Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รักเอยเตยหอม ระวัง! โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วาเลนไทน์นี้ป้องกันได้

รักเอยเตยหอม ระวัง! โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วาเลนไทน์นี้ป้องกันได้

6 ก.พ. 68
15:44 น.
|
61
แชร์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พบมากที่สุดใน กทม. ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ระวังรักเอยเตยหอมไม่ป้องกัน วันวาเลนไทน์อาจกลายเป็นฝันร้าย

14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ เป็นเทศกาลที่คนแสดงความรักต่อกัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนจะให้ความสำคัญกับความรักในช่วงวันวาเลนไทน์ อาจเกิดความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

สำนักอนามัย (สนอ.) จึงจัดกิจกรรม BKK Pride Valentine Day 2025 : Ready For เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเรื่อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ รวมทั้งการใช้ยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PIEP/PEP) และประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ตลอดจนสนับสนุนการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบว่าเป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ ถึง 10,879 คน เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2559 ที่พบอัตราป่วย 47.35 ต่อแสนประชากร เป็น 96.87 ต่อแสนประชากร ในปี 2567 สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับประเทศ 57.12 ต่อแสนประชากร

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พบมากที่สุดใน กทม.

โรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส 3,677 คน หรืออัตราป่วย 50.99 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ หนองใน 24.97 ต่อแสนประชากร หูดหงอนไก่ 18.80 ต่อแสนประชากร หนองในเทียม 18.11 ต่อแสนประชากร และ เริม 15.22 ต่อแสนประชากร ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 15-24 ปี เมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคซิฟิลิส ตั้งแต่ปี 2561-2567 ของกทม. พบอัตราป่วย 174.76 ต่อแสนประชากร ส่วนประเทศ พบอัตราป่วย 124.53 ต่อแสนประชากร ส่วนโรคหนองใน ของกทม.พบอัตราป่วย 136.01 ต่อแสนประชากร ส่วนประเทศ พบอัตราป่วย 115.63 ต่อแสนประชากร

โดยกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวมากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนและกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ สนอ.จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวโดยใช้ถุงยางอนามัย

ส่วนการติดเชื้อ เอชไอวี จากการคาดการณ์มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2566 จำนวน 89,768 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,095 คน และเสียชีวิตภายในปี 2567 จำนวน 1,744 คน จากผลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (BBS) ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พบว่า กลุ่มสาวประเภทสอง (TGW) ร้อยละ 4 และกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 1.68

โดยสัดส่วนของผู้ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นจาก 74% ในปี 2558 เป็นมากกว่า 99% ในปี 2567 ความครอบคลุมของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นจาก 52% เป็น 78% และผู้ติดเชื้อเอชไอวีในกรุงเทพฯ เกือบทุกคนสามารถยับยั้งปริมาณไวรัสเอชไอวีได้ ร้อยละ 85 ของผู้ติดเชื้อฯ เนื่องจากได้รับยาต้านไวรัสภายใน 7 วัน

อย่างไรก็ตาม สนอ.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันแห่งความรัก BKK Pride Valentine 2025 : Ready for All เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ที่ถูกต้องเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ ประชาสัมพันธ์การใช้ถุงยางอนามัย และยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP/PEP)

สนับสนุนการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม รวมถึงประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) เพื่อให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรรู้

1. เอดส์ (HIV/AIDS)

เกิดจากไวรัส HIV ที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการติดต่อจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น หรือการติดต่อจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์หรือคลอด

2. หนองใน (Gonorrhea)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สามารถติดได้ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือช่องปาก อาการมักจะมีตกขาวผิดปกติ หรือปัสสาวะขัด

3. ซิฟิลิส (Syphilis)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดแผลในบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

4. คลามิดียา (Chlamydia)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและมักไม่มีอาการชัดเจน แต่สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรือมีตกขาวผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในอวัยวะเพศ

5. หูดหงอนไก่ (HPV)

เกิดจากไวรัส HPV ซึ่งสามารถทำให้เกิดหูดในอวัยวะเพศ และบางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง

วิธีป้องกัน

1. การใช้ถุงยางอนามัย

เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

2. การตรวจสุขภาพประจำ

ควรตรวจหาผลการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายปลอดภัย

3. การป้องกันด้วยวัคซีน

เช่น วัคซีน HPV ที่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งในบางกรณี

การมีความสัมพันธ์ที่ซื่อสัตย์และเปิดเผย พูดคุยกับคู่รักเกี่ยวกับความเสี่ยงและวิธีการป้องกันที่เหมาะสม วันวาเลนไทน์อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการพูดถึงการดูแลสุขภาพทางเพศร่วมกับคนที่คุณรัก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีและปลอดภัย

Advertisement

แชร์
รักเอยเตยหอม ระวัง! โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วาเลนไทน์นี้ป้องกันได้