ชวนให้คิด ทำไมเวลาเราเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุระในสถานที่ต่างๆ ถึงรู้สึกว่าการขับรถขาที่เราไปนั้น ดูเหมือนว่าจะใช้เวลานานกว่าขากลับ ทั้งๆ ที่ระยะทางก็พอๆ กัน สาเหตุมันเพราะอะไรกันแน่ นักจิตวิทยาถึงกับออกมาวิเคราะห์ ว่าทำไมเราจึงรู้สึกแบบนั้น และตั้งชื่อความรู้สึกนี้ด้วยว่า “return trip effect”
นีลส์ แวน เดอ เว็น นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัย ทิลเบิร์ก ในเนเธอร์แลนด์ ออกมาอธิบายตามหลักจิตวิทยาไว้ถึงการที่เรารู้สึกว่าการเดินทางขากลับนั้นเร็วกว่าก็เพราะความรู้สึกคุ้นเคย และได้ทดสอบโดยการให้อาสาสมัครสองกลุ่มขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่เดียวกัน กลุ่มแรกให้ขี่ไปและขี่กลับในเส้นทางเดิม ส่วนอีกกลุ่มใช้เส้นทางกลับอีกทางหนึ่งซึ่งระยะทางเท่ากัน ผลของทั้งสองกลุ่มตอบว่า ขากลับเร็วกว่า
ไม่ใช่แค่ นีลส์ แวน เดอ เว็น ที่ทำการทดสอบการเดินทางขากลับนั้นเร็วกว่า ยังมีนักจิตวิทยอย่าง ไมเคิล รอย จากวิทยาลัยเอลิซาเบ็ธทาวน์ ร่วมศึกษาและเขียนบทความเรื่อง “return trip effect” ด้วยเช่นเดียวกัน
นั่นก็เป็นเหตุผลทางจิตวิทยาที่ได้มีนักจิตวิทยาได้ทำการทดสอบทฤษฏีนี้ไว้ โดยส่วนตัวผู้เขียนเอง เวลาเดินทางก็มักจะคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน เพราะจดจ่อกับการเดินทางมาก เนื่องจากอยากถึงที่หมายโดยไว จิตใจไปโฟกัสมุ่งตรงต่อการเดินทาง แต่มันก็มีบางครั้งบางทีการพูดคุยกับผู้โดยสารที่ไปด้วยอย่างสนุกสนานจนลืมเวลา ก็ทำให้ถึงที่หมายได้ไวเช่นเดียวกัน เพราะไม่ได้โฟกัสไปที่การเดินทางเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว เราจะไม่นับการจราจรหนาแน่นบนถนน เพราะถ้าขาไปติดหนัก ขากลับไม่ติด แน่นอนว่าขากลับไวกว่าแน่นอน หรือ ขากลับรถติดหนักมากกว่าขาไป อันนี้วัดกันไม่ได้ ต้องวัดจากถนนที่โล่ง และเป็นถนนเส้นทางเดียวกัน ถึงพอจะวัดดูได้ว่าขาไหนไวกว่า ออ.. และไม่นับรวมไปถึงการพูดคุยกับผู้โดยสารที่มาด้วยกันอย่างสนุกไม่หยุดปาก หรือมีกิจกรรมระหว่างทางมากนัก เช่น แวะท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ
ทั้งหมดทั้งมวลคุณผู้อ่านลองสังเกตดูว่า การเดินทางขาไปและขากลับของผู้อ่านนั้น ช้า หรือ ไว กว่ากัน ลองมาแชร์ความคิดเห็นกันดูได้นะ