โชคร้ายมักเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต้องรอปีชงหรือดวงตก แค่ขับรถออกจากบ้าน ก็เจอปาดหน้า พอจอดรถอยู่เฉยๆ ขี้นกก็ตกใส่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ขับรถอยู่ดีๆ เบรกไม่อยู่ เบรกไปไหน ไปเที่ยวเหรอ กลับมาก่อน แต่หากกลับมาไม่ได้แล้ว มันก็คืออาการที่ใครๆ เรียกกันว่า "เบรกแตก" จะทำยังไงกันดีล่ะทีนี้ สติกระเจิดกระเจิงไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแน่ๆ ดึงสติกลับมาแล้วทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
ตั้งสติ
เมื่อเจอปัญหารถเบรกแตก สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตั้งสติให้มั่น จะสวดมนต์ร่วมไปด้วยก็ไม่ผิด สูดลมหายใจลึกๆ และสงบสติอารมณ์ให้ได้อย่าแพนิก เพราะยิ่งตกใจก็ยิ่งทำให้ลนลานอาจะทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ ทางที่ดีต้องรีบควบคุมอารมณ์และคิดหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คิดเร็ว คิดช้าไม่ได้ เพราะชีวิตอยู่แขวนอยู่บนถนน ไม่ใช่เส้นด้าย
เปิดไฟฉุกเฉิน
เมื่อเกิดเหตุรถเบรกแตก ให้เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นๆ ได้ระมัดระวัง และพยายามประคองรถไว้ด้วย
ย้ำเบรก
จริงๆ แล้วการที่รถเบรกไม่อยู่ ปัญหาอยู่ที่ตัวรถ เพราะเกิดจากความผิดปกติของระบบเบรก อาจเกิดมาจาก มีอากาศเข้าไปอยู่ในระบบเบรกได้ การช่วยให้รถชะลอด้วยการเหยียบเบรกซ้ำๆ อาจจะช่วยไล่อากาศออกไปได้ ทำให้ระบบเบรกกลับมาทำงานเหมือนเดิม แต่หากเบรกได้แล้ว ควรหาศูนย์บริการหรืออู่ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อเช็กระบบเบรก ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อน
ถอนคันเร่ง เปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำ
หากรู้แน่นอนว่าเบรกไม่อยู่แน่แล้ว ให้ทำการถอนคันเร่งในทันทีเพื่อลดความเร็วของรถยนต์ โดยรถเกียร์ธรรมดาให้เข้าเกียร์ 2 หรือ 1 แล้วปล่อยคลัตช์ จะทำให้ความเร็วลดลงอย่างรวดเร็ว ใช้เบรกมือเข้าช่วยเมื่อรถใกล้หยุด ส่วนในรถยนต์เกียร์อัตโนมัติให้เปลี่ยนเกียร์มาที่ตำแหน่ง 2 หรือ 1 หรือ L หากเป็นเกียร์ระบบบวกลบ ให้เปลี่ยนเกียร์ไปที่ตำแหน่งลบไปเรื่อยๆ จนกว่ารถจะชะลอตัว และใช้เบรกมือเข้าช่วย ทั้งนี้ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์ทันทีเพื่อลดความเร็วอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
ชิดซ้ายให้ไวหากทำได้
หลังจากที่ทำการเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำสำเร็จ จนรถชะลอตัวช้าลง ความเร็วของรถยนต์ลดลงแล้ว พยายามประคองพวงมาลัยให้มั่น หาทางขับเข้าเลนซ้ายให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อนำรถหลบข้างทางไม่ให้กีดขวางการจราจรของผู้อื่น ที่สำคัญตอนขับเข้าเลนซ้าย ต้องให้สัญญาณกับรถที่อยู่ด้านหลัง เปิดไฟฉุกเฉินและบีบแตรเพื่อส่งสัญญาณเตือนผู้ร่วมทางด้วย
ดึงเบรกมือช่วย
เมื่อรถเบรกแตก การดึงเบรกมือก็สามารถช่วยชะลอความเร็วของรถยนต์ได้ เพราะเบรกมือนั้นสามารถเป็นตัวช่วยหน่วงความเร็วของล้อ แต่ไม่ควรดึงแบบค้างไว้รวดเดียว อาจทำให้ล้อหลังล็อกตายจนเกิดอาการเสียหลักได้ ให้ทำการดึงเบรกมือขึ้นอย่างช้าๆ จนสุดจะช่วยลดความเร็วของรถลงได้อีกทางหนึ่งแล้ว กรณีที่รถเป็นระบบเบรกมือไฟฟ้า สามารถใช้งานเบรกไฟฟ้าฉุกเฉินได้ด้วยการดึงสวิตช์เบรกมือไฟฟ้าค้างไว้ รถจะค่อยๆ ชะลอความเร็วลง โดยไม่ทำให้ล้อหลังล็อกตายเหมือนกับการดึงเบรกมือปกติ
เบรกแตกบนทางลาด
หากรถเบรกแตกบนทางลาดชัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างขึ้นหรือลงเขา หรือแม้แต่เนินชัน ให้พยายามทำตามข้อที่กล่าวมาข้างต้น คือ ลดความเร็วด้วยการถอนคันเร่ง ปรับเกียร์ต่ำ และใช้วิธีการดึงเบรกมือ แต่การใช้เบรกมือควรทำเมื่อรถเข้าสู่ถนนที่ความลาดชันน้อยแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันเครื่องยนต์เสียหายได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุที่ทำให้รถยนต์เบรกแตก อาจเกิดจาก น้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ ท่อน้ำมันเบรกรั่ว ผ้าเบรกหมด ผ้าเบรกไหม้ก็เป็นได้ วิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์รถเบรกแตก ควรหมั่นตรวจเช็กความพร้อมของรถยนต์ ระบบเบรก และระบบต่างๆ รวมไปถึงส่วนอื่นๆ ของรถยนต์ให้พร้อมต่อการใช้งานอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอุบัตเหตุแบบไม่คาดฝันได้นั่นเอง