ช่วงนี้อากาศร้อนมากๆ เวลาเข้าไปในรถก็อยากเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ เรื่องของแอร์ก็ต้องมีการบำรุงรักษาให้มีอายุการใช้งานได้นาน ๆ ก็ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเย็นแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าของรถทุกคนก็สามารถทำด้วยตัวเองได้ง่ายๆ
อันดับแรก ควรทำความสะอาดหรือล้างตู้แอร์ปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นรถใหม่ป้ายแดง หรือใช้งานมาไม่เกิน 3 ปี ก็อาจจะอนุโลมให้เป็น 2 ปีครั้งก็ยังไม่ว่ากันนะ และเมื่อใช้งานเกิน 5 ปีแล้ว ควรจะล้างตู้แอร์อย่างน้อยปีละครั้งก็จะดี
ที่บอกให้ล้างตู้แอร์ปีละครั้ง ก็เพราะว่าการที่อากาศภายในรถยนต์หมุนเวียนผ่านตัวคอยล์เย็น หรืออิวาปโพเรเตอร์นั้น มักจะพาเอาฝุ่นละอองทั้งหลายแหล่มากบ้างน้อยบ้าง มาสะสมอยู่ที่ตู้แอร์ ซึ่งส่วนมากเมื่อมาเจอกับความชื้นที่แผงคอยล์เย็น ไอน้ำในบรรยากาศ ทำให้ฝุ่นละอองเหล่านี้ เกาะตัวสะสมมากขึ้น ทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และยังทำให้เกิดการกัดกร่อนตัวแผงคอยล์เย็น ที่ส่วนมากมักทำจากอลูมิเนียม ทำให้น้ำยาแอร์ในระบบรั่วออกมาจากจุดนี้ และเวลาเปลี่ยนก็มักต้องเปลี่ยนยกชุด ซึ่งมีราคาสูงไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างรถญี่ปุ่นเล็กๆ ทั่วๆ ไป ใช้เงินบำรุงรักษาหลายบาทอยู่นะ
ส่วนตัวแผงคอยล์ร้อน หรือคอนเดนเซอร์ มักจะมีฝุ่นปลิวมาเกาะและจะติดสะสม เนื่องจากแผงคอยล์ร้อนส่วนใหญ่ ถูกติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหม้อน้ำรถยนต์ และเมื่อเศษผงพวกนี้แห้ง ก็จะเกาะติดแน่น ดังนั้น เวลาล้างรถควรใช้น้ำที่แรงดันไม่สูงมากนัก ฉีดล้างทำความสะอาดแผงคอนเดนเซอร์ที่อยู่ด้านหน้าด้วย หรือจะค่อย ๆ เก็บเศษสิ่งสกปรกที่มาติดค้างออก อย่างพวก ใบไม้ หรือ แมลง ได้ยิ่งดีใหญ่ เพื่อให้ลมผ่านช่องระบายความร้อนได้สะดวกขึ้น
หากมีเศษโคลนมาเกาะติดแน่น ก็ลองใช้แชมพูล้างรถ ล้างทำความสะอาดด้วยแปรงนิ่มๆ อย่าใช้แปรงที่มีความแข็งมากเกินไป เพราะอาจทำให้ครีบอลูมิเนียมบาง ๆ หรือที่เรียกว่า ฟิน (Fin) เกิดบิดเบี้ยวหรือครีบล้ม ทำให้ปิดกั้นไม่ให้ลมผ่าน ทำให้การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้แอร์เย็นน้อยลงไปอีก
นอกจากนี้แล้ว ให้หมั่นตรวจเช็คความตึงของสายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ เพราะเวลาที่สายพานหย่อนเกินไป มักจะมีเสียงดังเกิดขึ้นได้เมื่อเปิดแอร์ ควรปรับตั้งให้สายพานตึงพอเหมาะพอควร การตรวจความตึงของสายพาน ให้ใช้นิ้วมือกดลงไปที่ช่วงกลางของสายพานระหว่างพูลเล่ย์ของเครื่องยนต์ กับพูลเล่ย์ของคอมเพรสเซอร์แอร์ ด้วยแรงที่พอประมาณ หากสายพานยุบตัวลงไปจากเดิมราวๆ 1 – 2 เซนติเมตร ถือว่าใช้ได้ หากกดแล้วยุบตัวมากกว่านี้จากแนวเดิม แสดงว่าสายพานหย่อนเกินไป ควรปรับตั้งให้ตึงขึ้นอีกนิด แต่การปรับตั้งสายพานนี้ ก็ไม่ควรให้ตึงเกินไป เพราะจะทำให้ลูกปืน (Bearing) ของตัวคอมเพรสเซอร์ชำรุดเสียหายได้อีก
และให้คอยสังเกตดูว่า หากลมที่ผ่านตู้แอร์มานั้น จากที่เคยแรงๆ อยู่ แล้วลดความแรงลง ส่วนมากแล้วเป็นการเตือนว่า อาจเกิดการอุดตันขึ้นจากสิ่งสกปรก เป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่า ได้เวลาล้างตู้แอร์แล้วจ้าาาาา... หรือให้ลองสังเกตจากคราบน้ำมัน ที่มักจะไปจับอยู่ตามข้อต่อ หรือท่อทางเดินของน้ำยาแอร์ ก็ควรนำไปให้ช่างแอร์ตรวจเช็คการรั่วของน้ำยาแอร์ เพื่อแก้ไขต่อไป เช่น เปลี่ยนสายน้ำยาแอร์หรือข้อต่อที่รั่ว
หากปล่อยให้น้ำยาแอร์รั่วออกจากระบบหมด อาจทำให้น้ำมันหล่อลื่นของคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ปนอยู่ในน้ำยารั่วออกตามไปด้วย เมื่อขาดน้ำมันหล่อลื่น คอมเพรสเซอร์แอร์ก็จะเกิดความร้อนสูง ความสึกหรอของชิ้นส่วนภายในตัวคอมเพรสเซอร์ก็สูงตามไปด้วย จนบางครั้งทำให้คอมเพรสเซอร์เกิดการติดขัด ไม่สามารถหมุนต่อไปได้ หรือที่เรียกว่า อาการคอมล็อก หมายความว่า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมมาแล้ว อาจจะถึงกับต้องเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ใหม่ไปเลยก็ได้