ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศได้นาน อาจมีสารพิษเกาะมาด้วย หากอากาศแห้งและเย็น ความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ PM2.5 สะสมในอากาศ แขวนลอยได้นาน จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีหม่น หรือเกิดเป็นหมอกควัน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ทั้งการเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม และจากยานพาหนะ จากบทความโดย ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และพร้อมพัฒน์ ภูมิวัฒน์ ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
การใช้รถยนต์เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง เนื่องจากเมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีปริมาณการใช้รถยนต์สูงและมีสภาพจราจรติดขัด ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในสารมลพิษที่ถูกปล่อยจากท่อไอเสียของรถยนต์หลังจากกระบวนการเผาไหม้ในห้องเครื่อง โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ปริมาณของฝุ่น PM2.5 ที่ปล่อยออกมาขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น เทคโนโลยีและมาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ และอายุการใช้งานของรถยนต์ เป็นต้น
สำหรับแนวทางในการควบคุมปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากยานยนต์นั้น ประเทศไทยนำมาตรฐาน European emission standard (มาตรฐาน Euro) ซึ่งกำหนดโดยสหภาพยุโรปมาใช้ในการกำกับควบคุมสารมลพิษที่เกิดจากรถยนต์ โดยมาตรฐาน Euro แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ และ มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบัน มาตรฐาน Euro ด้านการระบายไอเสียของรถยนต์แบ่งออกเป็น 6 ระดับ ตั้งแต่มาตรฐาน Euro 1 ถึง Euro 6 โดยภายใต้มาตรฐาน Euro ที่สูงขึ้น ปริมาณสารมลพิษที่เกิดจากรถยนต์จะลดลง ซึ่งรวมถึงฝุ่น PM2.5 ด้วย ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงใช้มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์และมาตรฐานควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่ระดับ Euro 4 และมีการใช้งานรถยนต์เก่าที่มีมาตรฐานการระบายไอเสียต่ำกว่าระดับ Euro 4 อีกเป็นจำนวนมาก
จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่าแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากภาคยานยนต์ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ผู้ผลิตยานยนต์ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเน้นการผสมผสานระหว่างมาตรการภาคบังคับและมาตรการภาคสมัครใจ เพื่อนำไปสู่การลดฝุ่น PM2.5 จากภาคยานยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาครัฐควรยกระดับมาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์และมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงจาก Euro 4 ไปสู่มาตรฐาน Euro ที่สูงขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 และสารมลพิษอื่นๆ ที่ปล่อยจากรถยนต์ อย่างไรก็ดี การยกระดับมาตรฐาน Euro สำหรับรถยนต์ใหม่และการยกระดับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เพียงพอที่จะทำให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องมีการใช้มาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการจัดการปัญหาการใช้รถยนต์เก่าซึ่งปล่อยฝุ่น PM2.5 ในปริมาณที่สูง ตัวอย่างมาตรการจัดการรถยนต์เก่า ได้แก่ การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ประจำปี การจำกัดอายุการใช้งานของรถยนต์ เป็นต้น โดยทั้งสองมาตรการมีการใช้ในต่างประเทศ
ภาครัฐต้องพิจารณาผลกระทบของมาตรการข้างต้นที่อาจจะเกิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อให้ต้นทุนที่เกิดจากการใช้นโยบายมีความสมเหตุสมผลกับการได้มาซึ่งคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น กำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านระหว่างมาตรฐาน Euro ต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ โรงกลั่นน้ำมัน และ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มีเวลาในการเตรียมตัวที่เพียงพอ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนหรือชดเชยให้กับเจ้าของรถยนต์เก่า ในกรณีที่มีการใช้มาตรการกำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์เก่า อาจทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก อีกทั้งส่วนใหญ่อาจเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องนำรถยนต์เก่าออกจากระบบและซื้อรถยนต์ใหม่
สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในส่วนของผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคอาจช่วยลดปริมาณของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากยานยนต์ได้ โดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแทน แต่ภาครัฐต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เป็นตัวเลือกที่ดึงดูดและน่าสนใจ ทั้งในด้านความครอบคลุมของเส้นทางเดินรถ ราคาที่เหมาะสม รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ เช่น ที่จอดรถสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
ปรับพฤติกรรมการใช้รถยนต์
เราสามารถปรับพฤติกรรมการใช้รถยนต์ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ได้โดย การตรวจสอบสภาพรถ และบำรุงรักษาเครื่องยนต์อยู่เสมอ โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องดีเซล เพื่อไม่ให้ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา หมั่นทำความสะอาดกรองอากาศไม่ให้อุดตัน ตรวจสอบการทำงานของเครื่องยนต์เป็นประจำ ไม่ปรับแต่งเครื่องยนต์เพิ่มเติม และไม่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถเสมอ การติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ขณะจอดรถ ไอเสียที่ปล่อยออกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ
วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองจากฝุ่น PM2.5