แพ้ยาอาการรุนแรงถึงตายได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้ยา แพ้ยาตัวไหน ? แพ้ยารุนแรงอาการเริ่มต้น เปิดลิสต์ ยาที่มักทำให้เกิดการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงในไทย
สืบเนื่องจากเคสอุทาหรณ์ สาวแพ้ยาแก้ปวดรุนแรง มีอาการปากบวม หน้าเป็นตุ่มแดง ช่วงปากลอกเหมือนแผลร้อนใน มีไข้สูง รักษาอยู่ห้อง ICU 36 วัน จากใบรับรองแพทย์ ระบุ ป่วยหนักจากการแพ้ยารุนแรง หรือ ภาวะโรค steven johnson syndrome / toxic epidermal necrolysis
อ่านข่าว : เตือนภัย! แพ้ยารุนแรงไม่ใช่เรื่องตลก ต้องรีบหาหมอ หนักสุดเสียชีวิตได้
• แพ้ยา (Allergic reaction)
เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อยาอย่างรุนแรง ถ้าแพ้แล้วไม่ควรทานอีก ไม่ควรแม้แต่จะลอง เพราะอาจจะมีอาการรุนแรงขึ้นได้
อาการแพ้ยามีตั้งแต่ แบบเบาๆ คือ เป็นผื่นแดง คันตามบริเวณต่างๆ หรือ แพ้หนัก มีอาการไหม้ทั้งตัว ตั้งแต่กระจกตา ผิวส่วนอื่นๆ ที่เรียกว่า Steven Johnson syndrome ไปจนถึงหนักกว่านั้นคือ หายใจไม่ออกความดันตกเสียชีวิตฉับพลันได้
• ผลข้างเคียงจากยา (side effect)
คือผลข้างเคียงของยาแต่ละตัว เช่น ทานแล้วมีคลื่นไส้อาเจียน ทานแล้วหน้าแดง ทานแล้วปวดหัว แบบนี้สามารถทานอีกได้ เพียงแต่ต้องรับทราบรับรู้ว่ากินแล้วจะมีอาการแบบไหน อาจจะต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือปรับเวลากินยา (อ้างอิงข้อมูลจาก : นพ.ปิติ รุจนเวชช์)
การแพ้ยาจะมีอาการแสดงออกหลายรูปแบบ แต่อาการแสดงที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการทางผิวหนัง
• เจ็บคอ
• มีไข้
• ปวดเมื่อยตามตัว
• ปวดศีรษะ
• คลื่นไส้ อาเจียน
• ปวดข้อ
หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่ม มีผื่นขึ้นบริเวณลำตัวแขนขา หน้าบวม ตาบวม เจ็บผิว เจ็บตามตัว มีอาการเจ็บเคืองตา เจ็บปาก กลืนเจ็บ ปัสสาวะแสบขัด ผื่นอาจมีลักษณะพองเป็นตุ่มน้ำหรือเกิดการหลุดลอกของผิวหนัง และมีการหลุดลอกของเยื่อบุต่างๆ ร่วมด้วย
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการแทรกซ้อนของอวัยวะภายใน เช่น มีแผลในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
• หยุดยา หรือสิ่งที่แพ้ทันที และจดจำอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น
• ถ่ายรูปผื่นขณะที่มีอาการด้วยกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือ โดยเน้นให้เห็นผื่นชัดเจน เพื่อนำไปให้คุณหมอวินิจฉัย
• หากผื่นมีการเปลี่ยนแปลง ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ทุกครั้ง
• นำยาทั้งหมด พร้อมสลากยามาพบแพทย์ โดยเร็วที่สุด
• จดจำชื่อยาที่แพ้ให้แม่นยำ
• แสดงบัตรแพ้ยาหรือแจ้งชื่อยากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง
• หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือกลุ่มยาที่เคยแพ้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายเภสัชกรรม เผยข้อมูล ยาที่มักทำให้เกิดการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงในประเทศไทย ได้แก่
• ยารักษาโรคเกาต์เช่น allopurinol
• ยากันชัก เช่น carbamazepine, phenobarbital, phenytoin และlamotrigine
• ยาแก้ปวด/ต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, meloxicam, piroxicam และ tenoxicam
• ยาต้านไวรัส HIV เช่น nevirapine, abacavir
• ยากลุ่มซัลฟา เช่น co-trimoxazole, sulfasalazine
• ยากลุ่มเพนนิซิลินเช่น amoxicillin
• ยารักษาวัณโรคเช่น rifampicin, isoniazid pyrazinamide, ethambutol
• Dapso
การแพ้ยาไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย และไม่สามารถทราบได้ว่าใครจะแพ้ยาอะไร แต่สามารถสังเกตอาการนำได้ก่อนที่จะแพ้ยารุนแรง
ปัจจุบัน การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ สามารถตรวจยีนเพื่อทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงทางผิวหนังได้ แต่ยังไม่สามารถตรวจได้กับยาทุกชนิด
ยาที่ควรทำการทดสอบแพ้ยา ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อกลุ่มเพนนิซิลิน ยาชา ยาที่ใช้ในการดมยาสลบ และยาแก้ปวด
ข้อมูลอ้างอิง : rama.mahidol / siphhospital / vichaivej-nongkhaem
Advertisement