Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ใครจะช่วยแก้ไข? เมื่อคนไทยโดนโกงจากภัยออนไลน์ 7.7 หมื่นล้านบาท
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ใครจะช่วยแก้ไข? เมื่อคนไทยโดนโกงจากภัยออนไลน์ 7.7 หมื่นล้านบาท

15 ธ.ค. 67
14:52 น.
|
158
แชร์

ข่าวคนไทยถูกหลอกโอนเงินให้มิจฉาชีพเกิดขึ้นบ่อย ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีความรู้ดี ยังหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อให้เราเห็นในข่าวกันบ่อยครั้ง ล่าสุดข้อมูลของรัฐบาลที่ออกมาเปิดเผยมูลค่าความเสียหายจากภัยออนไลน์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าความเสียหายนี้มากกว่างบประมาณของหลายกระทรวงที่ได้รับในแต่ละปีเสียด้วยซ้ำ นั่นจึงหมายถึงประเทศไทยต้องสูญเสียเม็ดเงินในการพัฒนาประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจไปมหาศาลจากวิกฤตภัยการเงินออนไลน์ 

มูลค่าความเสียหายคนไทยโดนหลอกวันละ 77 ล้านบาท 

ข้อมูลความเสียหายจากภัยออนไลน์ดังกล่าวมาจากนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นำเอาสถิติของยอดการแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 739,494 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 77,360,070,295 บาท เฉลี่ยมูลความเสียหายตกวันละ 77 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีผลการอายัดบัญชี จำนวน 560,412 บัญชี โดยยอดที่อายัดได้มีจำนวน 8,627,715,890 บาท นั่นเท่ากับว่าเงินอีก 68,733 ล้านบาท ได้ไหลออกไปสู่มือมิจฉาชีพแล้วนั่นเอง  

ตัวเลขความเสียหายดังกล่าวเป็นตัวเลขสะสม 3 ปี แต่หากเพียงแค่1เดือนที่ผ่านมาของปีนี้คือเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30  พฤศจิกายน 2567 มีการแจ้งความออนไลน์ รวม 31,353 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 2,540,251,400 บาท เฉลี่ยมูลค่าความเสียหายตกวันละ 85 ล้านบาท มีการอายัดบัญชี จำนวน 16,229 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 1,864,371,518 บาท แต่สามารถอายัดได้ จำนวน 383,933,622 บาท 

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก

ผ่าน www.thaipoliceonline.com   คือ

1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ)
มูลค่าความเสียหาย 146,876,439 บาท 

2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ
มูลค่าความเสียหาย 526,791,217 บาท 

3. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 444,379,386 บาท  

4. หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 99,885,464 บาท

5. หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 221,723,880 บาท 

ใครจะช่วยแก้ไขปัญหานี้? 

จากสถิติและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะนี่เป็นเพียงข้อมูลการแจ้งความออนไลน์เท่านั้น ยังมีผู้เสียหายอีกจำนวนมากที่ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจหรือไม่ได้ไปแจ้งความ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจะเรียกว่าเป็น "วิกฤตภัยการเงินออนไลน์” ที่คุกคามความปลอดภัยในชีวิตของคนไทยอยู่ในเวลานี้ก็ได้ 

คำถามที่ว่า ใครจะช่วยแก้ไขปัญหานี้? จึงต้องมองภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและเชื่อว่า แต่ละฝ่ายกำลังพยายามแก้ไขกันอยู่ แต่ดูเหมือนจะไม่ทันกับการรุกคืบของมิจฉาชีพที่ทำงานกันอย่างรวดเร็วและมีเทคโนโลยีใหม่ๆมาทำให้การหลอกลวงประชาชนยังมีความเสียหายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไล่เรียงมาตั้งแต่สถาบันการเงินทั้งหมด ตำรวจ หน่วยงานที่กำหนดกฏเกณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปปง. ค่ายมือถือ ธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ หน่วยภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงประชาชนทั่วไปอย่างเรา ซึ่งในปี 2567 นี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับภัยทุจริตทางการเงินอย่างเข้มข้นภายใต้ พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยเฉพาะการจัดการกับบัญชีม้าเพื่อช่วยลดความสูญเสียให้กับประชาชนรวมไปถึงร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการยกระดับและปรับรุงระบบการดูแลบัญชีของประชาชนเข้มข้นยิ่งขึ้น 

คนไทยปรับวิธีคิด “ไม่หลงเชื่อใครโดยง่าย รู้วิธีปกป้องเงินในบัญชี” 

อีกมุมหนึ่งของการตื่นตัวรับมือกับปัญหานี้คือ ภาคประชาชน ซึ่งดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เคยได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ  SPOTLIGHT Live Talk ไว้ถึงวิธีคิดของคนไทยจากวันนี้ไปว่า ต้องไม่หลงเชื่อคนแปลกหน้าที่มาอ้างข้อมูลต่างๆของเรา เพราะในความเป็นจริงข้อมูลพื้นฐานส่วนตัวของเรารั่วไหลมานานแล้ว ทั้งชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และปัจจุบันข้อมูลที่มิจฉาชีพรู้เริ่มลึกซึ้งมากขึ้น 

ดังนั้นในขณะที่หน่วยงานต่างๆกำลังยกระดับปรับปรุงระบบเพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ ประชาชนทุกคนจะต้องตื่นรู้ ไม่หลงเชื่อกับมิจฉาชีพที่อ้างข้อมูลของเราได้ถูกต้อง และต้องมีความรู้ถึงวิธีป้องกันตนเอง เช่น ไม่กดลิงก์ หรือ สแกนคิวอาร์โค้ดแปลกๆ , ไม่รับแอดไลน์คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก เพราะอาจนำพาไปสู่การพูดคุยหลงเชื่อจนโอนเงินให้หรือถูกดูดเงินในบัญชี 

ขณะที่บทความจากคอลัมนิสต์ของ SPOTLIGHT คุณราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP แนะนำวิธีการเก็บเงินให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพว่า การแยกเงินเก็บเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยให้เงินเก็บมีโอกาสรอดจากมิจฉาชีพและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ โดยแนะ 4 วิธีการ คือ 

4 ทางเลือกให้เงินเก็บ ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

1.แยกเก็บ ไว้หลายที่

2.แยกเก็บ ทั้งบัญชี Online & Offline

3.แยกเก็บ ในที่ต้องถอนหลายชั้น

4.แยกเก็บ ในทางเลือกที่ล็อกเงิน

อย่างไรก็ตามกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆเหล่านี้ยังคงตกอยู่ในความน่าเป็นห่วงที่อาจโดนหลอกได้ตลอดเวลา ดังนั้นคนรอบข้างจึงควรต้องคอยช่วยดูแล เพราะเชื่อว่าปัญหาภัยการเงินออนไลน์จะยังคงเป็นปัญหาใหญ่และไม่ง่ายที่จะปราบให้หมดไปจากสังคมไทยในเร็ววัน

ทั้งนี้มีแหล่งรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภัยออนไลน์และหากพบเห็นหรือถูกหลอกจากภัยออนไลน์ สามารถแจ้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ  หมายเลย 1441 หรือ หรือ 081-866-3000 และสามารถแจ้งความออนไลน์ที่ https://www.thaipoliceonline.com

ที่มา: ทำเนียบรัฐบาล , สำนักงบประมาณ , ธนาคารแห่งประเทศไทย

แชร์
ใครจะช่วยแก้ไข? เมื่อคนไทยโดนโกงจากภัยออนไลน์ 7.7 หมื่นล้านบาท