นวดเท่ากับเอาชีวิตไปเสี่ยง จริงหรือ? หลังสังคมแตกตื่นสืบเนื่องจากปม "ผิง ชญาดา" นักร้องรถแห่ วัย 20 ปี ดับปริศนา พุ่งสงสัยท่า "นวดบิดคอ" สาเหตุพรากชีวิตเด็กสาวผู้เป็นแก้วตาดวงใจของครอบครัว
ธรรมชาติของมนุษย์ หากหวาดกลัวต่อสิ่งใดย่อมเอาตัวออกห่างออกจากสิ่งนั้น ซึ่ง ณ เวลานี้ การนวด กิจกรรมบรรเทาปวดเมื่อย ที่มีร้านรวงให้บริการกระจายอยู่ทั่วตรอก ซอย หัวมุมถนน ก่อนหน้านี้การเดินเข้าร้านนวดแทบไม่ต้องคิดอะไรมาก ทว่า ตอนนี้การนวดกลายเป็นกิจกรรมที่หลายคนเป็นกังวลว่าหากไปนวดแล้วจะเกิดอันตรายตามมาหรือไม่ อย่างไร
เสี่ยงอันตรายแน่ หาก "หมอนวด" ไม่มีใบรับรองจบหลักสูตรหรือใบประกอบผ่านการอบรม รวมถึงสถานประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาต สองสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณกำลังใช้บริการ นวดเถื่อน ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจได้รับบาดเจ็บ เป็นอันตรายได้ หรือ นวดในจุดห้ามนวด หรือ ท่านวดนอกตำรา นวดท่าลักษณะอันตราย ยกตัวอย่างเช่น
เพจฯ Brainwell Medical : Advanced Brain Stimulation อ้างอิงข้อมูลจาก พญ.ฐิตาพร วันดี แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลเตือนใจกับประชาชน กรณี "นวดซ้ำย้ำจนพิการ" เคสจริง อันตรายจริง หมอนวดใช้น้ำหนักตัวกดให้ดัง "กรึ๊บ" ที่คอและหลัง ผลปรากฏว่าคนไข้หายปวดทันทีเพราะชาไปทั้งตัว ร่างกายไม่รู้สึก ขยับแขนขาไม่ได้ อัมพาตแขนขาฉับพลัน ทำ MRI เป็นไขสันหลังบาดเจ็บระดับคอ C5-6 (Cervical Spondylotic Myelopathy)
ข้อคิดสำหรับเคสนี้
- การนวดได้ผล "ดี" ถ้าทำถูกต้อง รู้จริง รู้ลึก ไม่ประมาท ไม่หลงตัวเอง
- “จัดกระดูก” ไม่ใช่ใครก็ทำได้ อย่าฝากความพิการทั้งชีวิตที่มือคนอื่น
- การนวดหรือจัดกระดูก ทำแล้ว กรึ๊บ อาจทำให้โล่ง สบาย แต่ไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป ขึ้นอยู่กับโรค
- เมื่อใดก็ตามที่นวด จัดกระดูก แล้วขยับแขน หรือ ขาไม่ได้ เรื่องใหญ่มาก ต้องรีบไป รพ. มักช่วยทัน
- คนนวดหรือจัดกระดูกควรดู film x-ray or MRI ทุกครั้ง ต้องระวังในเคสที่มีปัญหา เช่น ปวดเรื้อรัง ตามข้อ รูมาตอยด์ ข้อติด แคลเซียมเกาะ หมอนรองกระดูกปลิ้น กระดูกเลื่อน ฯลฯ
- ถ้าคนที่ชอบนวดจัดกระดูก ชอบกรึ๊บๆ เราควรไปหาหมอเฉพาะทางใกล้บ้านสักหน่อย ตรวจ x-ray ให้เรียบร้อย ให้คุณหมอท่านช่วยให้ความเห็นว่าทำได้หรือไม่ ส่วนใหญ่มักแนะนำอย่าให้รุนแรงมาก
- ส่วนตัวปวดคอบ่าไหล่หลังบ้าง แต่เป็นหมอเฉพาะทาง ก็จะไม่ค่อยทำให้กรึ๊บรุนแรง ยกเว้นว่าประเมินตัวเองอย่างละเอียดแล้วเป็นจากการติด ขัด เกร็งจากกล้ามเนื้อหรือเอ็นจริงๆ x-ray, MRI เรียบร้อยแล้ว โดยเราจะให้เฉพาะนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำให้เท่านั้น เพราะชีวิตตัวเองมูลค่าแพงมาก ไม่เสี่ยงกับความพิการด้วยมือคนอื่นเด็ดขาด
ควรนวดกับใคร ?
ส่วนตัวจะขอคนนวดประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี คุยตั้งแต่แรกว่าจะเอาแค่ไหน เน้นความปลอดภัย ไม่เน้นท่าพิสดาร ใครขี้โม้โอ้อวดเปลี่ยนเลย
คนเก่งจริงมักจะไม่ขี้โม้ ไม่โอ้อวด ไม่โฆษณาเกินจริง และระวังความปลอดภัยเป็นหลัก
ส่วนคนขี้โม้โอ้อวดโฆษณาเกินจริง = คนประมาท ต่อให้นวดจัดกระดูกมา 999 เคสแล้วดี ดาราไปทำเยอะ นักการเมืองไปทำเยอะ แต่ถ้าประมาทเคสที่ 1,000 พิการ แล้วแจ็คพอตมาที่เราล่ะ?
ปล.
- สงสารคนไข้และญาติที่ต้องพิการตลอดชีวิต
- คนที่มาผ่าตัดรักษา มาดูแลต่อเนื่องคือ หมอผ่าตัด หมอฟื้นฟู นักกายภาพ นักกิจกรรมบำบัด พยาบาล ฯลฯ ไม่ใช่คนที่ทำให้คนไข้พิการ
มีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านที่ออกมาให้ข้อมูล นวดอย่างปลอดภัย รวมไปถึงให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนวดในไทย โดย ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย เผยถึงเรื่องนี้ว่า
"ขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนวดในไทย
ร้านนวดที่พบเห็นกันทั่วไปในไทยนั้น จะเปิดทำการได้ต้องขออนุญาตตาม พรบ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) หรือ สสจ. ก่อน โดยคนที่จะมานวดในร้านนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนวดตามที่ สบส. กำหนด (หลักสูตรส่วนใหญ่เป็นการนวดไทย แต่ก็มีนวดแบบอื่นๆ ด้วยเช่น นวดเท้า) แล้วคนที่ผ่านการอบรมต้องไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการกับ สบส. หรือ สสจ. จึงจะทำการนวดในร้านนวดได้ ซึ่งการนวดแบบนี้เป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายมากกว่าที่จะรักษาโรคใดๆ เพราะเป็นหลักสูตรสั้นๆ
ส่วนกรณีนวดแผนไทยแบบครบๆ ก็จะมีแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ด้านการนวดไทย ซึ่งกลุ่มนี้จะเรียนการนวดแผนไทยอย่างละเอียด มีการสอบเพื่อรับใบอนุญาต และจะเน้นรักษาโรคโดยการนวดตามหลักการแพทย์แผนไทย ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ (รามาธิบดีก็มีนะครับ หากใครสนใจ) หรือคลินิกแพทย์แผนไทยที่ต้องขออนุญาตตามพรบ. สถานพยาบาล
การนวดถ้าตามหลักสูตรทั้งแบบข้อ 1. และ 2. ไม่มีการนวดโดยการบิดคอ
การนวดแบบมีการบิดคอ เท่าที่ผมทราบจะเป็นวิธีการนวดตามหลักไคโรแพรคติก ซึ่งในไทยคนที่จะทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องจบหลักสูตรปริญญาหรือเทียบเท่าทางด้านนี้ และจะต้องสอบผ่านในไทย จนได้รับหนังสืออนุญาตให้ทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยศาสตร์ไคโรแพรคติก ซึ่งเป็นหนังสืออนุญาตตาม พรบ. ประกอบโรคศิลปะ เท่าที่ผมทราบคือในไทยมีไม่เกิน 50 คนที่มีหนังสืออนุญาต และต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น
สุดท้ายที่เห็นว่านวดตามร้านนวดแล้วมีการบิดคอ ที่คนที่ไปนวดเจอกันบ่อยๆ อาจจะเกิดจากเป็นหมอนวดเถื่อนไม่ได้ขึ้นทะเบียนบวกกับร้านก็ไม่ได้ขออนุญาต หรือผู้นวดทำเพิ่มเองนอกเหนือจากหลักสูตร ดังนั้น คนที่จะไปนวดแผนไทย ควรตรวจสอบก่อนว่า ร้านนวดได้รับอนุญาตไหมและคนนวดได้ขึ้นทะเบียนไหม และควรระบุให้ชัดไปเลยว่าห้ามบิดคอในการนวดเพื่อกันการทำเพิ่มเองนอกเหนือหลักสูตร
อันนี้ขอเน้นเรื่องการบิดคอ เพราะการบิดคอไม่ถูกวิธีจะทำให้เส้นเลือดที่คอขาดหรือผิดปกติ จนทำให้เสียชีวิตได้ มีรายงานทางนิติเวชเรื่อยๆ ส่วนกรณีในข่าวที่อ้างว่า นวดจนเสียชีวิต เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบ ขอไม่กล่าวถึงนะครับ
เพิ่มเติม คนที่ใช้วิธีการนวดเพื่อการรักษาได้อีก ก็อาจมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพบำบัด หรือแพทย์กลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็ต้องทำในสถานพยาบาล โดยมักทำควบคู่กับวิธีการอื่นๆ ในศาสตร์แผนปัจจุบันด้วย"
1. คอ : บริเวณนนี้มีจุดชีพจร หากกดผิดจุดอาจทำให้เกิดอันตรายกับเส้นเลือดในสมอง ถ้านวดหรือกดบริเวณเส้นเลือดแดงใหญ่อาจทำให้สมองขาดเลือด
2. ขมับ : เป็นบริเวณที่กระดูกไม่แข็งแรงและกล้ามเนื้อที่คลุมศีรษะบาง ถ้ากดแรงอาจทำให้บาดเจ็บได้ง่าย เช่น เส้นเลือดแตก
3. กระดูกสันหลัง อุ้งเชิงกราน : ผู้นวดที่ไม่มีความเชี่ยวชาญแนะนำให้หลีกเลี่ยงเพราะถ้านวดไม่ระมัดระวังและนวดรุนแรงเกินไปทำให้กระดูกสันหลังและอุ้งเชิงกรานเคลื่อนหรือหักได้
4. รักแร้ : บริเวณนี้มีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่มากถ้ามีการกดหรือกระชากบริเวณไหล่และรักแร้อาจดึงเส้นประสาทฉีกขาด
5. ท้อง : ภายในช่องท้องมีอวัยวะสำคัญหากนวดด้วยความรุนแรงทำให้จุกและปวดท้อง
• กำลังตั้งครรภ์
• ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
• คนที่เป็นโรคกระดูกพรุน
• เป็นโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น เลือดไหลไม่หยุด แค่ถ้ากินยากันการแข็งตัวของเลือดอยู่สามารถนวดเบาๆ ได้
• ผื่นหรือแผลเปิดที่เชื้อโรคสามารถเข้าได้
• โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
• บริเวณที่กระดูกหัก เนื่องจากอาจเกิดลิ่มเลือดตามเส้นเลือดได้
• เป็นโรคติดต่อที่แพร่เชื้อได้ เช่น โควิด-19 วัณโรค หรืออีสุกอีใส
• ผู้ที่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ สามารถนวดได้หลังจากรับประทานอาหาร 30 นาทีขึ้นไป
• ผู้มีอาการบาดเจ็บ
• เป็นไข้
• ห้ามนวดบริเวณที่มีการผ่าตัดน้อยกว่า 1 เดือน
จากข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญสะท้อนให้เห็นว่า การนวดไม่เป็นอันตรายหากการนวดนั้นทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรองฯ สถานประกอบที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ที่สำคัญข้อควรรู้ก่อนนวดเป็นสิ่งจำเป็น และต้องประเมินสภาพร่างกายของตนเองว่ามีภาวะ อาการ เจ็บป่วยใดที่อยู่ในเกณฑ์ห้ามหรือไม่ หรือหากมีอาการปวด ปวดเรื้อรัง แนะนำรีบพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดว่าเกิดความผิดปกติกับร่างกายตรงส่วนใด แพทย์จะได้ทำการรักษาได้อย่างตรงจุด
รวบรวมข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลรามาธิบดี, Smith Fa Srisont, โรงพยาบาลรามาธิบดี, ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์, พญ.ฐิตาพร วันดี, Brainwell Medical : Advanced Brain Stimulation
Advertisement