ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูล เตือนภัย 5 จุดในร่างกายที่ไม่ควรนวด และ คนที่ไม่ควรนวด
จากกรณีของ ผิง ชญาดา นักร้องสาวรถแห่ เกิดอาการแขนขาชา ไม่มีแรง อาการหนักลุกลามจนป่วยติดเตียง กระทั่งเสียชีวิตลง โดยก่อนหน้า ผิง ได้เล่าว่าเธอมีอาการปวดเมื่อยที่ไหล่จึงไปนวดแผนไทยร้านแห่งหนึ่งใน จ.อุดรฯ สำหรับท่าที่คาดว่ามีความเสี่ยงอันตรายนั่นก็คือ ท่าบิดคอ ที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมและพึงตระหนักถึงอันตราย
สำหรับบริเวณ "คอ" จากบทความของหมอก็เป็นหนึ่งในจุด "ห้ามนวด" รวมถึงอีก 4 จุดที่ห้ามนวดเช่นกัน รวมถึงคนที่ห้ามนวดเพราะอาจเกิดอันตรายได้
ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูล เตือนภัย 5 จุดในร่างกายที่ไม่ควรนวด และ คนที่ไม่ควรนวด โดยระบุว่า
1. คอ : บริเวณนนี้มีจุดชีพจร หากกดผิดจุดอาจทำให้เกิดอันตรายกับเส้นเลือดในสมอง ถ้านวดหรือกดบริเวณเส้นเลือดแดงใหญ่อาจทำให้สมองขาดเลือด
2. ขมับ : เป็นบริเวณที่กระดูกไม่แข็งแรงและกล้ามเนื้อที่คลุมศีรษะบาง ถ้ากดแรงอาจทำให้บาดเจ็บได้ง่าย เช่น เส้นเลือดแตก
3. กระดูกสันหลัง อุ้งเชิงกราน : ผู้นวดที่ไม่มีความเชี่ยวชาญแนะนำให้หลีกเลี่ยงเพราะถ้านวดไม่ระมัดระวังและนวดรุนแรงเกินไปทำให้กระดูกสันหลังและอุ้งเชิงกรานเคลื่อนหรือหักได้
4. รักแร้ : บริเวณนี้มีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่มากถ้ามีการกดหรือกระชากบริเวณไหล่และรักแร้อาจดึงเส้นประสาทฉีกขาด
5. ท้อง : ภายในช่องท้องมีอวัยวะสำคัญหากนวดด้วยความรุนแรงทำให้จุกและปวดท้อง
• กำลังตั้งครรภ์
• ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
• คนที่เป็นโรคกระดูกพรุน
• เป็นโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น เลือดไหลไม่หยุด แค่ถ้ากินยากันการแข็งตัวของเลือดอยู่สามารถนวดเบา ๆ ได้
• ผื่นหรือแผลเปิดที่เชื้อโรคสามารถเข้าได้
• โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
• บริเวณที่กระดูกหัก เนื่องจากอาจเกิดลิ่มเลือดตามเส้นเลือดได้
• เป็นโรคติดต่อที่แพร่เชื้อได้ เช่น โควิด-19 วัณโรค หรืออีสุกอีใส
• ผู้ที่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ สามารถนวดได้หลังจากรับประทานอาหาร 30 นาทีขึ้นไป
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Advertisement