Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
“บรรทัดทอง-สามย่าน” ไม่ใช่ที่พึ่งอีกต่อไป เมื่อแบรนด์จีน-ทุนใหญ่รุกคืบ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

“บรรทัดทอง-สามย่าน” ไม่ใช่ที่พึ่งอีกต่อไป เมื่อแบรนด์จีน-ทุนใหญ่รุกคืบ

31 มี.ค. 68
15:30 น.
แชร์

ทยอยปิดตำนาน ร้านที่พึ่งของชุมชน

กลางปี พ.ศ. 2567 ร้านโชห่วยขายสารพัดอย่าง ปลดป้าย “จีฉ่อย หนึ่งตำนาน คู่จุฬาฯ” ลง อดีตนักเรียน-นักศึกษา และคนในพื้นที่ถึงกับ “ใจหาย” เพราะร้านใต้ ยูเซ็นเตอร์ หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งนี้ อยู่เป็นที่พึ่งของเด็ก ๆ มาหลายรุ่น ไม่ต่ำกว่า 50 ปี ด้วยอาม่าสองพี่น้องเจ้าของร้านมีขายตั้งแต่ “สากกะเบือยันเรือรบ” เป็นสโลแกนที่ลูกค้าตั้งให้ ไม่ว่าจะถุงเท้าแบบพิเศษที่ใส่ในพระราชพิธี สเปรย์พ่นสีทำฉาก เข็มกับด้ายไว้ซ่อมเสื้อผ้า ปีกนางฟ้าไว้ใส่ขึ้นโชว์ในกิจกรรมรับน้อง นิยายลดราคาไว้อ่านเวลาว่าง ไปจนถึงแป้งเอนกประสงค์ใช้ทำขนม อาม่าก็หาให้ได้แบบที่ยุคนี้เรียกกันว่า “ชีเสิร์ฟ!”

ด้วยอายุที่มากขึ้นของอาม่า ครอบครัวจึงอยากให้พัก บวกกับไม่มีใครสานต่อกิจการโชว์ห่วย เมื่อจังหวะการปรับพื้นที่ตรงยูเซ็นเตอร์มาถึง จึงตัดสินใจปิดร้านตำนานคู่จุฬาฯ ผ่านมายังไม่ทันครบปี ทีม Spotlight ได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณดังกล่าว พบว่ายูเซ็นเตอร์ในปัจจุบันถูกตกแต่งสวยงาม ทันสมัย ไฟสว่าง สีสันน่ารัก แม้จะยังมีร้านเก่าแก่ที่เปิดมานานอยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ของผู้ค้าเจ้าใหม่ ๆ เช่นกัน

ร้านจีฉ่อยก่อนรีโนเวทโครงการยูเซ็นเตอร์ ยูเซ็นเตอร์ หลังรีโนเวทล่าสุด

พื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนโดย บริษัท  แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ได้รับความไว้วางใจจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้าบริหารจัดการหอพักนิสิตในรูปแบบสัญญาเช่าและลงทุนพัฒนาปรับปรุง (Renovate) พร้อมการบริหารจัดการพื้นที่หอพัก U-Center  1 และ 2  ด้วยงบลงทุนตลอดระยะสัญญากว่า 150 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ใช้สอยภายในหอพักให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่นิสิตมากขึ้น

“เสียดายนะ เสียดายความดั้งเดิมของที่นี่ แต่ก็เข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลง”

เจ๊โบว์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่เก่าแก่ ที่เปิดร้านในชุมชนสามย่านมา 25 ปี ตอบคำถามทีมงาน Spotlight พร้อมถอนหายใจแต่ยังยิ้มได้ ท่ามกลางลูกค้าประจำที่หลังไหล่เข้ามากินข้าวมันไก่ “ทิ้งทวน” หลังจากทราบข่าวว่า เธอกำลังจะปิดร้านในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ แม้จะไม่ได้ประกาศลงเพจร้าน หรือแม้แต่ติดป้ายแจ้งลูกค้า แต่อดีตนักเรียน-นักศึกษา คนทำงานที่เป็นลูกค้าประจำข้าวมันไก่ร้านนี้ บอกต่อกันแบบปากต่อปากและลงโซเชียลส่วนตัวบ้าง จึงจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึง “บรรทัดทอง-สามย่าน” ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เจ๊โบว์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่ ปิดตำนานข้าวมันไก่เจ๊โบว์

เจ๊โบว์ ไม่ได้เป็นเพียงเจ้าของร้านอาหารในย่าน แต่ยังเป็นคนที่เกิดและเติบโตในชุมชนสามย่านอย่างแท้จริง และใช้ชีวิตอยู่ในที่แห่งนี้มาตลอด 40 ปี ทำให้เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกยุค เจ๊โบว์เริ่มต้นขายข้าวมันไก่บนแผงเล็ก ๆ ในตลาดสวนหลวงเดิม เมื่อ 25 ปีก่อน ขายอยู่นานหลายปี ก่อนจะย้ายเข้ามาขายในตึกตรงซอยจุฬาซอย 18 และย้ายอีกครั้งไปอยู่ซอยจุฬาฯ 20 จนถนนบรรทัดทองเริ่มเปิดพื้นที่ และตึกเก่าก็จำต้องเวนคืน ทำให้เจ๊โบว์ตัดสินใจเช่าคูหาบนถนนบรรทัดทอง ในช่วง 10 ปีสุดท้าย ก่อนจะตัดสินใจปิดร้าน ถอยออกจากชุมชนบ้านเกิด

“สมัยย้ายมาบรรทัดทอง 10 ปีที่แล้ว เจ๊ขายอยู่จานละ 35 บาท” 

ข้าวมันไก่ราคาย่อมเยาว์ เป็นที่ฝากท้องของนักเรียน นักศึกษา ผ่านมา 20 กว่าปี จากเด็กนักเรียนใส่เครื่องแบบกลายมาเป็นคุณพ่อคุณแม่ จูงตัวเล็กมาที่บ้านกินข้าว สะท้อนให้เห็นว่าข้าวมันไก่เจ๊โบว์ ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจร้านอาหารแต่ยังเป็นร้านประจำชุมชนที่ทำให้คนแถวนี้อยู่ได้ ปัจจุบัน ข้าวมันไก่มีราคาอยู่ที่ 60 บาท พิเศษ 70 บาท ต้องบอกว่าเป็นการค่อย ๆ ขยับขึ้นราคาทีละ 5 บาท กว่าจะขึ้นแต่ละครั้งก็ตัดสินใจอยู่นาน ด้วยต้นทุนหลาย ๆ อย่างที่เพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบ แก๊สหุงต้ม และปัจจัยหลักที่ทำให้เจ๊โบว์ยอมถอนตัว ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่อง “ค่าเช่าที่” ด้วยเช่นกัน

ราคาข้าวมันไก่ที่ถูกปรับขึ้นล่าสุดเมื่อปลายปี 2024 แลนด์มาร์กถนนบรรทัดทอง

“ค่าเช่าโหด” ข่าวลือหรือแค่รายเล็กสู้ไม่ไหว

“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2558) ตอนที่เจ๊ย้ายมาอยู่บรรทัดทอง ค่าเช่าคูหาหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท สัญญาก็จะต้องเซ็นใหม่ทุก ๆ 3 ปี แต่ละครั้งก็ค่อย ๆ ขึ้นมาไม่มาก จนล่าสุด เราเห็นสัญญาตัวใหม่มา เรามานั่งคิดว่าทำไปแล้วจะเหนื่อยฟรีไหม”

ร้านข้าวมันไก่ของเจ๊โบว์ เช่าตึก 2 คูหา บนถนนบรรทัดทองซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพิกัด “ทำเลทอง” จุดหนึ่งของย่าน จนสัญญาฉบับล่าสุดที่ส่งมาเมื่อต้นปีนี้ ระบุค่าเช่าอยู่ที่ 50,000 บาทต่อ 1 คูหา ทำให้เจ๊โบว์จะต้องเสียต้นทุนค่าเช่าอยู่ที่เดือนละ 100,000 บาท หากเธอต้องการไปต่อในย่านนี้ เธอเปิดเผยว่า ดีลของแต่ละร้านไม่เท่ากัน ราคานี้ถือว่าสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ มองว่าเจ๊โบว์เป็นเจ้าเก่าแก่ของชุมชนแล้ว จึงเป็นราคาที่ค่อนข้างเฟรนลี่อยู่ไม่น้อย แต่หลังจากที่เธอจะเดินออกจากที่แห่งนี้ เธอเชื่อว่าค่าเช่าที่สำหรับร้านหน้าใหม่ น่าจะพุ่งสูงขึ้นมากกว่านี้

ที่ตั้งร้านบัวลอยปริญญา 1 วันหลังย้ายออก

อีกร้านเก่าแก่ที่สร้างเสียงฮือฮา เมื่อประกาศถอนตัวออกจากพื้นที่เช่าเดิมอย่าง “บัวลอยปริญญา” ก็จุดกระแสให้ผู้คนหันมาสนใจเช่นกัน เมื่อมีข้อความเผยแพร่จากเพจร้านว่าค่าเช่าค่อย ๆ ไต่ระดับแพงขึ้นจนตัดสินใจปิดร้านจากจุดเดิมและย้ายไปใช้พื้นที่รวมกับร้านสเต็กอาม่าที่อยู่ไม่ห่างจากเดิมมากนัก 

ทีม Spotlight ได้หาข้อมูลในกลุ่มในเช่าร้าน-เซ้งร้านบนออนไลน์ พบว่าราคาปล่อยเช่าบนถนนบรรทัดทองและซอยใกล้เคียงมีค่อนข้างหลากหลาย ดังนี้

  • ล็อกขายอาหาร 2X2 เมตร ค่าเช่าเดือนละ 10,000 - 30,000 บาท
  • ห้องว่างชั้นเดียว ค่าเช่าเดือนละ 45,000 - 60,000 บาท
  • อาคาร 1 คูหา 2-3 ชั้น ค่าเช่าเดือนละ 50,000 - 90,000 บาท

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น อาจมีความคลานเคลื่อนกับกฏระเบียบของสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ 

นอกจากนี้ ใครที่อยากมาเปิดร้านบนถนนชื่อดัง จะต้องเสีย “ค่าเซ้งร้าน” ให้กับเจ้าของเก่า เป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือค่าเช่าของสำนักฯ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านเลยทีเดียว เมื่อบวกรวมกับค่ารีโนเวทร้าน ค่าต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงาน ค่าจิปาถะทั้งมองเห็นและมองไม่เห็น และตัวเลือกร้านอาหารนับร้อยที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็นับว่าเป็นเรื่องท้าทายของผู้ประกอบการร้านอาหาร แม้ถนนสายนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและสายกินชาวไทยมาเยอะแค่ไหนก็ตาม

ชวนให้ตั้งคำถามว่า หรือบรรทัดทอง-สามย่านแห่งนี้ จะกลายเป็นพื้นที่ของทุนใหญ่-ทุนต่างประเทศ จนไม่หลงเหลือให้คนท้องถิ่นที่อยู่มานานอีกต่อไปแล้ว?

แบรนด์จีนยิ่งใหญ่ กับ ตัวหนังสือไทยแปลก ๆ 

ทีม Spotlight เดินสำรวจถนนบรรทัดทองและพื้นที่โดยรอบตั้งแต่ช่วงเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ร้านอาหารเริ่มเปิดกันคึกคัก ต้อนรับลูกค้าเข้าร้านตั้งแต่ฟ้ายังสว่าง ทีมข่าวพบว่า ป้ายร้านอาหารต่าง ๆ แทบทุกร้านมีภาษาจีน และ ภาษาอังกฤษกำกับในเมนูและราคา พร้อมกับเสียงเชียร์ลูกค้าเข้าร้านที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน บ่งบอกว่าลูกค้าจำนวนไม่น้อยเลยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงฝรั่งตะวันตก หลากหลายชาติ

ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวเหนียวมะม่วง อาหารทะเล หมูสะเต๊ะ ข้าวต้ม ฯลฯ อาหารไทยขึ้นชื่อเรียงรายมีให้เลือกทุกประเภท แต่นอกจากอาหารไทยแล้วยังมีอาหารจีนหลายร้านเลยทีเดียว ที่น่าแปลกใจคือบางส่วนขึ้นป้ายภาษาจีนเป็นหลัก ไม่มีภาษาไทยเลย รวมถึงซูเปอร์สินค้าจีนตรงหัวมุมทำเลทอง เปิดคู่กับร้านสุกี้หมาล่า ทางร้านวางตัวหนังสือกลับหัวกลับหาง ชวนให้คิดว่าเขาจ้างงานคนชาติไหนให้มาติดตัวอักษร และหากเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ เขาจะไม่ปรึกษาร้านทำป้ายคนไทยหน่อยเชียวหรือ 

ร้านแบบนี้ถูกเรียกบนอินเตอร์เน็ตว่า “ร้านศูนย์เหรียญฯ” เมื่อชาวเน็ตจับโป๊ะว่าร้านนี้ใช้โปรแกรมแปลภาษา จึงได้ชื่อไทยออกมาแบบแปลก ๆ และใช้ฟ้อนต์ไทยแบบทื่อ ๆ จนโดนแซวกันว่า ไม่จ้างงานคนไทยหน่อยหรือ เช่นเดียวกับทัวร์ศูนย์เหรียญฯ นิมคมศูนย์เหรียญฯ และธุรกิจศูนย์เหรียญฯ ต่าง ๆ ที่ขนเงินกลับประเทศเสียส่วนใหญ่และไม่ค่อยเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ทีมข่าวยังสังเกตเห็นร้าน Mixue แบรนด์ชานม-ไฮศกรีมยอดฮิตจากแดนมังกร ยืนหนึ่งขยายสาขารวดเร็ว และยังขายในราคาแสนถูก สามารถตั้งร้านบนถนนบรรทัดทองได้มากถึง 3 สาขา ทั้งสาขาใหญ่ที่อยู่บน I’m Park ตรงข้ามประตูรั้วมหาวิทยาลัย อีกสาขาอยู่กลางถนนบรรทัด และอีกร้านตั้งใหม่ล่าสุดบนฝั่งเจริญผล ใกล้กับตลาดสามย่านและสถานีตำรวจ-สถานีดับเพลิง

อีกหนึ่งแบรนด์ที่แสดงความยิ่งใหญ่ คือร้าน CQK หม่าล่าหม้อไฟที่คนไทยชื่นชอบ แม้จะไม่ได้กระจายหลายสาขาแบบ Mixue แต่พอยืนนับคูหาแล้ว แบรนด์จีนเจ้านี้เช่าพื้นที่ติดกันยาว 10 คูหา นั่งได้ทั้งชั้นล่าง และห้องพิเศษชั้นบน กระนั้นลูกค้าก็ยังต้องต่อคิวรอหน้าร้านช่วงเย็นถึงดึกแทบทุกวัน แต่ถ้ากวาดสายตามองไป ห่างกันเพียง 1 คูหา จะเป็นร้าน “ข้าวต้มปลาสะพานเหลือง” ร้านที่สืบทอดสูตรกันมาจนรุ่นที่ 3 แล้ว ตัดสินใจปิดป้ายประกาศเซ้งร้าน อาจจะเป็นร้านที่ต้องปิดตำนานลงอีกแห่งในไม่ช้านี้

ข้าวต้มปลาสะพานเหลืองประกาศเซ้งร้าน
แชร์
“บรรทัดทอง-สามย่าน” ไม่ใช่ที่พึ่งอีกต่อไป เมื่อแบรนด์จีน-ทุนใหญ่รุกคืบ