Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ที่สุดแห่งปี 2567 เปิด - ปิด โรงงานรถยนต์ในไทย วุ่นวายกันจ้าละหวั่น

ที่สุดแห่งปี 2567 เปิด - ปิด โรงงานรถยนต์ในไทย วุ่นวายกันจ้าละหวั่น

29 ธ.ค. 67
20:00 น.
|
939
แชร์

ในปี 2567 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับกันตามตรงก่อนว่า เป็นปีที่หนักหนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเราไม่น้อย โดยเฉพาะข่าวคราวการปิดตัวลงของโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ภายในประเทศ สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดีนอกจากด้านลบแล้ว ก็ยังมีอีกมุมกับการทยอยเปิดตัวของโรงงานประกอบรถยนต์โดยเฉพาะแบรนด์จากประเทศจีน ที่เริ่มเดินเครื่องประกอบรถยนต์ในประเทศไทยมากขึ้น เราลองไล่เรียงย้อนกันดูว่าในปีนี้มีเหตุการณ์ไหนกันบ้าง

Subaru ประกาศปิดโรงงาน

อีกเพียง 3 วัน โรงงานซูบารุก็จะหยุดผลิตอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Subaru Forester ส่งผลให้ในปีหน้า 2568 รถทุกรุ่นของ Subaru จะเปลี่ยนเป็นการนำเข้าแบบ CBU มาจำหน่ายทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น แน่นอนหลายคนอาจมองว่าคนไทยจะได้ใช้รถที่มาตรฐานเดียวกับญี่ปุ่น ไม่ดีหรอไง แต่นั่นก็ต้องแรกมาด้วยกับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นจากภาษีการนำเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้คนไทยเข้าถึงรถของ Subaru ได้น้อยลงในที่สุดนั่นเอง

สำหรับการประกาศปิดโรงงาน Subaru ในไทยนั้น เริ่มสะพัดออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงความไม่มั่นคง ไม่มั่นใจอย่างผู้ที่กำลังสนใจรถของค่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะสุดท้ายจะเลิกทำตลาดไปเลยหรือไม่ จะมีบริการหลังการขายระยะยาวไหวหรือเปล่า นั่นยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ที่หลายคนยังรอคำตอบแต่อาจต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานทีเดียว ไหนจะเรื่องอะไหล่สำรองภายในประเทศที่หลังจากนี้อาจต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นมากน้อยแค่ไหน

Honda ย้ายไลน์ผลิตจากโรงงานอยุธยา

มีความแตกตื่นไม่น้อยหลังสื่อญี่ปุ่นประโคมข่าวการลดกำลังการผลิตของ Honda ในประเทศไทย โดยสาระสำคัญหลังจากนั้นจะเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินกิจการใหม่ ทาง Honda ประเทศไทยอธิบายว่า ไม่ใช่การปิดตัวลงของโรงงาน แต่เป็นการย้ายไลน์การผลิตรถในโรงงานอยุธยา ไปรวมศูนย์่ที่โรงงานปราจีนบุรีแทน

โดยจะมีการปรับเปลี่ยนโรงงานอยุธยาเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและส่งออกแทนการผลิตรถยนต์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งย่อมมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดรถยนต์ในบ้านเราอย่างแน่นอน และมันส่งผลต่อยอดการผลิตรถยนต์ของ Honda ที่ลดน้อยลงนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ทาง Honda ก็ยืนยันหนักแน่นอยู่เสมอว่า ยังไม่มีแผนหรือแนวคิดย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยอย่างแน่นอน ในตอนนี้

Suzuki แจ้งยุติการผลิตรถในประเทศไทย

ช่วงเดือนมิ.ย. 67 อีกข่าวช็อกวงการยานยนต์คือการประกาศใส่เกียร์ถอยด้วยการประกาศยุติการผลิตรถยนต์ภายในประเทศของซูซูกิ หลังจากดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2555 ปิดตำนานรถผลิตในประเทศอีกหนึ่งแบรนด์ญี่ปุ่น

โรงงานของ Suzuki ในประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงถึง 6 หมื่นคันต่อปี จะยุติลงภายในสิ้นปี 2568 หรือปีหน้าที่กำลังจะถึงนี้ แต่ยังยืนยันการทำการตลาดในประเทศไทยต่อไปอย่างแน่นอน โดยจะเป็นการนำเข้าจากโรงงานในภูมิภาคอาเซียน อินเดีย และญี่ปุ่น

รถยนต์ 3 รุ่นที่ผลิตในไทย คือ Swift Ciaz และ Celerio โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการผลิตราว 7.5 พันคันเท่านั้นจากกำลังการผลิตทั้งหมด

BYD เปิดโรงงานยิ่งใหญ่

มาทางด้านค่ายรถยนต์จากประเทศจีนกันบ้าง จะค่อนข้างสวนทางกับฟากฝั่งญี่ปุ่นพอสมควรเลยทีเดียว โดย BYD ได้เปิดตัวโรงงานแห่งแรกในประเทศไทยหลังใช้เวลาก่อสร้างกว่า 16 เดือนจึงแล้วเสร็จ และเริ่มประกอบรุ่นแรกคือ Dolphin

โรงงาน BYD แห่งใหม่ที่ระยอง จะมีกำลังการผลิตสูงถึง 1.5 แสนคันต่อปี มีการจ้างงานกว่า 1 หมื่นอัตรา สำหรับ BYD ถือว่าได้รับการตอบรับและยอมรับจากชาวไทยอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 2 ปี จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านยอดขายของฝั่งยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย สำหรับในปี 2567 BYD ยังได้มีการต่อยอดในส่วนของรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่างเช่น DM-i PHEV เข้าสู่ตลาดบ้านเราอีกด้วย

นอกจากในประเทศไทยแล้ว BYD ยังมีโรงงานที่เป็นฐานการผลิตในประเทศต่างๆ อย่างเช่น บราซิล ฮังการี และอุซเบกิสถาน และจำหน่ายรถยนต์ใน 88 ประเทศทั่วโลก

Changan ลงทุนสร้างโรงงานหมื่นล้าน

ด้าน ฉางอัน กันบ้าง ที่มีการทุ่มทุนกว่าหมื่นล้านสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง และจะดันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกทั่วโลกอีกด้วย โดยมีกำหนดการเริ่มเปิดสายพานการผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 พร้อมทั้งจะใช้ซัพยาลเออร์ในไทยกว่า 300 ราย

ทาง Changan ยังมีแผนเตรียมเปิดตัวรถรุ่นผลิตในประเทศไทย ที่จังระยอง ซึ่งจะเป็นขุมพลังแบบ BEV และ REEV ที่จะวิ่งได้ไกลเกิน 1,000 กิโลเมตรต่อน้ำมันหนึ่งถัง ภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ด้วยเช่นกัน

GAC AION เริ่มผลิตในประเทศ

AION Y PLUS เริ่มผลิตในประเทศไทยเรียบร้อย ภายในโรงงานที่มีพื้นที่มหาศาลกว่า 8.5 หมื่นตารางเมตร โดยโรงงาน GAC ในประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังอาเซียน รวมถึงส่งออกไปยังประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาทั่วโลก

สำหรับโรงงานในประเทศไทยจะใช้เทคโนโลยีการผลิต และควบคุมคุณภาพการผลิตด้วยระบบ AI ไร้คาร์บอน รวมถึงเป็นโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานใหม่ Lighthouse Factor แห่งแรกและแห่งเดียวในโลก

NETA เริ่มผลิตในไทย

เป็นอีกหนึ่งค่ายจากจีนที่เริ่มเดินสายพานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในปีนี้ โดยโรงงาน NETA ยังนับเป็นโรงงานแห่งแรกของเนต้านอกประเทศจีน รุ่นที่ผลิตเป็นรุ่นแรกคือ NETA V-II

โรงงานแห่งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง เนต้า กับ บางซัน และมีแผนเปิดตัวรถ EV รุ่นใหม่ในประเทศไทยอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการเปิดตัว NETA X เป็นรุ่นที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว

แชร์
ที่สุดแห่งปี 2567 เปิด - ปิด โรงงานรถยนต์ในไทย วุ่นวายกันจ้าละหวั่น