Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เมียนมาจะทำอย่างไรต่อ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพังราบไม่ต่างจากเศรษฐกิจ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เมียนมาจะทำอย่างไรต่อ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพังราบไม่ต่างจากเศรษฐกิจ

31 มี.ค. 68
11:38 น.
แชร์

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ คาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจของเมียนมาจากแผ่นดินไหวอาจสูงถึง  10,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นความเสียหายสูงสุด 70% ของ GDP เมียนมาเลยทีเดียว และความเสียหายเหล่านี้ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลเข้ามาดูแล

แต่รัฐบาลทหารเมียนมาจะมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ในเมื่อเวลานี้ เศรษฐกิจของเมียนมาก็ตกอยู่ในสภาพ “พังพินาศ” ไม่ได้ต่างจากโครงสร้างพื้นฐานหรืออาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว Spotlight พาไปดูเศรษฐกิจของเมียนมาว่าน่าเป็นห่วงขนาดไหน และรัฐจะสามารถหาเงินจากที่ไหนเพื่อมาดูแลประชาชนในช่วงภัยพิบัติและฟื้นฟูประเทศอีกครั้ง?

GDP เมียนมาหด เงินเฟ้อสูง

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ ยังได้ประมาณการณ์ถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ มีความเป็นไปได้ 34% ที่ความเสียหายอาจมีมูลค่าระหว่าง 10,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นความเสียหายสูงสุด 70% ของ GDP เมียนมาเลยทีเดียว หรือความเป็นไปได้รองลงมาที่ 30% ที่มูลค่าความเสียหายอาจอยู่ที่ 1,000 - 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การประเมินความเสียหายที่แม่นยำเป็นไปได้ยาก เนื่องจากขณะนี้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งให้ความช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว และมีรายงานเตือนว่าอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายระลอก

จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเมียนมาในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะหดตัวลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 1% โดยสาเหตุก็เพราะเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมียนมาก็เจอพายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3.8% อย่างไรก็ตาม หลังเกิดแผ่นดินไหว คาดว่าจะต้องมีการประเมินใหม่อีกครั้ง

ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวในปีงบประมาณปัจจุบัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยที่ 26% ต่อปี โดยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดยังชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในปี 2025 จะลดลงประมาณ 11% เมื่อเทียบกับปี 2019 และการหดตัวของเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐประหารในปี 2021 ซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่รุนแรงขึ้นทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2020 ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เมียนมาเคยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเป็น 77,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา จีดีพีลดลงเหลือ 64,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนค่าครองชีพก็แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อและสงคราม โดยค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก 1,350 จ๊าตต่อดอลลาร์ในปี 2020 เป็น ประมาณ 4,500 จ๊าตต่อดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2025 ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้รุนแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ราคาทองคำก็พุ่งสูงขึ้น จาก 1,315,500 จ๊าตต่อแท่ง เป็น 6,400,000 จ๊าตต่อแท่ง ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า โดยน้ำมันเบนซิน Octane 95 ขยับจาก 770 จ๊าตต่อลิตร เป็น 3,200 จ๊าตต่อลิตร

 

รอความช่วยเหลือจากต่างชาติเท่านั้น

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) เปิดเผยรายงานสถานการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับความพยายามบรรเทาทุกข์จากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา โดยระบุว่า กำลังประสานงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ และได้จัดสรรเงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์จากกองทุนตอบสนองเหตุฉุกเฉินกลาง (CERF) เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินที่จำเป็นต่อชีวิต

รายงานระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและเสาสื่อสารได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้บริการไฟฟ้าและน้ำในหลายพื้นที่ รวมถึงในเขตย่างกุ้ง ถูกตัดขาด นอกจากนี้ เครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตยังคงไม่เสถียร

นอกจากนี้ รายงานยังระบุถึงความเสียหายรุนแรงของสถานพยาบาลจำนวนมาก และเตือนว่า การขาดแคลนเวชภัณฑ์อย่างหนักกำลังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงชุดปฐมพยาบาลสำหรับผู้บาดเจ็บ ถุงบรรจุเลือด ยาชา อุปกรณ์ช่วยเหลือ ยาจำเป็น และเต็นท์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์

 

ประเทศต่างๆส่งความช่วยเหลือแล้ว

จีน

จีนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉินจำนวน 100 ล้านหยวน (ประมาณ 466 ล้านบาท) แก่เมียนมา เพื่อสนับสนุนการบรรเทาผลกระทบจากแผ่นดินไหว และตามคำร้องขอจากรัฐบาลเมียนมา รัฐบาลจีนยังได้ส่งทีมกู้ภัย พร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนไปยังพื้นที่ประสบภัย ซึ่งรวมถึง เต็นท์ ผ้าห่ม ชุดปฐมพยาบาล อาหาร และน้ำดื่ม

ทีมกู้ภัยชุดแรกเดินทางถึงนครย่างกุ้งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม และมุ่งหน้าไปยังพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยเหลือแล้ว ซึ่งทีมกู้ภัยของจีนนับว่ามีความเชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากกว่าของเมียนมา

สิงคโปร์

กองป้องกันพลเรือนสิงคโปร์ (SCDF) ส่งหน่วยปฏิบัติการ Lionheart เข้าช่วยเหลือเมียนมาในปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวแล้ว โดยทีมกู้ภัยจากสิงคโปร์จำนวน 80 นาย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยช่วยเหลือและกู้ภัยจากภัยพิบัติ ทหาร แพทย์ประจำหน่วย เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยพร้อมสุนัขกู้ภัย 4 ตัว ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุอันตราย และเจ้าหน้าที่สนับสนุน

มาเลเซีย

มาเลเซียส่งกองกำลังจัดการภัยพิบัติ ไปยังเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

อินเดีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ประกาศว่า อินเดียได้ส่ง ทีมกู้ภัย ทีมแพทย์ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังเมียนมาแล้ว โดยชุดความช่วยเหลือของอินเดียประกอบด้วย ผ้าห่ม ผ้าใบกันฝน ชุดสุขอนามัย โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ เสบียงอาหาร และอุปกรณ์ทำครัว เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

รัสเซีย

ส่วนกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของรัสเซีย ประกาศว่าได้ส่ง เครื่องบินกู้ภัย 2 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ไปยังเมียนมาเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ปฏิบัติการครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ 120 คน พร้อมด้วย ทีมค้นหากู้ภัยสุนัข (K9) วิสัญญีแพทย์ และนักจิตวิทยา เพื่อให้การสนับสนุนทางการแพทย์และช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ผู้รอดชีวิต

นิวซีแลนด์
กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของนิวซีแลนด์ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 35 ล้านบาท) แก่เมียนมา โดยเงินช่วยเหลือนี้จะถูกส่งต่อไปยังสภากาชาดสากลในเมียนมา เพื่อจัดหาอาหาร เต็นท์ ผ้าห่ม และเวชภัณฑ์ให้แก่ผู้ประสบภัย

เกาหลีใต้
กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ให้คำมั่นว่า จะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาความช่วยเหลือเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่าได้พูดคุยกับเมียนมาแล้ว และรับปากที่จะส่งความช่วยเหลือให้

CNN, AP, Nation, Xinhua, DW, reliefweb

แชร์
เมียนมาจะทำอย่างไรต่อ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพังราบไม่ต่างจากเศรษฐกิจ