รัฐบาลจีนประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะเริ่มจำกัดการส่งออก แร่หายาก (Rare Earth Elements) ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า อาวุธยุทโธปกรณ์ และสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงหลายประเภท โดยมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา นับเป็นการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของรัฐบาลทรัมป์ และยังเป็นการตอกย้ำว่า จีนพร้อมใช้ความได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็น “อาวุธเชิงเศรษฐกิจ” ในขณะที่ภายในวันพุธที่ 9 เมษายน 2568 ภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสู่ตลาดอเมริกาก็กำลังจะพุ่งถึง 104% หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ปัจจุบันจีนถือครองกำลังการผลิตแร่หายากมากกว่า 90% ของโลก โดยเฉพาะกลุ่ม "แร่หายากหนัก" ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สูง ลองไปดูว่าในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีแร่ไหนที่มีความจำเป็นต่อชิ้นส่วนใดบ้างภายใน
1. ซามาเรียม (Samarium) จำเป็นโดยตรง
2. แกโดลิเนียม (Gadolinium) ใช้ในทางอ้อม
3. เทอร์เบียม (Terbium) จำเป็นโดยตรง
4. ดิสโพรเซียม (Dysprosium) จำเป็นโดยตรง
5. ลูทีเชียม (Lutetium) ใช้ในทางอ้อม
6. สแกนเดียม (Scandium) จำเป็นโดยตรง
7. อิทเทรียม (Yttrium) ใช้ในทางอ้อม
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องใช้แม่เหล็กถาวร (Permanent Magnets) ในมอเตอร์ และแร่หายากในการผลิตแบตเตอรี่และระบบควบคุมไฟฟ้า นี่คือการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ที่กระทบต้นทุนและซัพพลายเชนโดยตรง ค่ายอย่าง Tesla ที่เป็นสัญชาตินอกประเทศจีน อาจต้องหาทางกระจายแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติม ขณะที่บริษัทที่ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า, ระบบเรดาร์, และระบบควบคุมต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงอย่างเร่งด่วน
ส่วนในรถยนต์สัญชาติจีนเองก็คาดน่าจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจีนที่จะทำการส่งออกอาจต้องเจอเงื่อนไขที่ยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น รวมถึงต้นทุนที่พุ่งขึ้นสูงอย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือแม้กระทั่งหลายๆ แบรนด์ที่ตั้งโรงงานนอกประเทศจีนก็มีการนำเข้าชิ้นส่วนการประกอบจากจีนเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจำกัดการส่งออกแร่หายากจากรัฐบาลไปได้
อย่างไรก็ดี การจำกัดการส่งออกแร่หายากของรัฐบาลจีนในรอบนี้คงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงแค่นั้น แต่มันย่อมส่งผลต่อภาพใหญ่ของโลกที่พึ่งพาแร่เหล่านี้ ไม่ว่าจะ วงการแพทย์ ไปจนถึงความมั่นคงแห่งรัฐ ล้วนต้องพึ่งพาแร่หายากเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นการโต้ตอบของจีนในรอบนี้จึงถือว่าเป็นการทิ่มเข้าไปในจุดที่ค่อนข้างเปราะบางทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก ต้องติดตามต่อไปว่าหลังจากนี้สงครามแร่ และกำแพงภาษีอะไรจบสิ้นลงไปก่อนกัน