชการอย่างจริงจัง สุดท้ายนี้ เหตุแผ่นดินไหวอาจผ่านไป แต่แรงสะเทือนทางสังคมจะยังคงอยู่ หากเราไม่เริ่มลงมือปฏิรูปอย่างแท้จริงในวันนี้ วันหน้าความเสียหายอาจรุนแรงกว่าที่เราคาดคิดไว้มากนัก