Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ เนื่องในวันหัวใจโลก 
โดย : สุขภาพและความงาม

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ เนื่องในวันหัวใจโลก 

26 ก.ย. 65
12:06 น.
|
288
แชร์

โรคหัวใจ โรคที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร วันนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ เนื่องในวันหัวใจโลก 


นายแพทย์ ธีรวิทย์ เหลืองดิลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่  จะมาพร้อมกับ 3 โรคหลัก ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) ซึ่งแต่ละโรคจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้


ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือ โรคหรือภาวะบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวและสูบฉีดเลือดได้น้อยลง ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมต่างๆ เช่น กลุ่มโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงสูงกว่าบุคคลทั่วไป หรือภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัส หรือเป็นหวัด และไวรัสดังกล่าวไปทำร้ายกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง รวมไปถึงภาวะการตั้งครรภ์บางอย่าง จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดความเสียหาย สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยผู้ป่วยโรคนี้ มักจะมีอาการเหนื่อยง่าย ตัวบวม ไม่สามารถนอนในท่าราบได้ เนื่องจากมีน้ำคั่งค้างในร่างกายเป็นจำนวนมาก และมีภาวะน้ำท่วมปอดร่วมด้วย


โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) เกิดจากการที่หลอดเลือดเสื่อมลง เนื่องจากอายุที่มากขึ้น หรือจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการสูบบุหรี่จัด การไม่เลือกรับประทานอาหาร จนมีภาวะไขมันในเลือดสูง การเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้เกิดการก่อตัวของชั้นไขมันในหลอดเลือด จนเส้นเลือดหัวใจตีบ และเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ โดยอาการที่เห็นได้ชัด คือ อาการเจ็บหน้าอก เมื่อออกกำลังกายหรือใช้แรงมาก ซึ่งอาการจะทุเลาลงเมื่อหยุดทำกิจกรรมดังกล่าว 

1-hug-your-heart_210922-01

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) เป็นภาวะที่ต่อยอดจาก โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) และมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน โดยภาวะนี้จะเกิดจากการฉีกขาดหรือปริแตกของผนังหลอดเลือดจนเป็นแผลฉับพลัน และทำให้เกล็ดเลือดที่ทำหน้าที่สมานแผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นบางส่วน จะส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเกิดอาการอุดตัน และทำให้การไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจลดลงอย่างฉับพลันได้ โดยผู้ป่วยประเภทนี้อาจเกิดอาการแน่นหน้าอกเป็นระยะเวลานานกว่า 15-20 นาที พร้อมทั้งมีเหงื่อออกเป็นจำนวนมาก รวมถึงเกิดอาการใจสั่นร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงโดยทันที 


ทั้งนี้ แม้คนส่วนใหญ่จะเคยได้ยินและเข้าใจเกี่ยวกับโรคเหล่านี้มาบ้าง แต่ก็ยังเกิดคำถามเกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่พบ รวมไปถึงยังกังวลถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ซึ่งในวันนี้ นายแพทย์ ธีรวิทย์ จะมาร่วมตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ พร้อมแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพที่ส่งผลต่อหัวใจโดยตรง เพื่อให้ทุกคนได้ลองนำไปทำตามด้วยตนเอง

  1. อาการเจ็บหน้าอก เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจหรือไม่ อาการเจ็บหน้าอกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจเสมอไป เนื่องจาก หน้าอกประกอบด้วยผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูกซี่โครง หลอดอาหาร และหัวใจ ซึ่งอวัยวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ ดังนั้น เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำต้องอาศัยการซักประวัติของแพทย์ แต่อย่างไรก็ตาม การรู้จักลักษณะจำเพาะของอาการโรคหัวใจก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าอาการแบบไหนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองเบื้องต้น ก่อนรีบไปพบแพทย์

  2. โรคหัวใจพบได้แค่ในผู้สูงอายุหรือไม่ไม่ใช่ เพราะถึงแม้ว่า โรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลกจะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ จากสาเหตุความเสื่อมของหลอดเลือด แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่น ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน 

    โดยในเด็กหรือคนอายุน้อยมักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด หรือ ผนังหัวใจรั่ว ส่วนโรคหัวใจที่พบบ่อยในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อายุ 30 – 35 ปี มักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการสูบบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ แม้แต่นักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรง ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนักๆ ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรต้องตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อประเมินว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่

  3. ความเครียด ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพหัวใจความเครียดอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจโดยตรง แต่ความเครียดมักส่งผลต่อปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เนื่องจากผู้ที่มีความเครียดสูงมักจะดูแลสุขภาพน้อยลง ทานอาหารมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอ้วนหรือเบาหวาน ส่งผลต่อระดับความดันเลือดและคอเลสเตอรอล รวมถึงอาจกระตุ้นให้เกิดการสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ มากไปกว่านั้น ความเครียดยังทำให้ร่างกายเกิดความดันเลือดสูง ซึ่งหากเกิดบ่อยครั้งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่หลอดเลือดหัวใจและไต ดังนั้น การลดความเครียด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้

  4. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจที่อันตรายที่สุดคืออะไรภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ ในที่นี้หมายถึง ภาวะการเกิดโรค หรือความผิดปกติ ที่เกิดตามมาจากผลของการเป็นโรคหัวใจนั้นๆ การเกิดโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ หรือโรคลิ้นหัวใจ อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและนับเป็นระยะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกโรค โดยผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการเหนื่อย น้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

  5. สิ่งใดคือกุญแจหลักของหัวใจที่แข็งแรงเนื่องจากโรคหัวใจมีหลายประเภท การทำความเข้าใจความแตกต่างและสาเหตุของแต่ละโรค ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สามารถดูแลสุขภาพทั้งกายและใจได้อย่างถูกต้อง โดย โรคหัวใจนับเป็นโรคเรื้อรัง หากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้ หากดูแลตัวเองและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจ คือสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผ่านการ ปรับพฤติกรรมส่วนตัวและการดำเนินชีวิต อย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น อาหารจำพวกเบเกอรี่ หรือของทอด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ งดสูบบุหรี่ ผ่อนคลายความเครียด เพื่อควบคุมความดันโลหิต หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เพราะการสังเกตร่างกายและการดูแลสุขภาพที่ดี เป็นหัวใจหลักของการรักษาสุขภาพหัวใจและร่างกาย.

Advertisement

แชร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ เนื่องในวันหัวใจโลก