Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Spot On : กับดักหนี้จีนในลาว? ความเจริญที่มาพร้อมผลประโยชน์แอบแฝง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

Spot On : กับดักหนี้จีนในลาว? ความเจริญที่มาพร้อมผลประโยชน์แอบแฝง

31 มี.ค. 68
15:21 น.
แชร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงสร้างพื้นฐานในสปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านของไทยก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งหมดนี้ต้องยอมรับว่า เป็นผลมาจากการเข้ามาของจีน Spot On จะย้อนไปดูการเข้ามาของรถไฟ และโครงการอื่นๆของจีนในลาว ลาว ได้หรือเสียอะไรบ้าง

รถไฟลาว-จีน ความหวังเศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2023 ณ ชานชาลาของกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสปปลาว ผู้คนโบกมืออำนวยอวยพรให้แก่การเดินทางทริปแรกของรถไฟที่จะเดินทางข้ามพรมแดนลาว-จีน มุ่งหน้าสู่นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน หลังก่อนหน้านั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง รถไฟก็ออกเดินทางในทิศทางตรงข้าม จากจีนสู่ลาว

เหล่าหนุ่มสาวร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานบนรถไฟ สร้างความเพลิดเพลิน บันเทิงให้แก่ผู้โดยสาร และเฉลิมฉลองการเดินทางข้ามพรมแดนเที่ยวแรกของรถไฟลาวจีน ที่มีความยาว 1,035 กิโลเมตร กินเวลาราว 10 ชั่วโมงครึ่ง 

นี่คือโครงการสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน โดยก่อนหน้าที่รถไฟจะวิ่งข้ามพรมแดน รถไฟได้วิ่งให้บริการอยู่แล้วในประเทศใครประเทศมัน ไม่ได้วิ่งข้ามแดน

นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม ปี 2021 รถไฟจีน-ลาวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำมาซึ่งความตื่นเต้นว่า รถไฟจีน-ลาวกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางระหว่างสองประเทศที่มีชายแดนติดกัน

กลุ่มบริษัทการรถไฟแห่งประเทศจีน คุนหมิง กล่าวว่า นับตั้งแต่รถไฟเปิดใช้งานเมื่อเดือนธันวาคม 2021 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ รถไฟสายนี้ขนส่งผู้โดยสารแล้วถึง 48.6 ล้านเที่ยว และสินค้าอีกกว่า 54 ล้านตัน 

ต้นปี 2025 เป็นปีที่รถไฟมีความคึกคักมาที่สุด เพราะภายในสองเดือนแรกก็ขนส่งผู้โดยสารแล้ว 4.1 ล้านเที่ยว และสินค้าแล้วกว่า 4 ล้านตัน ในจำนวนนั้น 8,000 ตันคือผลไม้นำเข้า ทางบริษัทอ้างว่าเส้นทางรถไฟลาวจีนช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้ธุรกิจภูมิภาค

ข้อมูลปี 2024 ชี้ว่า รถไฟสายลาวจีนขนสินค้าข้ามชายแดนสองประเทศวันละ 50,000 ตัน มีสินค้ามากกว่า 3,000 ชนิดส่งผ่านรางรถไฟ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์เครื่องกลที่ผลิตในจีน และผลิตภัณฑ์การเกษตร อย่างยางพาราและผลไม้จากประเทศลาวและไทย ตัวเลขการนำเขาของจีนสูงกว่าส่งออกอยู่มาก สะท้อนอุปมานและพลังซื้อในจีน

ในปี 2024 จีนประกาศว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน มีสัญญาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่มีมูลค่าเกินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงลาว 

 

ความเจริญที่เข้ามาพร้อมกับดักหนี้?

สื่อต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่าเป็นเหมือนกับดักหนี้ เพราะรัฐบาลลาวได้กู้ยืมเงินจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ และโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง เพื่อผลักดันประเทศให้เป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

และปัจจุบัน จีนเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของลาว โดยเมื่อปลายปี 2024 มีตัวเลขว่า จากหนี้รัฐบาลต่างชาติที่ลาวมีอยู่จำนวน 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นหนี้ของจีน

ภาระดอกเบี้ยที่ลาวต้องชำระในปี 2024 อยู่ที่ 1,700 ล้านดอลลาร์ และจะต้องจ่ายเฉลี่ย 1,300 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงสามปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศลดลงต่อเนื่อง

แต่ธนาคารโลกเคยออกคำเตือนเกี่ยวกับระดับหนี้สาธารณะของลาว ซึ่งคิดเป็น 108% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการชำระหนี้ของรัฐบาลยิ่งทำให้ค่าเงินกีบของลาวอ่อนค่าลงถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง

 วิวัฒน์ กิตติพงษ์โกศล หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ธนาคารร่วมพัฒนาแห่งลาว เปิดเผยว่า “รัฐบาลลาวอาจขาดการเตรียมความพร้อมในการสร้างทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระหนี้ นั่นเป็นประเด็นสำคัญ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนี้ คุณไม่สามารถใช้มาตรการเดียวแล้วคาดหวังว่าจะแก้ไขทุกอย่างได้ คุณต้องดำเนินมาตรการหลายอย่างร่วมกัน"

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของลาวพุ่งสูงถึง 23% ในปี 2022 และ 31% ในปีที่แล้ว ขณะที่ปี 2024 ประมาณการณ์น่าจะอยู่ที่ 25% ขณะที่ชาวบ้านในลาวได้รับผลกระทบหนักจากราคาสินค้าพื้นฐาน เช่น ข้าว น้ำตาล น้ำมัน และเนื้อไก่ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีที่ผ่านมา

 

อิทธิพลของจีนเหนือลำน้ำโขง

การที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของลาว ยังทำให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในลาวอย่างต่อเนื่อง และแม้กระทั่งก่อนที่จีนจะเข้ามาสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆตามความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนก็ถือว่ามีอิทธิพลในลาวมากอยู่แล้ว อย่างการเข้ามาพัฒนาแม่น้ำโขง ซึ่งเกี่ยวข้องกับลาว และแม้แต่ไทยด้วย 

เพราะจีนมีแนวคิด "Shared River, Shared Future" มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของแม่น้ำโขงและแบ่งปันผลประโยชน์ทางการค้าและพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง 

แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความเคลื่อนไหวของจีนในน้ำโขง ทำให้ภูมิทัศน์แม่น้ำที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ไหลผ่านหลายประเทศของอาเซียน กำลังเปลี่ยนแปลงไป

ในปี 2022 จีนสั่งศึกษาผลกระทบในลำน้ำโขง หลังมีงานศึกษาว่า การสร้างเขื่อนบนน้ำโขงตอนบนของจีน ทำให้นำ้โขงตอนล่างแล้ง และปลาลดลง เพราะจีนมองว่า ผลการศึกษาดังกล่าวไม่สะท้อนความเป็นจริง 

สำหรับนักวิชาการไทยมองว่า การที่จีนทำเช่นนี้ มันคืออำนาจการต่อรอง ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการไทย ชี้ว่า “ผมคิดว่าสำหรับจีนแล้ว นี่คืออำนาจต่อรองและเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ จีนมีอำนาจเพราะอยู่ต้นน้ำ สามารถสร้างเขื่อนตามต้องการ ขณะที่ประเทศและชุมชนปลายน้ำแทบไม่สามารถทำอะไรได้มากเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้”

แชร์
Spot On : กับดักหนี้จีนในลาว? ความเจริญที่มาพร้อมผลประโยชน์แอบแฝง