ในประเทศไทย โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถูกจัดอันให้เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ซึ่งภาพที่คุ้นตาหลายคนคือการที่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มักมีทวารเทียมอยู่บริเวณหน้าท้อง เพื่อให้สามารถอุจจาระทางหน้าท้องได้ แต่ในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดที่ผู้ป่วยมะเร็งไม่จำเป็นต้องมีทวารเทียม และยังสามารถใช้งานกล้ามเนื้อหูรูดได้เอง เรียกว่า “เทคนิคเก็บทวารหนัก หรือ เทคนิคเก็บก้น”
แพทย์หญิงจรรยวรรธน์ สร้างสมวงษ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ความซับซ้อนของการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดก้อนเนื้อที่พบในลำไส้ หากก้อนเนื้ออยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือที่เรียกว่าลำไส้ตรง (Rectum) จะมีความซับซ้อนในการผ่าตัดค่อนข้างมากเนื่องจากอยู่ติดกับทวารหนัก ซึ่งการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่จำเป็นต้องตัดส่วนของลำไส้ที่มีเซลล์มะเร็งออก หากมะเร็งอยู่ใกล้กับหูรูดทวารหนักแพทย์อาจจำเป็นต้องตัดส่วนดังกล่าวออกด้วย เพื่อป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักได้และจำเป็นต้องมีทวารเทียมหรือมีลำไส้เปิดบนผนังหน้าท้องตลอดชีวิต เพื่อเป็นทางออกของอุจจาระแทน
แต่การมีทวารเทียมมักสร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่สวยงามแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายของตัวเองได้อีกด้วย อาจจะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกิจวัตรประจำวัน และการใช้ชีวิตในสังคม
ในปัจจุบัน ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่บางกรณี เช่น ตำแหน่งของก้อนเนื้ออยู่ในระยะที่ใกล้กับหูรูดทวารหนัก สามารถที่จะใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบเก็บทวารหนักหรือเก็บก้นได้ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery หรือ MIS) เป็นการผ่าตัดแผลเล็กและหลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นนอก เพื่อให้ผู้ป่วยยังสามารถขับถ่ายออกทางทวารหนักได้เองในอนาคต และไม่ต้องมีทวารเทียมตลอดชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องทำโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านละไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีความชำนาญเท่านั้น
การผ่าตัดด้วยเทคนิคเก็บก้นหรือการเก็บทวารหนักช่วยลดความจำเป็นในการใช้ถุงหน้าท้องถาวร ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบนี้มักจะสามารถฟื้นฟูการทำงานของลำไส้ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม นอกจากนี้ การเก็บก้นยังช่วยลดผลกระทบทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวลและความอายทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของมะเร็ง ขนาดของเนื้องอก และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย ทีมแพทย์สหสาขาจะร่วมกันวางแผนและออกแบบการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย
Advertisement