Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนอดีตยุคสะพาน-ห้างเกาหลีถล่มถี่ ไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะมนุษย์ล้วนๆ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ย้อนอดีตยุคสะพาน-ห้างเกาหลีถล่มถี่ ไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะมนุษย์ล้วนๆ

1 เม.ย. 68
15:53 น.
แชร์

ย้อนกลับไปในเกาหลีใต้ช่วงยุคทศวรรษที่ 1990 เกิดโศกนาฏกรรมสะพานและห้างยักษ์ใหญ่ถล่ม นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก แต่เมื่อรื้อโครงสร้างออกมาแล้ว เหตุการณ์เหล่านั้นตีแผ่ความเน่าเฟะของโครงการก่อสร้างที่ทำแบบลวกๆ เน้นราคาถูกไว้ก่อน ตัดทอนมาตรฐานความปลอดภัย

Spotlight พาไปย้อนอดีตเกาหลีใต้ยุคนั้น ซึ่งถูกเรียกว่า “ยุคภัยพิบัติ” เพราะอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆไม่มีความปลอดภัย แต่ภัยพิบัติเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ หาใช่ธรรมชาติไม่

เศรษฐกิจบูม ก่อสร้างบูม

ในช่วงปี 1988 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก การก่อสร้างบูมหนักในกรุงโซล โดยเกาหลีใต้ได้ลงทุนจำนวนมหาศาลในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่ง รวมถึงการสร้างที่พักใหม่ การปรับปรุงระบบขนส่ง สนามบิน ขยายรถไฟใต้ดิน และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก

ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 90  การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองของเกาหลีใต้เกิดขึ้นในอัตราที่น่าทึ่ง นอกจากนั้น ยังเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ขณะที่แบรนด์เกาหลีในประเทศก็กำลังได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้น รัฐบาลได้สั่งแบนผู้รับเหมาก่อสร้างจากต่างชาติ ไม่ให้เข้ามารับทำโครงการในเมืองหลวงของเกาหลีใต้ ดังนั้น อาคารส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นสร้างขึ้นโดยบริษัทสัญชาติเกาหลี  แต่บริษัทก่อสร้างบางแห่งสร้างอาคารด้วยความเร่งรีบ เนื่องจากมีโครงการจำนวนมากในมือ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอาคารด้วยความเร่งรีบ ตัดทอนมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างมักง่าย หรืออาจจะเพราะทุจริต จึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าในยุคนั้น

โศกนาฏกรรมสะพานซองซูถล่มปี 1994

เช้าวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 1994 หรือ พ.ศ. 2537 สะพานซองซูข้ามแม่น้ำฮันในกรุงโซลที่ยาว 1.2 กิโลเมตรเต็มไปด้วยรถยนต์ที่กำลังเดินทางไปทำงานตามปกติ ท่ามกลางฝนตกเล็กน้อย มันควรจะเป็นเช้าวันธรรมดาเหมือนทุกวัน แต่มีผู้ขับขี่บนสะพานซองซูหลายคนสังเกตเห็นแผ่นโลหะขนาด 1.3 เมตร x 2 เมตรที่หลุดออกจากโครงสร้าง

หนึ่งในประชาชนใช้สะพานซองซูก่อนเกิดถล่มแจ้งกับทางการท้องถิ่นว่า เขารู้สึกถึงแรงกระแทกผิดปกติเมื่อรถของเขาขับผ่านสะพานตอนประมาณ 6 โมงเช้า แต่ไม่มีการดำเนินการฉุกเฉินใดๆ

แล้วเมื่อเวลาประมาณ 07:38 น. ตามเวลาท้องถิ่น บางส่วนของสะพานที่กินความยาว 48 เมตรเกิดแตกร้าวและร่วงลงไปในแม่น้ำ พร้อมกับรถหลายคันที่ตกลงตามไปด้วย

ยู แฮพิล ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าในบทความของ The Korea Herald เรื่อง “สะพานพัง ท่ามกลางการสูญเสีย 32 ชีวิต” ซึ่งตีพิมพ์เป็นข่าวใหญ่ในฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2537 บอกว่า “ไม่กี่นาที หลังจากฉันขับรถขึ้นบนสะพานซองซูตามปกติ เพื่อจะไปทำงานในกรุงโซลตอนใต้ สะพานก็พังลงมา รถตกลงไปในน้ำ”

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารจากรถบัสหมายเลข 16 ซึ่งแขวนอยู่บนขอบสะพาน ขณะที่สะพานพังลงมา ก่อนที่ในท้ายที่สุด รถจะร่วงลงแม่น้ำ ทำให้ผู้โดยสาร 29 คน จากทั้งหมด 32 คนบนรถเสียชีวิต

รัฐบาลยุคนั้นยอมรับ “ก่อสร้างแบบเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ”

เหตุการณ์อุบัติเหตุที่ร้ายแรงเหล่านี้ทำให้รัฐบาลของคิม ยองซัม ได้รับฉายาว่า “ยุคแห่งภัยพิบัติ” ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากการตัดทอนความปลอดภัยและละเลยมาตรฐานในกระบวนการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อความสำเร็จ

ประธานาธิบดีคิม กล่าวในแถลงการณ์ต่อสาธารณะหลังเหตุการณ์สะพานซองซูถล่มว่า “ เกาหลีใต้บรรลุความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในช่วง 30 ปีของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในกระบวนการนี้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเรามุ่งเน้นไปที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ และพยายามแสดงออกให้โลกรับรู้ถึงการพัฒนานี้มากกว่าความเป็นจริง”

สะพานซองซูสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 1979 ซึ่งเกือบจะมีอายุครบ 15 ปีพอดีในวันที่เกิดถล่ม รายงานจากหน่วยงานตำรวจที่ได้รับมอบหมายสรุปว่า การถล่มเป็นผลจากการก่อสร้างของบริษัท Donga Construction ซึ่งเป็นผู้ประมูลที่ยื่นราคาต่ำสุด แต่การก่อสร้างทำอย่างลวกๆและเร็วไว้ก่อน บวกกับการบำรุงรักษาที่ไม่เพียงพอจากทางรัฐบาลกรุงโซล พบว่า มีการละเลยการตรวจสอบพื้นฐานและการซ่อมแซมสะพานตามระยะเวลาที่กำหนด

ระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้จำลองสถานการณ์ โดยใช้วิธีการเชื่อมเหล็กที่มีปัญหาเหมือนกับที่สะพานซองซู และพบว่า โครงสร้างสะพานที่บกพร่องเช่นนั้นอาจจะพังถล่มลงมาภายใน 12 ปี หากจำนวนและน้ำหนักของรถที่ใช้สะพานดังกล่าว ยังคงอยู่ภายใต้น้ำหนักที่สะพานสามารถรองรับได้  ดังนั้นการที่สะพานยังสามารถยืนหยัดมาได้ถึง 15 ปีจึงถือว่าเป็นปาฏิหารย์แล้วด้วยซ้ำ

เหตุการณ์สะพานถล่มดังกล่าวทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนผู้นำในรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซล นายกเทศมนตรีอี วอน-จอง ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และคนที่เข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อจากเขา คือ ยู มยอน-คยู ต้องลาออกภายใน 11 วัน เนื่องจากพบว่าเขาคือคนที่อนุมัติการก่อสร้างสะพานนี้แต่แรก

บริษัทก่อสร้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นที่รับผิดชอบในการดูแลสะพานถูกตัดสินว่าเป็นผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ แต่ในขณะที่หลายคนสงสัยว่ามีการทุจริตและการติดสินบนขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการที่บริษัทก่อสร้างสามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างร้ายแรงนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้มีการตั้งข้อหาในกระบวนการทางกฎหมายหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้

ห้างสรรพสินค้าซัมพุงถล่ม

ถัดมาเพียงหนึ่งปี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1995 หรือ พ.ศ. 2538 ห้างสรรพสินค้าซัมพุง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโซลพังถล่มลงมา ในเวลาไม่ถึง 20 วินาที ทิ้งให้ชาวบ้านและพนักงานหลายพันคนติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง โศกนาฏกรรมดังกล่าวสังเวยชีวิตประชาชนไป 502 คน บาดเจ็บอีกเกือบหนึ่งพันคน ขณะที่ความพยายามในการกู้ภัยดำเนินไปหลายวัน

เช้าวันที่เกิดเหตุเต็มไปด้วยสัญญาณเตือนต่างๆ แต่ผู้บริหารของห้างมองข้าม ทั้งการที่ผู้คนบนชั้นห้าฝั่งปีกใต้ของอาคารเห็นรอยร้าวของผนัง ซึ่งร้าวมานานก่อนหน้านั้นแล้ว และหลังคาอาคารเริ่มยุบตัว ห้างตัดสินใจปิดชั้นที่ห้า แต่ไม่ประกาศอพยพ หลังจากนั้น ประมาณ 17.00 น. หลังคาของชั้นที่สี่เริ่มยุบตัวลงเช่นกัน ฝ่ายบริหารตัดสินใจปิดชั้นนี้ แต่ยังคงยืนยันในท่าทีเดิมที่จะไม่อพยพ

จนกระทั่งเวลา 17:50 น. สัญญาณเตือนภัยดังขึ้น พนักงานเริ่มอพยพลูกค้า สองนาทีต่อมา หลังคาและชั้นที่ห้าของปีกใต้ก็พังทลายลง ซึ่งทำให้เกิดการพังทลายไปถึงชั้นใต้ดินทั้งหมด

บทเรียนที่น่าเศร้าของการทุจริต นำไปสู่การมองข้ามเรื่องความปลอดภัย

ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 1989 ประกอบด้วยอาคารสองหลังที่เชื่อมต่อกัน โดยแต่ละหลังมี 5 ชั้นและมี 4 ชั้นใต้ดิน พื้นที่ทั้งหมดของห้างสรรพสินค้าครอบคลุมพื้นที่รวม 73,877 ตารางเมตร

หลังการสอบสวนสาเหตุการถล่มพบว่า ห้างสรรพสินค้าซัมพุงเดิมถูกออกแบบมาเป็นอาคารสำนักงาน แต่เจ้าของตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกลางคันเพื่อเปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้า การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้าง รวมถึงการเพิ่มชั้นของอาคาร ซึ่งเกินขีดจำกัดของความสามารถในการรับน้ำหนักของการออกแบบเดิม

ในการพยายามลดต้นทุน ผู้รับเหมาจึงเลือกใช้วัสดุที่ราคาถูกและมีคุณภาพต่ำ เสาค้ำยันบางเกินกว่าที่แนะนำ และคอนกรีตที่ใช้มีคุณภาพด้อย ทำให้ความมั่นคงของอาคารลดลงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีการนำเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ติดตั้งบนหลังคา ซึ่งทำให้ภาระทางโครงสร้างของอาคารเพิ่มขึ้นอีก แต่ผู้รับเหมาก็มองข้ามคำเตือนจากวิศวกรเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลไม่สามารถบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัยได้ การตรวจสอบเกิดขึ้นอย่างผิวเผินหรือไม่เกิดขึ้นเลย ทำให้เจ้าของอาคารสามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยได้

การสืบสวนและการพิจารณาคดีตามมาทำให้ประธานบริษัทซัมพุง อี จุน ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และถูกตัดสินจำคุก 7 ปี 6 เดือนในปี 1996 ซึ่งเป็นโทษสูงสุดที่เคยมีการตัดสินให้กับผู้ใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

การสอบสวนยังพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนที่ได้รับสินบนจากซัมพุงในระหว่างกระบวนการก่อสร้าง ทั้งหมดถูกจำคุกและปรับเงิน

koreaherald, sheqnetwork, koreaherald

แชร์
ย้อนอดีตยุคสะพาน-ห้างเกาหลีถล่มถี่ ไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะมนุษย์ล้วนๆ