ข่าวคราวการประกาศปิดตัวลงของโรงงานประกอบรถยนต์ Subaru พร้อมกับเตรียมปลดพนักงานด้านการผลิตทั้งหมด โดยจะหยุดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยถาวร ซึ่งจะทำการผลิต Forester รุ่นปัจจุบัน ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567 สร้างข่าวสะเทือนวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่น้อย แม้ทาง Subaru จะออกมาชี้แจงแบบทันทีทันใด ว่าการปิดโรงงานในครั้งนี้เป็นเพียงการปรับกลยุทธ์ทางการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยภายในปี 2568 หรือปีหน้า รถทุกรุ่นที่จำหน่ายในไทยจะเป็นรถยนต์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด รวมถึงในตลาดรถมาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม เช่นเดียวกัน
แต่เอาเข้าจริงใครบ้างที่จะไม่ตกตะลึงกับข่าวนี้ โดยเฉพาะเจ้าของรถ Subaru ทั่วฟ้าเมืองไทย ลามไปจนถึงคนที่กำลังเล็งรถจากค่ายนี้อยู่ ย่อมเกิดเครื่องหมายคำถามตะโกนในหัวว่า ไปต่อแน่นะ หรือแค่ยื้อเวลาเทสต็อกที่เหลือออกจนหมด แล้วแบบนี้ในปีหน้าหลังจาก Subaru เลิกประกอบรถในประเทศไทยแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราลองมาวิเคราะห์กันเป็นข้อๆ ครับ
แน่นอนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับราคารถยนต์ที่นำเข้าจาก ตปท. ทั้งคัน โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศที่ไม่อยู่ร่วมในข้อตกลงภาษีการนำเข้าพิเศษร้อยละ 0 สำหรับภาษีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศทั้งคัน (CBU) จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ประเภทของรถ ขนาดเครื่องยนต์ ประเทศผู้ผลิต เป็นต้น
อากรขาเข้า: ต้องเสียก่อนนำรถออกจากท่าเรือ อัตราแตกต่างกันขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ของรุ่นรถ แต่โดยปกติจะมีเรทประมาณ 30%-80% ของราคา CIF (ราคารถ+ค่าประกันภัย+ค่าขนส่ง)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT): อัตรา 7% ของราคา CIF รวมอากรขาเข้า โดยภาษีในส่วนนี้จะจ่ายพร้อมกับอากรขาเข้า
ภาษีสรรพสามิต: ส่วนนี้เป็นภาษีสำหรับรถยนต์นำเข้าเพื่อใช้งานในประเทศไทย อัตราจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยของรถแต่ละรุ่นเช่นกัน โดยปกติจะมีอัตราอยู่ที่ 30%-50% ของราคา CIF บวกอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีอื่นๆ แล้วแต่กรณี: เช่น รถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์เกิน 3000 ซีซี หรือภาษีมหาดไทย เป็นต้น
ถ้าลองคำนวนจากรถยนต์นำเข้า สมมติราคา CIF อยู่ที่ 2,000,000 บาท บวกอากรขาเข้า 30% จะเท่ากับ 2,600,000 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เพิ่มเป็น 2,782,000 บาท บวกภาษีสรรพสามิต 40% เป็นราคา 3,894,800 บาท นั่นเท่ากับว่ารถคันนี้โดนภาษีไปทั้งสิ้น 1,894,800 บาท แต่นี่เป็นเพียงการคำนวนคร่าวๆ เท่านั้น รถแต่ละรุ่นมีรายละเอียดที่แตกต่าง และมีอัตราภาษีมากน้อยไม่เท่ากันครับ
รถรุ่นที่ประกอบในประเทศ ย่อมต้องมีจำนวนชิ้นงานอะไหล่ที่ผลิตสำรองในประเทศได้ง่ายมาก สะดวกกว่า ทำให้มีชิ้นส่วนสำรองที่ราคาอาจไม่สูงนักเมื่อต้องเทียบกับรถรุ่นที่ต้องนำเข้า รวมถึงการนำเข้าอะไหล่ก็ต้องเจอภาระภาษีที่ต้องเพิ่มเข้าไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในบางรุ่น เราก็มักจะพบว่าอะไหล่ที่เป็นมาตรฐานนำเข้า โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นมักจะมีคุณภาพและทนทานมากกว่ารุ่นที่ผลิตในบ้านเรา อันนี้ก็ถือว่าเป็นมุมดีก็ว่าได้
คงต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า มาตรฐานการผลิตรถของในแต่ละประเทศนั้นมีศักยภาพที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น ส่วนมาตรฐานการผลิตรถยนต์ในบ้านเรานั้นต้องถือว่าอยู่มาตรฐานที่ดี และได้การยอมรับจากทั่วโลกร่วมกับนานาประเทศ ดังนั้นรถยนต์นำเข้าแบบทั้งคันจากบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศชั้นนำอาจมีคุณภาพใกล้เคียง หรือดีกว่าเล็กน้อยกับรถผลิตในบ้านเรา เพียงแต่ว่าหากเป็นรถที่ผลิตจากในบางประเทศ อาจมีมาตรฐานที่สู้บ้านเราไม่ได้เช่นเดียวกันครับ
สำหรับข้อนี้บางทีอาจกลายเป็นข้อดีแบบไม่ตั้งใจ เพราะต้องยอมรับโดยตรงว่ารถยนต์หลายๆ รุ่นที่ประกอบในบ้านเรา บางครั้งมักถูกลดทอนหรือตัดอุปกรณ์มาตรฐานออกไปอย่างน่าเสียดาย ชนิดที่หลายรุ่นตัวส่งออกที่ผลิตจากประเทศเราแท้ๆ มีอุปกรณ์ครบๆ ส่วนตัวจบในบ้านเราถูกเอาออกซะอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นรุ่นที่นำเข้าอย่างเช่นเป็นสเปคนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มักจะไม่ค่อยมีการตัดอุปกรณ์ออกไป ทำให้เราได้ใช้สเปคเดียวกันประเทศต้นทาง ซึ่งนั่นอาจถือว่าเป็นผลพลอยได้ในทางที่ดีกว่าเดิม
สุดท้ายแล้วก็คงต้องบอกว่า เรายังเอาใจช่วย Subaru ไม่ว่าเหตุการณ์ที่แท้จริงแล้วจะเป็นอย่างไร บ้างก็ว่าปรับตัว บ้างก็ว่าเพราะขาดทุนกับโรงงานในบ้านเรามาต่อเนื่อง ซึ่งยังไงซะในฐานะที่ผมเป็นคนขับรถจริงๆ ใช้งานจริงๆ ขอให้ Subaru ยังอยู่กับประเทศเราไม่ว่าจะเป็นการขายในรูปแบบใด เพราะยังไงก็ยังอยากให้มีรถที่คุณภาพดี และสมรรถนะที่ดีอยู่คู่ประเทศเราไปเรื่อยๆ ครับ