Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน สังคมตื่นรู้ บทเรียน "ผิง ชญาดา"

ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน สังคมตื่นรู้ บทเรียน "ผิง ชญาดา"

11 ธ.ค. 67
14:20 น.
|
711
แชร์

อ่อนแรง ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองซีกมีอาการชา ปวดเหมือนไฟช็อต หนึ่งในสัญญาณ "ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน" รู้จักโรคอันตราย พิการหรือเสียชีวิตได้

บทเรียน "ผิง ชญาดา" สังคมตื่นรู้โรค "ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน"

จากกรณีการเสียชีวิตของ ผิง ชญาดา นักร้องสาว วัย 20 ปี ที่เดิม พุ่งสาเหตุการเสียชีวิตไปที่ นวดบิดคอ สืบเนื่องจากเจ้าตัวได้โพสต์เล่าไว้ในเฟซบุ๊กก่อนเสียชีวิตว่าเกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนเกิดภาวะ ป่วยติดเตียง

ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ผิง ชญาดา ไม่ได้เสียชีวิตจากการนวด หมอวินิจฉัยและตรวจเอ็มอาร์ไอเพิ่ม สรุปเป็น โรคไขสันหลังอักเสบ ให้ยารักษา ต่อมาคนไข้มีอาการช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่ง เสียชีวิต

รู้จัก โรค ไขสันหลังอักเสบ สาเหตุ อาการเป็นอย่างไร

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไขสันหลังอักเสบ เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการอักเสบของไขสันหลัง อันเนื่องมาจากการติดเชื้อ การอักเสบจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือไม่ทราบสาเหตุ

โดยมากผู้ป่วยมักมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ที่เกิดขึ้นในระยะเวลารวดเร็วเป็นวัน อาการผิดปกติจะขึ้นกับตำแหน่งที่มีความผิดปกติ เช่น อาการชาแขนขาหรือลำตัว อาการอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านของร่างกาย สูญเสียความสามารถในการทรงตัว ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ออก บางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดไฟช็อต แสบร้อน คัน หรือรับความรู้สึกผิดปกติไปจากเดิมร่วมด้วยก็ได้

แนวทางการตรวจวินิจฉัย วิธีรักษา

แนวทางการตรวจวินิจฉัย จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียดโดยแพทย์ และมีการส่งตรวจเอกซเรย์เพื่อยืนยันตำแหน่งและลักษณะความผิดปกติว่า มีการอักเสบเกิดขึ้นจริงหรือเกิดจากสาเหตุอื่น ร่วมกับการส่งตรวจเลือดและเจาะตรวจน้ำไขสันเพื่อหาสาเหตุของการอักเสบว่าเกิดจากการติดเชื้อชนิดใด หรือเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติชนิดไหน เมื่อทราสาเหตุที่จำเพาะ จะนำไปสู่กระบวนการรักษาให้ตรงตามสาเหตุ เช่น หากพบว่าเกิดจากการติดเชื้อ เช่นจาก เชื้อไวรัสงูสวัด ก็จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดฉีด

หากเกิดจาก ภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น Neuromyelitis Optica (NMO) หรือ Multiple Sclerosis (MS) ก็จะได้รับการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด อาทิ การให้สเตียรอยด์ฉีดขนาดสูง การฟอกน้ำเหลือง หรือให้ยากลุ่มยาเคมีบำบัด สำหรับผลการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรง และระยะเวลาในการเข้าถึงการรักษา ยิ่งรักษาเร็วก็จะทำให้โอกาสหายขาดสูง

นายแพทย์ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ที่เก็บข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการไขสันหลังอักเสบจากภูมิคุ้มกันชนิดผิดปกติชนิด NMO และ MS จำนวน 405 คน แต่ยังไม่มีตัวเลขของภาวะไขสันหลังอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ

ภาวะแทรกซ้อนโอกาสเกิดได้มาก

นอกเหนือจากการรักษาภาวะไขสันหลังอักเสบ กระบวนการรักษายังต้องเฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก เช่น การติดเชื้อในระบบหายใจหรือระบบทางเดินปัสสาวะ หากลุกลามจะนำไปสู่การ ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นเหตุถึงแก่ชีวิตได้

ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อาจจะเกิดแผลกดทับ หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและหลุดไปอุดตันเส้นเลือดแดงใหญ่ในปอดเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาอาการอักเสบของไขสันหลัง จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยลดลง เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

หากมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท หรือสงสัยว่าความผิดปกติของท่านจะเกิดขึ้นจากระบบประสาท แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะการได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยให้ได้รับผลการรักษาที่ดี หลงเหลือภาวะทุพลภาพน้อยที่สุด

Advertisement

แชร์
ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน สังคมตื่นรู้ บทเรียน "ผิง ชญาดา"